Thammasat University Inclusive Cities Laws Design Policy PRIDE ความเท่าเทียมทางเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมืองที่ครอบคลุม Thammasat University Inclusive Cities Laws Design Policy PRIDE ความเท่าเทียมทางเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมืองที่ครอบคลุม

จากสีสันสู่โครงสร้าง มธ.แนะ ปลดล็อก Pride ให้เป็นนโยบายเพื่อเมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศ

เมื่อกฎหมาย เมือง และนโยบาย ต้องเปลี่ยนเพื่อชีวิตของทุกคน

กรกฎาคม 1,2025…มธ. ชวนสังคมมองให้ลึกกว่าสีสัน ตั้งคำถามต่อความหมายของ ‘Pride’ ที่ไม่ควรถูกลดทอนเหลือเพียงงานเฉลิมฉลอง

แม้ขบวนพาเหรด Pride ของกรุงเทพฯ จะกลายเป็นภาพจำที่คุ้นตาในหลายเมืองทั่วโลก แต่ทว่า “เมืองแห่งความหลากหลาย” ไม่ควรถูกนิยามด้วยแสงสีหรือการเฉลิมฉลองเพียงชั่วคราว แต่ควรถูกถามต่อว่า เมืองเหล่านั้นปลอดภัยและเป็นธรรมกับทุกเพศสภาพในชีวิตจริงเพียงใด? อีกทั้งหนึ่งในมุมสำคัญของการสร้าง Pride ที่แท้จริง คือการรับมือกับความรุนแรงและอคติที่ยังฝังแน่นในสังคม แม้จะมีความพยายามผลักดันกฎหมายเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติ LGBTQIAN+ ทั่วโลกยังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการถูกละเมิด และถูกทำร้ายมากกว่าคนทั่วไป

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก Human Rights Campaign (HRC) ที่ระบุว่า ในปี 2024 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจจากความเกลียดชังต่อ LGBTQIAN+ ในสหรัฐอเมริกามากถึง 33 ราย ขณะที่ในภูมิภาคเอเชีย กลุ่มสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์รายงานว่า LGBTQ+ กว่า 50% เคยประสบกับการถูกคุกคามทางเพศหรือการใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2023 พบว่า 40% ของ LGBTQIAN+ ไทยยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องเปิดเผยตัวตนในพื้นที่สาธารณะ

ในเมืองที่หลากหลายจริง กฎหมายต้องปกป้องทุกชีวิตได้จริง

“กฎหมาย” ควรเป็นมากกว่าตัวอักษรในกระดาษ หากต้องเป็นเครื่องมือที่ยืนอยู่ข้างประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มักถูกผลักออกจากระบบอย่างเงียบ ๆ เช่น ชุมชน LGBTQ+ คำกล่าวจาก รศ. ดร.อานนท์ มาเม้า โดยยังมีมุมที่ชวนคิดอีกว่า หากรัฐธรรมนูญคือสัญญาประชาคมที่กำหนดทิศทางของประเทศ ความเท่าเทียมทางเพศก็ต้องได้รับการยืนยันในทั้งตัวบทกฎหมายและทางการปฏิบัติในหลายกรณี แต่ความเป็นจริงในเมืองไทยวันนี้เผยให้เห็นช่องว่างที่น่ากังวล ระหว่างความก้าวหน้าของสังคมกับการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายที่ยังล่าช้าและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ที่แม้รัฐธรรมนูญไทยจะรับรอง “ความเสมอภาค” ไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีเพียงไม่กี่กฎหมายที่ลงลึกและปกป้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้อย่างแท้จริง

กรณีหนึ่งที่สะท้อนปัญหาชัดเจนคือ การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ตนเอง แม้จะมีความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศสภาพมาหลายปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในรัฐสภา ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ถูกเสนอโดยฝ่ายค้าน ขณะที่รัฐบาลซึ่งมีบทบาทกำหนดทิศทางนโยบาย กลับไม่แสดงท่าทีจะสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้น ทั้งที่ในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม ได้ผ่านกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ไปแล้ว และยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเพศด้วยหลักคิดเรื่องสิทธิพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะรัฐไทยยังมีท่าทีรับฟังที่ไม่ทันท่วงทีพอ ในยุคที่พลวัตทางสังคมเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หลายข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองของ LGBTQ+ ล้วนเกิดจากแรงผลักดันของภาคประชาชน ไม่ใช่จากความริเริ่มของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงมือผู้มีอำนาจ มักพบกับคำถามที่อิงอยู่กับ “ศีลธรรมอันดี” หรือ “ค่านิยมไทย” ทั้งที่หลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญเองก็ระบุชัดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์” รศ. ดร.อานนท์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม

รศ. ดร.อานนท์ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ใช้มาแล้วกว่า 10 ปี และเคยรับรองสิทธิของบุคลากรข้ามเพศในการแสดงออกตามอัตลักษณ์ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหามากมาย เช่น การที่หน่วยงานบางแห่งโต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการ ส่งผลให้สิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองกลายเป็นเรื่องยากลำบากในทางความเป็นจริง อย่างไรก็ดี การปฏิรูปกฎหมายไทยให้ทันกับยุคสมัยจึงต้องไม่หยุดแค่การบัญญัติกฎหมายใหม่ แต่ต้องรวมถึงการทบทวนกระบวนการบังคับใช้และกลไกการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจัง รัฐต้อง “จมูกไว” ต่อสัญญาณและกระแสของสังคม พร้อมเปิดพื้นที่ให้สิทธิของคนทุกกลุ่มสามารถเบ่งบานได้อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะในหน้ากระดาษ แต่ต้องจับต้องได้จริงในชีวิตของทุกคน

