TALK

กฤษณ์ อิ่มแสง “เราตั้งเป้าบรรลุ Zero Non-Compliance อย่างยั่งยืน”

26 พฤศจิกายน 2561…จากโครงสร้างการกำกับดูแลองค์กรปตท.เคยอยู่กับหน่วยงานแผนการลงทุน และด้านการสื่อสาร แต่ล่าสุดถูกรวมไว้ที่เดียวตอบทุก Stakeholder ภายใต้ 3+1 คำคือ Governance , Risk , Compliance +Communicate ตามนโยบาย Change for the Future เพื่อความเข้มข้นของ “Pride” and Treasure of Thailand

ทันทีที่ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เริ่มงาน ก็ปรับโครงสร้างองค์กร 11 ตำแหน่ง โดย 1 ในนั้นเป็นหน่วยงานใหม่ พร้อมทั้งมอบหมายให้ กฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กรและความยั่งยืน ย้ายมาดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์

เนื่องจากปตท.เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับ Stakeholder หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับและหลากหลายประเภท ดังนั้นการจะขับเคลื่อนอะไรก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึง Stakeholder อยู่แล้ว แต่เมื่อประมาณ 15-20 ปีที่ผ่านมามีคำ 2 คำที่เกิดขึ้นโดยมีความเข้มข้นในการติดตามมากคือคำว่า “ความเสี่ยง” และ “ธรรมาภิบาล”

“ปตท.มีหน่วยงานกำกับดูแลองค์กร อยู่กับหน่วยงานแผนเรื่องการลงทุน เมื่อปตท.จะตั้งอะไรก็ตาม หรือลงทุนอะไรก็ตาม จะต้องมาที่หน่วยนี้ก่อน มาดูเรื่องความเสี่ยงทุกอย่าง วิเคราะห์แล้วปิดความเสี่ยงให้หมด ขณะเดียวกันเรื่องของธรรมาภิบาล ปตท.ทำงานโดยนคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ อย่างรอบด้าน การทำงานอย่างโปร่งใส การทำงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ดูแล ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเท่าเทียมกันไม่เลือกฝ่าย ซึ่งงานด้านนี้ก็จะไปอยู่กับอีกหน่วยงานที่เป็นด้านการสื่อสาร เพื่อมุ่งเป้าจะต้องไม่มีงานอะไรที่ผิดกติกา มารยาท ระเบียบปตท. ระเบียบสังคม กฎหมายต่างๆ ที่เป็นข้อบังคับ แต่ก็ยังเกิดปัญหา”

กฤษณ์ เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการปตท.มองว่า จะต้องบูรณาการ นำทุกอย่างที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง หาวิธีการจัดการให้ดูแลได้ดีกว่า ซึ่งเป็นที่มาของ PTT หรือ Pride and Treasure off Thailand องค์กรแห่งความภาคภูมิใจ และเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ Pride จะคำนึงถึง People หรือ มนุษยชาติ รวมถึง Planet ดาวเคราะห์ดวงนี้ หากไม่มีทั้งสอง องค์กรก็อยู่ไม่ได้ ส่วน Treasure คือเรื่อง Prosperity หรือ ความเจริญรุ่งเรือง ที่มาจากการค้าขาย ซึ่งการค้าขายก็ต้องมีกำไร หากไม่มีกำไร เท่ากับผิดจรรยาบรรณการค้าขาย เนื่องจากไม่ใช่องค์กรสาธารณะ หรือมูลนิธิ

“ในส่วนใหม่ที่ผมดูแลคือฝั่งของ Pride โดยใช้หลักเดิม GRC คือ Governance , Risk , Compliance และบวก Communicate พีอาร์มารวม ผมเลยใช้สายงานนี้ GRCC ซึ่งงานพีอาร์ได้กำหนดบริบทองค์กร เป็นสายงานเป็นโฆษกของปตท. จะอยู่ในฝั่ง Pride อย่างเข้มข้น”

