30 กันยายน 2567… กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเวทีสัมมนาพัฒนานักศึกษา ปี 2567 ด้วยแนวคิด “เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: บูรณาการ SDGs สู่อุดมศึกษา” (Empowering Minds for a Sustainable Future: Integrating SDGs in Higher Education) มุ่งเสริมศักยภาพบุคลากรและนิสิตนักศึกษา ขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เข้าร่วมงานสัมมนา
“การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs หรือ Sustainable Development Goals เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือภาคเอกชน แต่ยังเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ที่จะเป็นผู้นำในอนาคตดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่การให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ต้องบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางที่สร้างสรรค์การพัฒนาและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า พร้อมทั้งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ เพื่อสร้างบุคคลที่มีความรู้ มีจิตสำนึก และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน”
วราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวต่อเนื่องถึงนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับ “พลังอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและอนาคต เน้น 3 เรื่อง
1.การบูรณาการ SDGs เข้าสู่หลักสูตรและการวิจัยในทุกสถาบันอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้หลักสูตรการเรียนการสอนทุกสาขามีความเกี่ยวข้องกับ SDGs อย่างเป็นรูปธรรม นักศึกษาทุกคนควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยใช้ SDGs เป็นกรอบการคิด การวิจัยควรเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาของโลกได้ อย่างยั่งยืน
2. การสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม
นักศึกษาคือผู้นำในอนาคต ดังนั้น มหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นผู้นำที่มีจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างสมดุล และมุ่งเน้นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs เราต้องสร้างนักศึกษาที่ไม่เพียงมีความรู้ แต่ยังมีหัวใจที่พร้อมจะรับผิดชอบต่อส่วนรวม ยกตัวอย่างง่ายๆ จากสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ห้องเรียนที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตการเป็นนักศึกษาคือ การลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่จะทำให้นักศึกษาเกิดมุมมองและทัศนคติใหม่ๆ มากมาย ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราเรียนไปเพื่ออะไร” และคำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือ “เพื่อรับใช้สังคม” โดยมีชุมชนเป็นห้องเรียนที่ดีที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผลที่ได้จะสะท้อนกลับมาที่ตัวนักศึกษา มากที่สุด
3. การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างสถาบัน
การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถทำได้โดยลำพัง มหาวิทยาลัยควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อเสริมสร้างพลังในการขับเคลื่อน SDGs อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกันจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระดับมหภาค
“นโยบายเหล่านี้จะเกิดผลได้ก็ด้วยการร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ไปจนถึงนิสิตนักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อมั่นว่าพลังของทุกท่านจะสามารถผลักดันให้อุดมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และขอให้เราร่วมกันสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าเดิมเพื่อคนรุ่นต่อไป” วราภรณ์ กล่าว
ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาการศึกษาและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัท กลุ่ม เซ็นทรัล จำกัด ร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อพลังการศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ว่า
“ปัจจุบันต้องพูดถึงประเด็นความยั่งยืน ภายใต้ SDGs เป้าหมาย 17 ข้อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมโลก แล้วก็สังคมไทย แม้จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้นก็ตาม การสัมมนาวันนี้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันต่อทุกฝ่าย”
ดร.ชาติชายยกตัวอย่างภาคเอกชน ที่จะต้องให้ความใส่ใจกับ SDGs คือกลุ่มเซ็นทรัล พี่ใหญ่‘เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)’ตอกย้ำจุดยืนการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ ตาม 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ความตั้งใจและการลงมือทำทั้งหมดนี้เพื่อผลักดันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงผู้บริหารระดับสูง คู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตร ให้คำนึงถึงการบริหารและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมไปถึงการสร้างความตระหนักและการเปลี่ยนแปลงกับผู้บริโภคอีกด้วย
“เซ็นทรัลทําธุรกิจมา 75 ปีแล้วเรามุ่งเน้นลูกค้าพัฒนาแบบยั่งยืน ไม่ว่าเราจะเดินหน้าโครงการอะไรก็ตามที่จะต้องแฟร์กับสิ่งแวดล้อม และสังคม ลูกค้าจะสนับสนุน ปัจจัยของความสําเร็จที่สําคัญที่สุดก็คือเรื่องของความร่วมมือกันและเรื่องของการมีภาวะผู้นําที่เหมาะสมนั่นคือการทําโครงการการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนให้ประสบความสําเร็จแล้วก็ไกลถึงที่จะกล้า”
วราภรณ์ กล่าวในท้ายที่สุดว่ากระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาให้มีทักษะที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์ รวมถึงส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับการเติบโตของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการนักศึกษาและการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับปรุงระบบงาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาไทยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)