“ไบโพลาร์” รักษาหายได้ ผู้ป่วย ญาติ &สังคม ควรมีความรู้ความเข้าใจ

14 พฤศจิกายน 2561…ภาพวาดข้างต้นเป็นฝีมือผู้ป่วยไบโพลาร์ ปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ 32,502 คน ในจำนวนนี้ไม่กล้ามาพบแพทย์ หากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง คนใกล้ชิด และสังคมรอบข้างได้

14 พฤศจิกายน 2561…ภาพวาดข้างต้นเป็นฝีมือผู้ป่วยไบโพลาร์ ปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ 32,502 คน ในจำนวนนี้ไม่กล้ามาพบแพทย์ หากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง คนใกล้ชิด และสังคมรอบข้างได้

ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ รศ. นพ. ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายถึงโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว หนึ่งในโรคทางจิตเวชได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกระแสในสังคมทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะโรคไบโพลาร์ เกิดจากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือการเลี้ยงดู

ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนที่ผิดปกติแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ  ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้าจะมีอาการแบบนี้ติดๆ กันนานถึง 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า มองตัวเองในแง่ลบ และมีความคิดฆ่าตัวตาย ส่วนในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกตินานติดๆ กัน 2 สัปดาห์ – 1 เดือนเช่นกัน  ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดีมากกว่าปกติ คึกคัก มีความมั่นใจมากขึ้น แต่ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีพลังวิเศษ หรือมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่น จนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้

สุภาภรณ์ คุณแม่ของเกรียงไกรมาศ และเกรียงไกรมาศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบารณ์ในฐานะ คนเคยป่วย และคนเคยดูแลลูกชาย

อดีตนักแสดง หมวย- สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์ กล่าวเปิดใจในงาน “อุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Healthy mind, Happy life” ว่า

“ตอนแรกคนรอบข้างไม่เข้าใจเรา คิดว่าหมวยเป็นบ้า เป็นคนเหวี่ยงวีน ช่วงนั้นควบคุมสติไม่ได้ ปกติเราอาจจะโกรธแค่ระดับ 5 แต่ถ้าคนที่เป็นโรคนี้ โกรธได้ถึงระดับ 100 จริงๆ หมวยพยายามควบคุมอารมณ์แต่มันทำไม่ได้ เพราะโรคไบโพลาร์เกิดจากสารเคมีในสมองไม่เท่ากัน มันเป็นโรคที่เครียด ผิดหวังเรื่องที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นกับตัวช่วงนั้นโปแตสเซียมตกต้องถูกนำตัวส่งห้อง ICU ก่อนหน้านี้ มีอาการขึ้นๆ ลงๆ แบบสองขั้ว เวลามีความสุขก็แทบจะอยากจุดพลุ แต่ถ้ามีอะไรสะกิดปั๊บมันจะดิ่งลงมา รู้สึกว่าต้องฆ่าตัวตายเดี๋ยวนี้ จนรู้สึกว่าเริ่มรับมือไม่ไหวก็เลยไปหาหมอดีกว่า ชีวิตตอนนี้มีความสุขดีค่ะ ตอนที่หายป่วยใหม่ๆ ยังไม่มีงาน แฟนและคนรอบข้างก็ให้กำลังใจว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวอีก 2-3 เดือนจะมีงาน อดทนนะ ฝ่าฟันไปให้ได้นะ ชีวิตมันไม่ได้ต้องการอะไร แค่มีคนที่ฝ่าฟันไปด้วยกัน หมอปลื้มมาก แฟนและคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ชีวิตหมวยดีขึ้น ดีขึ้นมากๆ เข้าใจโลกมากค่ะ”

อีกประสบการณ์ตรงของ  ดีเจเคนโด้ – เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร  ในฐานะที่เคยป่วยเป็นไบโพลาร์ บอกว่า

“ผมป่วยระยะ Mania มีอาการถึงขั้นคิดว่าสามารถเข้าทรงได้ คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษต่างๆ นานา นี่มันเป็นอาการของโรคเลยคือเห็นตัวเองมีอำนาจวิเศษมันจะค่อยๆ ขยับตัวเองขึ้นไป เช่น ฉันเก่ง เก่งมาก เริ่มมีอำนาจวิเศษ บางคนถึงขั้นคิดว่าตัวเองเหาะเกินเดินอากาศได้ ขึ้นไปบนตึกแล้วกระโดดลงมาเพราะคิดว่าตัวเองบินได้ เนื่องจากสมองสั่งให้มีพฤติกรรมเช่นนั้น ส่วนความก้าวร้าว ผมเคยถึงขั้นชี้หน้าว่าแขกรับเชิญและผู้ร่วมงานด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย และเมื่อเข้าสู่ระยะ Depressed  จะเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากจะทำอะไร นอนไม่หลับ อยากจะอยู่แต่บนเตียง ไม่อยากทำงาน ร้องไห้ ขับรถมาทำงานก็ร้องได้ ถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ทั้งหมดทั้งมวลแล้วเป็นตัวเราที่ถูกครอบด้วยโรค เมื่อเรารู้ไม่ทันมัน เรารักษาไม่ทันมันก็จะเกิดความเสียหายทางร่างกายและจิตใจของทั้งตัวเองและครอบครัว”

ผู้ป่วยไบโพลาร์ “ไม่ใช่คนบ้า ไม่ใช่คนโรคจิต” แต่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางอารมณ์ที่จะสามารถรักษาหายได้ด้วยยาและจิตบำบัด

โครงการ “อุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Happy mind, Happy life” จะจัดโรดโชว์ใน 3 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ลำพูน อุดรธานี และสงขลา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช และสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยในพื้นที่รวมทั้งเครือข่ายครอบครัวของผู้ป่วยในการจัดการกับโรคจิตเวชเพื่อความผาสุกของชีวิตและสังคม