24 กันยายน 2567… สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย ลำดับที่ 3 ของอาเซียน และลำดับที่ 21 ของโลก ร่วมโครงการระดับโลก ” Transitioning Industrial Clusters โดย World Economic Forum การผนึกพลังของอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วโลก มุ่งเดินหน้าผลักดันการลดคาร์บอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต หนุนเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตแบบโลว์คาร์บอน
“ขอต้อนรับสระบุรีแซนด์บอกซ์ คลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย เข้าสู่โครงการ World Economic Forum ที่มีเป้าหมายเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานแบบบูรณาการ มีพันธมิตรต่าง ๆ ให้ความร่วมมือ ช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่กว่าร้อยละ 80 ตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี ลดการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาค เกิดการสร้างงานในทุกภาคส่วน และเพิ่ม GDP ให้ประเทศ” Roberto Bocca หัวหน้าศูนย์พลังงานและวัสดุ และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร World Economic Forum กล่าว
ความสำคัญคือ เป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทยที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน พร้อมกับลดคาร์บอน ทั้งยังโดดเด่นด้านการประสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทำงานแบบ PPP (Public-Private-People Partnerships) มี 3 ภาคีหลักที่เป็นผู้ก่อตั้งและผลักดันจนเกิดความคืบหน้า ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และจังหวัดสระบุรี ทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ กว่า 20 องค์กร และ 7 กระทรวง
ความร่วมมือนี้สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศผ่านการสร้างงาน ช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ด้าน ตาม Nationally Determined Contributions (NDCs) ได้แก่ พลังงานและการขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย เกษตรกรรม รวมทั้งการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้
จังหวัดสระบุรีเป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ใหญ่ที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของไทย จึงมีเป้าหมายหาแนวทางขับเคลื่อนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การระดมทุน เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แล้ว ยังมีส่วนกู้วิกฤตโลกเดือดด้วย
โครงการ Transitioning Industrial Clusters ของ World Economic Forum ได้รับการสนับสนุนจาก Accenture และ EPRI มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานสีเขียวในคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านการจัดการด้านการเงิน นโยบาย เทคโนโลยี และการสร้างความร่วมมือ