Smart City ต้องมาจาก Inclusive City “เมืองที่ฉลาดคือเมืองที่มองเห็นทุกคน”

การออกแบบเมืองที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี การคมนาคม หรืออาคารสูงเสียดฟ้า หากแต่ต้องเป็นเมืองที่ “มองเห็นทุกคน” ในความแตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียม เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่แท้จริง จึงไม่อาจวัดได้จากเพียงโครงสร้างพื้นฐานทันสมัยหรือแอปพลิเคชันติดตามขยะ แต่ต้องสะท้อนถึงการออกแบบที่ครอบคลุมทุกมิติของมนุษย์ ตั้งแต่เพศสภาพ ความพิการ ไปจนถึงสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ผศ. วราลักษณ์ คงอ้วน กล่าวว่า การออกแบบเมืองในมุมของสถาปัตยกรรม ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อความสวยงามหรือประสิทธิภาพในการใช้งาน แต่ต้องพิจารณาความหลากหลายของผู้คนเป็นหัวใจสำคัญ องค์ประกอบพื้นฐานของเมือง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม พื้นที่สาธารณะ หรือสภาพแวดล้อม ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานในทุกมิติ ทั้งด้านเพศสภาพ วัย ความสามารถทางร่างกาย และฐานะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เมืองเป็นสถานที่ที่ “ใครก็อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี” ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ การจัดแสงสว่างที่เพียงพอเพื่อความปลอดภัย หรือแม้แต่ที่นั่งในสวนสาธารณะที่คำนึงถึงผู้สูงอายุ ทุกองค์ประกอบล้วนสะท้อนแนวคิด “การเข้าถึงได้ ความปลอดภัย และความเท่าเทียม” อย่างแท้จริง

“แนวคิดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 11 คือ การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่น และยั่งยืน ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าเมืองหนึ่งจะดำรงอยู่ได้ ต้องมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ระบบขนส่งที่เป็นธรรม การจัดการภัยพิบัติที่ครอบคลุม รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ พื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตร่วมกันของคนต่างกลุ่ม และการวางผังเมืองที่ไม่สร้างกำแพงหรือความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ นี่คือหัวใจของการออกแบบเมืองที่ไม่ใช่แค่ “อยู่ได้” แต่ต้อง “อยู่ดี” ด้วย”

อย่างกรณี การออกแบบพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำทุกเพศ หรือห้องสมุดชุมชน ให้ตอบโจทย์ความหลากหลายโดยไม่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึก “ถูกแยก” หรือ “ถูกตีตรา” นั้น เป็นโจทย์ละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม การจะออกแบบให้ “แยกให้เห็น” อย่างเคารพความแตกต่าง ขณะเดียวกันก็ “รวมให้กลมกลืน” อย่างไม่ทำให้ใครรู้สึกเป็นอื่น จำเป็นต้องเริ่มจากการเรียนรู้พื้นที่และชุมชนนั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การวางผังให้สวยงาม แต่ต้องเข้าใจว่าคนในพื้นที่พร้อมหรือไม่ พร้อมอย่างไร และต้องการสิ่งใดจริง ๆ

ตัวอย่างเช่น ห้องน้ำทุกเพศที่ดูเผิน ๆ อาจเป็นทางออกที่ inclusive แต่หากไม่คำนึงถึงจำนวน ความปลอดภัย หรือความสะอาด ก็อาจกลายเป็นจุดเปราะบางที่ลดคุณภาพชีวิตมากกว่าจะสร้างความเท่าเทียม การออกแบบที่ดีจึงต้องวางอยู่บนฐานของ ฟังก์ชันที่ชัดเจนและไม่ละเลยหน้าที่ดั้งเดิมของพื้นที่นั้น เช่น ห้องน้ำต้องปลอดภัย สะอาด เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำชาย หญิง หรือแบบไม่ระบุเพศ ขณะที่ห้องสมุดก็ต้องมีบรรยากาศสงบ เงียบ มีพื้นที่สำหรับเด็ก ผู้สูงวัย หรือกลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะ โดยไม่แยกออกจนทำให้ใครรู้สึกว่า “ไม่ใช่พื้นที่ของฉัน”

“การออกแบบ Smart City ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังควรเริ่มต้นที่ “ความเข้าใจ” ก่อนจะไปที่ที่นวัตกรรม ความเข้าใจในสังคม พฤติกรรมของผู้คน และข้อจำกัดเฉพาะพื้นที่คือจุดตั้งต้นของการสร้างระบบเมืองที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากเมืองใดมองเห็นเทคโนโลยีเป็นคำตอบโดยไม่ตั้งคำถามว่าใครเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นได้บ้าง เมืองนั้นก็อาจกำลังกลายเป็น Smart City ที่ฉลาดเฉพาะกลุ่ม เมืองที่มีหัวใจจึงต้องเป็นเมืองที่สามารถใช้เทคฯในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และสร้างความรู้สึก “เป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน” ให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม”

ม.ธรรมศาสตร์ ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเป็นพลังร่วมผลักดันสังคมไทยให้ก้าวสู่ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ทั้งในมิติของกฎหมายและการออกแบบเมือง โดยเชื่อมั่นว่า “ความหลากหลาย” ไม่ใช่เพียงคำขวัญ แต่ต้องแปรเปลี่ยนเป็นหลักการที่ปฏิบัติได้จริง ตั้งแต่การร่างกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมจะยังคงทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เสียงสะท้อน และแรงขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่คนทุกกลุ่มสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ปลอดภัย และเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงในนาม แต่ในทุกย่างก้าวของชีวิตจริง