กรกฎาคม 2,2025…หลายคนอาจจะให้นิยามคำว่าวรรณกรรมว่าเป็นงานประพันธ์ที่สูงส่ง มีคุณค่า เป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก
แต่รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม นักวิชาการด้าน BL อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายไว้ใน BANGKOK PRIDE FORUM 2025 จักรวาลวรรณกรรม BL/GL กับพลังความหลากหลาย สู่สังคมที่เท่าเทียม อธิบายว่าอย่างน่าสนใจว่า
“ความหมายของวรรณกรรมตามนิยามของราชบัณฑิตยสภา คือ งานเขียนทั่วไป ซึ่งสำหรับผมงานเขียนทั่วไปหมายรวมถึงสติ๊กเกอร์ท้ายรถ ข้อความในห้องน้ำนับรวมเป็นวรรณกรรมหรืองานเขียนทั่วไปทั้งหมด”
ในมุมมองของ 3 ผู้ร่วมเสวนาคือ
–ธีรภัทร เจริญสุข ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ
-คิลิน เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย นักเขียนยูริชื่อดัง
–ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์สะพาน
ก็มีความเห็นในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงความแพร่หลายและเป็นที่นิยมของ จักรวาลวรรณกรรม BL/GL ที่หลายคนมองว่าเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่ถูกผลักดันจากทุนนิยม เมื่อมีความต้องการเสพเพิ่มมากขึ้น ก็นำไปสู่ตลาดที่กว้างและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ฉันทลักษณ์ สะท้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการวรรณกรรม BL / GL ว่าเมื่อก่อนไม่ได้มีวรรณกรรมประเภทนี้ เพิ่งจะมีเมื่อไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา
“สมัยก่อนเรื่องราวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกเขียนให้เป็นพวกที่มีปัญหาทางจิต เป็นพวกวิปริตทางเพศ ซึ่งเราอ่านแล้วรู้สึกแย่ว่าการมีคู่รักเพศเดียวกันแล้ว ถูกต่อต้านจากสังคม ชาวบ้านไม่ยอมรับ ซึ่งเข้าใจได้เพราะเมื่อก่อนการเปิดรับและการรับรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศยังมีไม่มาก การเขียนถึงคนกลุ่มนี้ก็อาจจะเขียนตามมุมมองของนักเขียนซึ่งเป็นตัวแทนของคนสมัยนั้น ด้วยเหตุนี้จึงมาทำสำนักพิมพ์ที่พิมพ์นิยาย BL/GL เพื่อช่วยลดอคติของสังคม เพราะเราเชื่อว่างานเขียนก็เป็นการต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ”
เช่นเดียวกัน คิลินให้เหตุผลว่าการที่เข้ามาในวงการเขียนยูริ เพราะอคติของสังคมที่มองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องแปลก
“ส่วนตัวไม่เคยรู้สึกว่าแปลก เมื่อมาเจอกับมุมมองของสังคมที่มองเรื่องนี้แปลก เราจึงอยากสะท้อนมุมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ทุกคนสามารถมีความสุขกับการเลือกและรับผิดชอบของตัวเอง ซึ่งผลตอบรับก็ดี”
การเกิดขึ้นของวรรณกรรมประเภท BL/GL จึงกลายเป็นวิธีการต่อสู้ทางหนึ่ง ต่อสู้กับอคติของคนที่มองภาพ LGBTQIAN+ ในชิงลบ หรือการมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต
ธีรภัทร สะท้อนมุมมองของตัวเองว่าไม่ว่างานเขียนจะเกี่ยวกับ BL/GL ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของชีวิตคน แต่ด้วยอคติที่มีในอดีตทำให้ตัวละครที่รักเพศเดียวกันไม่เป็นตัวตลก ก็จะเป็นตัวร้าย