กฤษณ์อธิบายเพิ่มเติมถึง รูปแบบการทำงาน เบื้องต้น ปตท.เป็นองค์กรรัฐ พนักงานที่เคยทำเรื่องเหล่านี้ GRCC มารวมตัวกัน มีกระบวนการเรียนรู้ หรือเรียนรู้อีกครั้ง ปรับ Mindset โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ทันสมัยและรวดเร็ว โดยจะใช้ดิจิทัลมาวางกรอบในการทำงาน ทำให้คนตัดสินใจ ไม่สามารถออกไปทางอื่นได้เพราะระบบกำหนดให้ตรง ไม่ให้เลี้ยวซึ่งจะใช้ดิจิตอลกำหนด ซึ่งอำนาจการตัดสินใจของคนที่เคยดูแลอาจจะลดลง แต่มีบทบาทในการตัดสินใจ

กระบวนการ GRCC จะเริ่มต้นกับพนักงานของปตท. 4,000 คนก่อนเป็นต้นแบบ ส่วนบริษัทในกลุ่มปตท.ที่เสมือนบริษัทลูก อย่าง GC และปตท.สผ. มีความพร้อมในการนำ GRCC ไปใช้ เป็นการสร้างระบบที่เรียกว่า เชื่อมโยงจากข้างบนลงข้างล่าง ซึ่งบางบริษัทในกลุ่มได้เริ่มขยับเรื่องนี้แล้ว เมื่อปตท.ส่งผ่านระบบที่มีอยู่ ไปยังลูก ให้บริษัทลูกดูแลบริษัทลูกตัวเองอีกที ซึ่งก็คือบริษัทหลานปตท. นั่นเอง

GRCC เมื่อนำไปใช้ จะเหมือนกันทั้งหมด จะมี 3 Lines คนที่ทำงานหน้างานเรียก First Line ส่วน Second Line คือคนวางกรอบ วางระเบียบ วางกติกา และคอยให้คำปรึกษา เช่น พวกกฎหมาย ฝ่าย HR ส่วน Third Line นั้น ถ้าเรื่องมาถึงตรนี้เริ่มวิตก เพราะเป็นฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งคนส่วนใหญ่อยู่ First Line เขาปฏิบัติงานได้เพราะว่ามี Second Line คอยออกกฎระเบียบ คอยสร้าง ดูวิธีการทำงาน กำหนดมาตรการต่างๆ คนนี้ทำตาม ไลน์นี้ที่กำหนดไว้ แต่ถ้าไม่ทำตามที่ Second Line บอก วันหนึ่งเกิดเรื่องขึ้นมาแล้ว Third Line ลงไปเจอเคสไม่ชอบมาพากล สงสัยว่าจะมีการทุจริต จะเรียกว่าเป่านกหวีดหรือร้องเรียน คือหน่วยงานผมจะเป็นคนรับข้อร้องเรียน และต้องเข้าไปจัดการ

“GRCC ในยุคใหม่ จะไม่ให้เกิด ข้อผิดพลาดเราจะใช้ระบบปิดทั้งหมด ทุกกระบวนการ เราตั้งเป้าเป็น Zero Non-Compliance กระบวนการทำงานเป็นตามที่เราระบุไว้ เป็นไปตามที่เรากำหนด เช่นระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบวิเคราะห์การลงทุน ระบบวิเคราะห์ความเสี่ยง จากนี้ไปจะต้องมีกระบวนการดูแลอย่างเข้มข้น เรากำลังดำเนินการทำงานกับที่ปรึกษา ไม่เกินเดือนธันวาคมปีนี้ ก็จะมีกระบวนการออกมา และไม่เกินไตรมาส 1 ปี2562 ก็จะทำงานได้ น่าจะช่วยพนักงาน องค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

กฤษณ์กล่าวในท้ายที่สุด ถึงหน่วยงานใหม่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์

“ความท้าทายของผมจากนี้ไป ผมมีความคาดหวังจากคนทั้งองค์กร ทุกคนอยากเห็นหน่วยที่ผมอยู่ต้องเป็นไปตามนี้คือ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์  ดูแล Stakeholder ทั้งหมดให้มากยิ่งขึ้น โดยภายในนอกคือ C ตัวสุดท้าย หรือ Communicate ก็มีความสำคัญเข่นเดียวกัน”

 

You Might Also Like