1 มิถุนายน 2567…ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังเดินหน้าต่อเนื่องส่งเสริม financial literacy เยาวชนไทย ผ่านโครงการ “INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สนับสนุนให้ครูระดับมัธยมศึกษาออกแบบโมเดลการเรียนรู้การเงินการลงทุน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนในรูปแบบ active learning หวังต่อยอดเป็นหลักสูตรการลงทุนสำหรับนักเรียนมัธยมให้แก่ระบบการศึกษาของประเทศ โดยที่ผ่านมาสร้างครูกระบวนกรแล้วใน 66 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
คุณครูกระบวนกร จาก 2 โรงเรียน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์โมเดลของแต่ละโรงเรียนคือคุณครูกมลชนก สกนธวัฒน์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม โมเดล “ห้องเรียนพารวย” คุณครูรัตนชาติ สาระโป และคุณครูเฉลิมขวัญ วงศ์พานิช โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ร่วมออกแบบโมเดล “แสงไฟในดงดอย”
คุณครูกมลชนก เริ่มเล่าบางตัวอย่างว่า นักเรียนอยากจะมองเห็นภาพความสําเร็จในชีวิตของเขาคืออะไรบ้าง ให้เขากําหนดภาพความสําเร็จ ให้เขาสืบค้นและมีการคํานวณว่าความสําเร็จแต่ละช่วงชีวิตของเขาต้องใช้เงินเท่าไร
“ปรากฏว่า เด็กช็อค เด็กบอกว่าก็เคยคิดนะว่ามันต้องใช้เงินเยอะ แต่ไม่เคยคิดเลยว่ามันต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้ โดยเฉพาะหลังเกษียณอายุที่จะไม่มีเงินเดือน ก็เป็นกิจกรรมชวนเด็ก ๆ มองภาพชีวิตว่าจำเป็น ลองหาตัวเอง มองเห็นอนาคตวางเป้าหมายชีวิต วางไทม์ไลน์ชีวิต หรือแม้กระทั่งการมองหาตัวช่วยที่จะทําให้เขาสําเร็จในชีวิตมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือการลงทุน เชื่อไหมคะ 100% ของเด็กที่มาเรียน คืออยากรวยแต่กลัว”
มาถึง 2 คุณครู คุณครูรัตนชาติ และคุณครูเฉลิมขวัญ เมื่อเริ่มต้นคุยเรื่องการบริหารเงินและการลงทุนลูกศิษย์ซึ่งเป็นนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่า “ครูสอนความรู้เกษตร หรือทักษะการใช้ชีวิตไม่ดีกว่าเหรอ เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว”
“เป็นเรื่องความเชื่อของพวกเราที่เชื่อว่า ห้องเรียนการเงินการลงทุนต้องเกิดขึ้นได้ทุกที่กับนักเรียนทุกคน เรามองว่าปัญหาในสังคม ปัญหาหนี้สินปัญหาความยากจน หรือแม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดจากการที่นักเรียนเข้าไม่ถึงความรู้ชุดนี้ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุน ในการออกแบบกิจกรรมทั้งวัน ชื่อ Mini Money Camp เราก็ลองออกแบบกิจกรรม เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองตัดสินใจ ใช้จ่ายเงินในชีวิตประจําวัน เราอยากรู้ว่าเด็ก ๆ ใช้จ่ายอย่างไร เราพาไปเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน”
พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการผู้บริหาร กลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการส่งเสริม Financial Literacy เยาวชนไทย ผ่านโครงการ “INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สนับสนุนให้ครูระดับมัธยมศึกษาออกแบบโมเดลการเรียนรู้การเงินการลงทุน เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนในรูปแบบ Active Learning เฉพาะโรงเรียนในแต่ละพื้นที่
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักว่าการเรียนรู้เรื่องการลงทุนของเด็กที่ได้ผล ต้องมาจากครูซึ่งเข้าใจธรรมชาติของนักเรียนในห้องเรียนของตัวเองเป็นอย่างดี จากความสําเร็จของโครงการในปีแรก ก่อให้เกิดห้องเรียนตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น เกิดการเผยแพร่ห้องเรียนตัวอย่างต่อสาธารณชนในรูปแบบของการสรุปกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งต่อความรู้ด้านการลงทุนเข้าสู่ระบบการศึกษา”
โครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp เน้นการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมแก่ครูระดับมัธยม เนื่องจากพบว่านักเรียนมัธยมเริ่มมีความสนใจใฝ่รู้เรื่องการลงทุน การปูพื้นฐานตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มจึงเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่เป็นโค้ชของครู ให้องค์ความรู้ เครื่องมือ และสื่อความรู้ เพื่อให้ครูทำหน้าที่เป็นครูกระบวนกร สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning และพัฒนาสื่อการสอนที่ตรงกับความต้องการของนักเรียนและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละห้องเรียน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้สร้างครูกระบวนกรสอนการลงทุนแล้วใน 66 สถาบันการศึกษา จาก 24 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ขยายผลสู่นักเรียนรวม 11,422 คน ปัจจุบันมีห้องเรียนลงทุนตัวอย่างแล้ว 19 ห้องเรียน พร้อมกันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพัฒนาชุดความรู้การลงทุนสำหรับนักเรียนมัธยมที่ครูสามารถนำไปใช้ต่อได้โดยสะดวก คาดหวังว่าความรู้การลงทุนจะเข้าสู่ระบบการศึกษาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่สอง กิจกรรมในโครงการประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ กิจกรรมหนึ่งเวิร์กช้อปให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ครูด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ กิจกรรมสองครูนําหลักสูตรการสอนที่ออกแบบไปทดลองสอนเป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา
กิจกรรมสําคัญสุดท้าย Show & Share ในโครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp ปีนี้ เปิดเวทีให้ครูนำกิจกรรมและกระบวนการสอนที่ได้พัฒนาขึ้นและได้ทดลองสอนในห้องเรียนจริงแล้ว มาเผยแพร่เป็นโมเดลการเรียนรู้และแบ่งปันให้แก่ครูท่านอื่น ๆ รวมถึงสาธารณชน
ทั้ง 3 คุณครูกล่าวในท้ายที่สุดว่า เรื่องการเงินการลงทุนเป็นสิ่งท้าทายไม่ใช่เพียงกับนักเรียน แม้แต่ครูเองก็ยังต้องลองผิดลองถูกและยังไม่สามารถจัดการให้ดีได้ จะดีกว่าไหมถ้าเราได้ลองผิดพลาด ลองเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียน เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตและอนาคตของเราและนักเรียน ด้วยความรู้ด้านการเงินและการลงทุน โครงการนี้เป็นเพื่อนที่จริงใจกับครูในการออกแบบห้องเรียนการเงินการลงทุนให้แก่เด็ก ๆ ที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ไอเดียการสอน และการเสริมแรงกายแรงใจทุก ๆ อย่าง โครงการนี้ช่วยให้เรื่องการเงินและการลงทุนเข้าใกล้เด็ก ๆ ของเรามากขึ้น รวมทั้งยังช่วยเปลี่ยนทัศนคติการใช้เงินของตัวครูเองด้วย อีกทั้งการได้เข้าร่วมโครงการในรุ่น 1 ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นในประเด็นการลงทุนที่เคยเข้าใจผิด มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะสอนการลงทุนในห้องเรียน รวมทั้งได้รู้จักพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทีมงานของ BlackBox และเพื่อนครูต่างโรงเรียน ทำให้มีเครือข่ายที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไอเดียการสอน ทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัท BlackBox คอยให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการสอนเรื่องการลงทุน แม้ว่าจะจบ การอบรมในรุ่นที่ 1 ไปแล้ว ก็ยังสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับรุ่นอื่น ๆ ได้เสมอ เรียกได้ว่าอบรมจบแต่ความเป็นกลุ่ม Bootcamp ไม่มีวันจบ
ครูอาจารย์ที่สนใจสามารถติดตามโครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp ได้ที่เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน INVESTORY https://investory.setgroup.or.th