“เราก็ตะหงิดตั้งแต่ตอนนั้น เพราะเมื่อเราโตขึ้นมาเรามองเห็นความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เห็นคนใช้ชีวิตกันปกติโดยที่ไม่ได้ไปทำร้ายใคร ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน พอมาทำงานด้านสิ่งพิมพ์เราก็ต้องการเห็นว่าวันหนึ่งเราอาจจะไม่ต้องจัดประเภทหนังสือว่าเป็น BL/GL อีกแล้ว ถ้าเป็นนิยายสืบสวนก็ไปอยู่หมวดนั้น หรือหากเป็นนิยายรักก็ไปอยู่ในหมวดของนิยายรัก โดยไม่ต้องตีกรอบว่าเป็นนิยาย BL/GL”
หลายคนอาจมีคำถามว่าการอ่านวรรณกรรม BL/GL เปลี่ยนสังคมได้จริงหรือไม่
ฉันทลักษณ์ อธิบายว่าการเริ่มทำสำนักพิมพ์เพราะเชื่อว่าวรรณกรรมสามารถเปลี่ยนสังคมได้
“เพราะเราเองก็ถูกเปลี่ยนจากวรรณกรรมเหมือนกัน เราอ่านวรรณกรรมหนุ่มสาว แล้วเราก็เปลี่ยนจากเด็กคนหนึ่งมาเป็นคนที่สนใจสังคมมากขึ้น เริ่มคิดนอกกรอบ วรรณกรรมมีผลกับเรา จึงเชื่อว่าการที่เรามาทำสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งาน BL/GL ก็จะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ นอกจากนี้งานเขียนเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ง่าย ทำให้คนคล้อยตามและเปลี่ยนได้ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนทันที แต่เราก็เชื่อว่าวันหนึ่งจะเปลี่ยนได้”
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ คิลิน ที่มองว่าวรรณกรรมคือหนึ่งใน Soft Power
“ทำไมในยุคที่เราปลุกให้คนรักชาติด้วยเพลงแล้วได้ผล หนังสือพิมพ์แล้วได้ผล วันนี้ทำไมเราถึงต่อต้านที่จะเรียกคนทำร้ายกันด้วยการบอกว่าเขาเป็นทอมที่ทำร้ายร่างกาย หรือตุ๊ดที่ตีคน แต่ให้พูดชื่อคนคนนั้นโดยไม่ต้องใส่บริบทสิ่งที่เขาเป็น นี่ก็ตอบได้ชัดว่าสังคมมันถูกขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้ว นี่คือหนึ่งในสิ่งที่ LGBTQIAN+ ผลิตออกมาจากทุกยุค จนปัจจุบันเรามองว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ปกติแล้ว”
ในขณะที่นัทธนัย ให้ความเห็นว่า กลุ่มคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับ LGBTQIAN+ ก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนโดยสิ้นเชิง แต่มีคำว่า Queer Visibility หรือมีการปรากฏของสิ่งนี้มากขึ้น ไม่ต้องซุกซ่อนเหมือนสมัยก่อน
“ในส่วนของกลุ่ม LGBTQIAN+ อ่านแล้วเป็นอย่างไร ต้องบอกว่าแต่เดิมเรื่องความหลากหลายทางเพศมักจะเป็นการเขียนโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง แต่หลัง 2010 งานเขียนเรื่องความหลากหลายทางเพศ คนอ่านไม่ได้มีแค่ผู้หญิงอีกต่อไปแล้ว มีกลุ่มผู้หญิงและ Sexual Minority อื่นๆ ที่สนใจอ่านมากขึ้น”
การขับเคลื่อนวงการวรรณกรรม BL/GL ธีรภัทรมองว่า ตอนนี้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ BL/GL ไทยผลิตคอนเทนต์ BL ในสัดส่วน 63% ของโลก มีมาร์เก็ตแชร์ของสูงมาก ส่วน GL ยังไม่ได้มีการสำรวจแต่ประเมินแล้วน่าจะมี 80% ที่ส่งออกไป อย่างที่ละตินอเมริกาไทยส่งออกดารา BL/GL ไปโชว์ตัวมากมาย ช่องว่างทางการตลาดของไทยกับเรื่องคอนเทนต์วายมีเยอะมาก เนื่องจากในหลายประเทศ รากฐานของวัฒนธรรมในประเทศอื่นไม่เปิดรับเรื่องความหลากหลายโดยสิ้นเชิง แต่รากฐานของศาสนาพุทธไทยไม่ได้แบนขนาดนั้น ทำให้ไทยสามารถ ผลิต ส่งออกได้ ทุกคนมุ่งที่จะเข้ามาหาคอนเทนต์วายไทย ไม่ว่าจะเป็นจาก ในไต้หวัน ยุโรป อเมริกา ไทยสามารถขายคอนเทนต์วายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งขายลิขสิทธิ์ ขายแบบนำไปแปล หรือขายลงสตรีมมิ่ง ซึ่งแม้ว่าในประเทศที่ยังไม่เปิดรับก็มีคนที่สนใจคอนเทนต์แบบนี้และพยายามหาอ่าน
“คนไทยมีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์สูงมาก สิ่งที่ขาดคือการแปลเราติดกำแพงเรื่องของภาษา ต้องแปลให้เป็นภาษาอังกฤษให้ได้เพื่อขยายกลุ่มคนอ่านให้กว้างมากกว่านี้ เหมือนซีรีส์วายที่ส่งออกไปได้ทั่วโลกเพราะสตรีมมิ่งมีซับไตเติ้ล สิ่งที่เราจะสนับสนุนได้ก็คือเรื่องของการแปล ทำอย่างไรให้งานเขียนของไทยแปลออกไปทั่วโลกได้ เราจึงมีโครงการทุนสนับสนุนการแปลให้เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าไปโน้มน้าวขายในภาษาอื่นเราก็มีทุนสนับสนุนการแปล ปีนี้ให้ทุนไปแล้ว 15 เล่ม มี BL ไปแล้ว 2 เล่ม ในปีต่อไปเราจะสนับสนุนมากขึ้น”
นัทธนัย เห็นด้วยกับความเห็นนี้ เพราะมองว่าหากตัดประเด็นเรื่องของการขาย ซึ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในมุมที่เมื่อคนอ่านงานเหล่านี้ หรือเสพซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากงานเหล่านี้จะรู้สึกว่ากรุงเทพมีความปลอดภัยสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ งานเขียนจะช่วยขับเคลื่อนและแสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย ที่ไหนหาคอนเทนต์วายไม่ได้ ให้มาหาซื้อที่ไทยมีทุกอย่าง
สำหรับการเสริมศักยภาพให้คนทำงานด้านวรรณกรรม คิลิน ย้ำว่าเมื่อเขียนเรื่องแล้วต้องพยายามเขียนให้จบ คุณภาพของงานเขียนสำคัญ งานที่มีคุณภาพจะทำให้เรื่องนั้นๆเติบโตได้ด้วยตัวเอง คุณภาพจะเกิดจากการรีเสิร์ชก่อนเขียน เขียนอย่างละเอียดและใส่ใจซึ่งจะทำให้คนอ่านจดจำ นอกจากนั้นต้องสร้างความหลากหลายของเนื้อเรื่องสำหรับ GL ให้มากขึ้น
“ถ้าพูดเรื่องของการพัฒนาอยากให้มองทั้งฝั่ง Production อยากให้นึกถึงคนที่อยู่ในธุรกิจทั้งหมด เวลาเราพูดถึงวรรณกรรมไม่ได้หมายความถึงนักเขียน สำรักพิมพ์อย่างเดียว แต่ยังมีคนจำนวนมากที่อยู่ในนั้น คนพวกนั้นถูกมองเห็นหรือเข้าไปพัฒนาทักษะหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนจัดหน้า คนออกแบบปก หรือแม้กระทั่งนักแปล โดยเฉพาะการแปลเข้าเช่นการแปลเรื่องจีนโบราณ นักแปลที่ไม่ได้อ่านเรื่องนี้มากพอก็จะไม่มีคลังคำ แปลแล้วไม่ได้อรรถรส เช่นเดียวกับการแปลออกถ้าคนแปลไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยมากพอก็จะแปลออกไปในวรรณกรรมย้อนยุคแบบไม่ได้รสชาติเช่นกัน”
นัทธนัย กล่าวปิดท้าย ฝั่ง Reception อยากเห็นการอ่าน BL/GL ให้มากกว่าการจิ้นเฉยๆ อยากให้มีการฝึก เวิร์คช้อป หรือให้ความรู้ในวิธีการอ่านที่หลากหลายมากขึ้น เช่น คำบางคำที่คนอ่านรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก ก็ต้องให้ความรู้ เพื่อฝึกให้ผู้อ่านอ่านงานได้หลากหลายมากขึ้น ถ้าเรามีความรู้ที่มากขึ้นจะทำให้เราอ่านงานนั้นในความหมายที่หลายระนาบมากกว่าเดิม และเพื่อไม่ให้นักเขียนดูเบาคนอ่านได้ เพราะคนอ่านก็มีความรู้ที่เทียบเคียงเสมอกัน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเกิดขึ้นทั้งสองฝั่ง