TALK

ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ

27 พฤศจิกายน 2562… Kick Off 4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทย  ก.ล.ต. แกนนำความร่วมมือบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในบริเวณถนนวิภาวดีฯ เคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน ตามบทบาทของแต่ละองค์กร สอดคล้อง SDGs

โครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” ระยะเวลา 3 ปี เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช จำกัด (มหาชน) ดร.ชญานิน เทพาคำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) จินดา มไหสวริยะ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) และ พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทยและผู้บริหารจากบริษัทจดทะเบียนส่วนหนึ่งบริเวณถนนวิภาวดีฯ (TRBN) ร่วมกันเล่าถึงการทำงานของแต่ละองค์กรที่จะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ประเด็นสิ่งแวดล้อมถือเป็น 1 ในการตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลายตัวชี้วัดของตลาดทุนทั้งในประเทศ และระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ESG,DJSI เป็นต้น โดยเรื่องที่สามารถทำได้อย่างใกล้ตัวที่สุดคือ “การลดขยะ” ซึ่งรื่นฤดีได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า

“การทำความดีเพื่อแผ่นดินสามารถเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวภายในองค์กรตนเอง ดังนั้น ก.ล.ต. ซึ่งมีสำนักงานอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต จึงได้ริเริ่มโครงการ ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ และเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนที่ตั้งอยู่ในบริเวณถนนวิภาวดีฯ มาร่วมกันบริหารจัดการขยะภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และลดขยะที่ไม่สามารถหมุนเวียนไปใช้หรือทำประโยชน์อย่างอื่นให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีและสามารถขยายผลไปยังองค์กรอื่นได้”

พร้อมเริ่ม “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ”

เอนก เล่าถึงนโยบายของบริษัทในประเด็นดังกล่าว โดยเริ่มจากพยายามลดการใช้กระดาษในการประชุมบอร์ด โดยรายละเอียดสามารถเปิดดูได้บนแท็บเล็ต ส่วนขั้นตอนการอนุมัติต่าง ๆ ก็อยู่บนระบบอิเลกทรอนิคส์ 5 ปีผ่านไป การใช้กระดาษลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างจิตสำนึกให้พนักงานในองค์กรประมาณ 70 กว่าคน และส่งต่อไปยังชุมชนที่บริษัททำ CSR

“การผลักดันของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. เรื่อง ESG ช่วยมากในเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนนี้พนักงานเริ่มเข้าใจ และอินกับ ESG ผมเชื่อว่าโครงการจะเป็นประโยชน์ ในการนำ Best Practice มาแชร์”

ดร.ชญานิน เล่าถึงหมุดหมายของบริษัท ยึด SDGs เป้าหมาย 14 เพราะเชื่อว่า อ๊อกซิเจนในโลกนี้ ส่วนใหญ่มาจากท้องทะเล สิ่งสำคัญที่ทำลายใต้ท้องทะเลคือพลาสติกแบบ Single Use จึบงเป็นที่มาของโครงการ See You Tomorrow

“จะลดขยะได้จะต้องเริ่มที่ตัวเราเอง อย่างใต้ตึกซัน ทาวเวอร์ และศูนย์อาหารซัน เราขอความร่วมมือพ่อค้า แม่ค้า ลูกค้า ลด ละ เลิก พลาสติกแบบ Single Use โดย พ่อค้า แม่ค้า เมื่อช่วยลด ละ เลิก จะได้พ้อยท์ แล้วบริษัท นำเงินไปทำบุญช่วยหมู่เกาะในท้องทะเล ได้ช่วยโลกและทำบุญพร้อมกัน”

จินดา เล่าถึงการบริหารจัดการขยะ ได้ทำอย่างต่อเนื่องในอาคารของบริษัท จนกระทั่งผ่านมาถึงจุดความคิดที่ท้ายทายว่า “จะทำให้ไม่มีถังขยะได้ไหม?” ซึ่งก็พัฒนามาจนกระทั่ง จะมีจุดวางถังขยะตามที่กำหนดไว้ การคัดแยกขยะของพนักงานจะต้องทำที่โต๊ะทำงาน เพื่อไม่เป็นภาระแม่บ้านมาก

“การมีแก้วน้ำส่วนตัว กล่องข้าวส่วนตัว พกถุงผ้า ช่วยในการไม่ให้เกิดขยะได้มาก เราประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย โทรทัศน์ในองค์กร สอดแทรกความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จะขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงของเราด้วย”

เนื่องจากโครงการนี้จะต้องีความร่วมมือกับหลายส่วนในตลาดทุน พิมพรรณกล่าวถึง TRBN จะเข้ามาเป็นส่วนกลางที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง Best Practice ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะเปิดตัว TRBN วันที่ 2 ธันวาคม และ 4 ธันวาคม ก็จะเริ่มต้นโครงการ

“พื้นที่ของถนนวิภาวดีฯ มีความยาวมาก การวัดผล โครงการที่อยู่ใต้ร่มของ TRBN จะวัดตามกรอบ ESG ,SDGs ที่แต่ละบจ. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่ง ก.ล.ต. เองก็ต้องแบบอย่างในเรื่องนี้ด้วย พร้อมทั้งให้เกิดความร่วมมือให้มากที่สุด”

เรื่องนี้ไม่ใช่การลงทุนของบริษัท แต่เป็นการแชร์ประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในสังคม

 

You Might Also Like