ACTIVITIES

กทม. ร่วมเนรมิตถนนสีรุ้ง งาน Bangkok Pride 2023 พื้นที่สำคัญเพื่อชาว LGBTQIAN+

18 พฤษภาคม 2566…ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงานแถลงข่าว “บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023)

“รู้สึกยินดีและตื่นเต้นกับงานบางกอกไพรด์ 2023 นี้ หากนับช่วงเวลาแล้วครบ 1 ปี พอดีที่ผมและทีมผู้บริหารกทม. เข้ามาดำรงตำแหน่ง และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการจัดงานบางกอกไพรด์ นโยบายของกรุงเทพมหานคร คือเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เราต้องโอบกอดทุกคนไว้ พร้อมเข้าใจความแตกต่างเพราะความแตกต่างไม่ใช่ความขัดแย้งแต่คือพลังที่มีคุณค่า”

ผู้ว่าฯชัชชาติ ย้ำว่าสำหรับเพศนั้น ไม่ได้มีแค่ 2 สี 2 เฉด แต่เพศคือสเปคตรัมที่มีเฉดสีมากมาย และไม่ใช่แค่ความแตกต่างหลากหลายทางเพศเท่านั้น ทั้งความคิด พื้นฐานชีวิต และอีกมากมาย หากเราเข้าใจกัน สังคมเราก็จะน่าอยู่ และกทม.พร้อมที่จะเดินไปด้วยกันกับทุกคน

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวถึงงานที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นความเข้มแข็งของเครือข่ายทั้งหมด กทม.ยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับบางกอกไพรด์

ความสำคัญของการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ คือเป็นงานที่ทำน้อยแต่ได้มาก เพราะเราทำหนึ่งแต่ได้ถึงสามเรื่อง นั่นคือ

1.เรื่องสังคม กทม.ได้ส่งเสียงเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย รณรงค์ส่งเสริม รวมถึงการแก้กฎหมาย
2.เรื่องสาธารณสุข ซึ่งกทม.ร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Cinic)18 พฤษภาคม 2566…3.เรื่องเศรษฐกิจ เพราะชาว LGBTQIAN+ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว ภาพยนตร์ ดนตรี บันเทิง รวมไปถึงอุตสาหกรรมการแพทย์

“กรุงเทพมหานครยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่างานบางกอกไพรด์ปีนี้จะยิ่งใหญ่ และพร้อมมุ่งสู่การพากรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ในปี 2028 อย่างแน่นอน”

สำหรับงาน “บางกอกไพรด์ 2023” (Bangkok Pide 2023) บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร พร้อมภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จัดขึ้น เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+

ในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศใดที่คุณอยากก้าวข้าม” งานจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับความเท่าเทียมในสังคมไทยในทุกมิติ และตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Rainbow Cities Network เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศ และคว้าโอกาสสำคัญในการพากรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ในปี 2028

กิจกรรมภายในงาน อาทิ กิจกรรมบนเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ และการเดินขบวนพาเหรดสุดสร้างสรรค์ 6 ขบวน จากแนวคิด “สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ well-being)” พร้อมนำแนวเพลงต่างๆ มาสร้างสรรค์กับขบวนพาเหรดด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย ประกอบด้วย ขบวนที่ 1 มาพร้อมประเด็น Gender X พร้อมเพลงแนว POP ขบวนที่ 2 จัดจ้านด้วยประเด็น My Body My Choice และเพลงแนว HIPHOP ขบวนที่ 3 เพิ่มสีสันด้วยแนวเพลงหมอลำ บอกเล่าเรื่อง Chosen Family และสมรสเท่าเทียม ขบวนที่ 4 บอกเล่าถึง Peace & Earth โดยนำเพลง JAZZ BLUE สร้างสรรค์ร่วมกับขบวนพาเหรด ขบวนที่ 5 สะท้อนไปยังการเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม (Equal Rights to Health) นำเสนอผ่านแนวเพลง K-POP T-POP และ J-POP และขบวนที่ 6 มาพร้อมแนวเพลง ROCK ที่จะบอกเล่าถึง I’m Home โดยมีแนวคิดหลักของขบวนเพื่อการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+ โดยขบวนพาเหรดเริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วยธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย พร้อมทั้งไฮไลท์กิจกรรมงานตลอดเส้นทาง ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14:00 – 20:00 น.

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมให้การสนับสนุนการจัดงานบางกอกไพรด์ 2023 ในด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกปลอดภัยตลอดเส้นทางการเดินขบวนพาเหรด จัดเจ้าหน้าที่พยาบาล ชุดปฐมพยาบาล หน่วยแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่ ติดตามขบวนพาเหรดและผู้ร่วมกิจกรรม ให้ผู้จัดงานใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครในเส้นทางกิจกรรม เพื่อติดตั้งงานศิลปะและประดับประดาอุปกรณ์ต่าง ๆ เสริมสร้างบรรยากาศงาน รวมถึงวงดนตรีจากกรุงเทพมหานคร ร่วมบรรเลงในงาน เป็นต้น

 

You Might Also Like