NEXT GEN

วัน แบงค็อก เซ็น Green Lease กับ Baker McKenzie ครั้งแรกในไทย

11 ตุลาคม 2566… วัน แบงค็อก ถือเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ที่ครบครันใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างมาตรฐานใหม่ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ผู้พัฒนาและบริหารโครงการ “วัน แบงค็อก” ลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานระดับพรีเมียม ร่วมกับ วินท์ ภักดีจิตต์ Managing Partner และ สรชน บุญสอง Partner บริษัท เบเคอร์ แม็คเค็นซี่ จำกัด (Baker McKenzie ) บริษัทกฎหมายระดับโลกซึ่งมี 74 สำนักงานใน 45 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ เบเคอร์ แมคเค็นซี่ประเทศไทยเป็นสำนักงานกฎหมายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนมาตลอด 45 ปี ทางสำนักงานจึงเข้าร่วมเช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน Tower 4 ของโครงการวัน แบงค็อก รวมพื้นที่เช่าประมาณ 10,000 ตร.ม. ด้วยความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จึงได้ตกลงเซ็นสัญญาเช่าแบบสีเขียว (Green Lease) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อันถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับรูปแบบการเช่าพื้นที่สำนักงาน โดยผู้ให้เช่าและผู้เช่าพื้นที่ร่วมกันกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนขึ้นเป็นข้อสัญญาอย่างชัดเจน พร้อมทั้งตั้งแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เริ่มตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงขั้นตอนของการก่อสร้างไปจนถึงการดำเนินงานของอาคาร

อาคารสำนักงาน Tower 4 ของโครงการวัน แบงค็อก

โดยโครงการวัน แบงค็อก และ Baker McKenzie ต่างมีวิสัยทัศน์เดียวกันในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก อธิบายว่า แนวคิดของโครงการเกิดจากความมุ่งมั่นที่จะสร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตั้งใจให้ วัน แบงค็อก ให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนครอบคลุมในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด The Heart of Bangkok เมืองที่ยึดเอา “หัวใจ” ของผู้คนเป็นศูนย์กลาง

เพื่อบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างสภาพแวดล้อมภายในอาคารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนในสำนักงาน โดยมุ่งเน้นการออกแบบพื้นที่สำนักงานเพื่อการใช้พลังงานและน้ำที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดขยะฝังกลบ และการเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่เป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน LEED และ WELL เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยกระดับสุขภาวะของผู้ใช้ ทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจในการทำงานและช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานให้มากขึ้น

Central Utility Plant

การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อุรเสฎฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการมี Central Utility Plant อาคารสาธารณูปโภคล้ำสมัย โดยภายในอาคารมีระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง เช่น ประกอบด้วยระบบทำความเย็น ระบบรักษาความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ ระบบการจัดการน้ำและพลังงาน

“เรามี Central Utility Plant อาคารสาธารณูปโภคที่ทันสมัยมาก โดยภายในอาคารมีระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง เช่น ใช้น้ำเย็นจากศูนย์ทำความเย็นส่วนกลาง หรือ Centralized cooling plant ที่มีประสิทธิภาพสูง ระบบ Smart Grid ในการกระจายไฟฟ้าไปทั่วโครงการ ระบบบำบัดน้ำเสียจากทุกจุดจะมาบำบัดที่อาคาร Central Utility Plant โดยสามารถรีไซเคิลน้ำและนำกลับไปใช้ได้ 75% ในส่วนของสวนและห้องน้ำลดการใช้น้ำประปากว่า 2.7 ล้านคิวบิคเมตรต่อปี เทียบกับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 1000 สระ”

ทั้งหมดควบคุมดูแลโดยศูนย์ข้อมูล หรือ District Command Centre ซึ่งมีเซ็นเซอร์มากกว่า 250,000 ตัว เพื่อเก็บข้อมูลในการบริหารอาคาร ระบบต่างๆ ข้อมูลของการใช้พื้นที่ ข้อมูลเหล่านี้จะเก็บมาประมวลผล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ของเรา มีเจ้าหน้าที่ประจำการ 24 ชั่วโมง มีจอมอนิเตอร์และ Smart CCTV ทั่วโครงการ 5000 จุด

 

โครงการที่มี Net Zero อยู่ในกระบวนการคิดตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 ไร่ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ รวมทั้งมีสวนสาธารณะแนวยาว ขนาดกว้างจากทางเท้าถึงหน้าโครงการถึง 35 – 45 เมตร อยู่ระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ มีทางเท้าที่เดินสะดวก สามารถเดินเข้าถึงทุกพื้นที่ในโครงการได้เพียง 15 นาที  สอดคล้องกับแนวคิด 15-Minute Walking City เทรนด์ใหม่ของการพัฒนาเมืองที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้คน อีกทั้งยังมี Art Loop โดยรอบโครงการกว่า 2 กิโลเมตร เชื่อมโยงผลงานศิลปะสาธารณะ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน

พื้นที่สีเขียวบางส่วนของโครงการ

สิ่งที่กล่าวมา อยู่ใน 3 แกนหลักคือ

-People Centric การยึดคนเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการออกแบบ การวางแนวคิดของโครงการ การก่อสร้าง หรือการจัดการหลังจากเปิดโครงการ จะคำนึงถึงคนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานในโครงการ ลูกค้าที่เข้ามาในโครงการ ต้องคิดให้ครอบคลุมว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้คนที่เข้ามาใช้บริการ มีการบริหารจัดการโครงการที่มีประสิทธิภาพ
-Smart City Living การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบจนถึงโครงการเปิดให้บริการ
-Sustainability ให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านความยั่งยืนเป็นหลักในการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่การออกแบบ การวางระบบของโครงการ การดูแลในช่วงของการก่อสร้าง

การบริหารจัดการสิ่งที่เหลือระหว่างการก่อสร้าง

“เราพยายามศึกษามาตรฐานที่ดีที่สุดที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก และพัฒนาโครงการให้เข้าเกณฑ์ บางโครงการเราเข้าเกณฑ์ตั้งแต่ยังไม่มีมาตรฐานนั้นในเมืองไทย มาตรฐานต่างๆเหล่านี้ถ้ามองในแง่ของความยั่งยืนเราทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ในมุมทางธุรกิจก็ตอบโจทย์ด้วยเช่นกัน เพราะลูกค้าหลายรายโดยเฉพาะลูกค้าสำนักงานจากบริษัทใหญ่ เวลาเขาคัดเลือกสำนักงาน นอกจากหาทำเลที่ดี คุณภาพการออกแบบและการใช้วัสดุที่ดีแล้ว ก็ยังมองด้วยว่าเจ้าของอาคารใส่ใจเรื่อง Sustainability มากน้อยแค่ไหน มีการรับรองมาตรฐานระดับไหน การที่เรามีมาตรฐานเหล่านี้จะได้รับการตอบรับที่ดีกว่า เพราะการที่เขาเลือกเราจะทำให้เขาได้คะแนนในเรื่อง Sustainable ด้วยเช่นกัน ” อุรเสฎฐกล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like