NEXT GEN

5 ปัจจัย ยูนิลีเวอร์ไทย โรงงานเกตเวย์ บรรลุเป้าหมายสำคัญ! ใช้พลังงานหมุนเวียน 100%

25 มิถุนายน 2567…การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของผู้นำ หนึ่งแผน หนึ่งทีม หนึ่งเป้าหมาย การทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกัน โครงสร้างและกระบวนการ การสื่อสารที่ชัดเจน และการฝึกอบรม


พนิตนาถ จำรัสพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวถึงโรงงานเกตเวย์มีความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น “ศูนย์” โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งถือเป็นความท้าทายเนื่องจากต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย

หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือวัฒนธรรมการทำงานของยูนิลีเวอร์ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการทำงานเป็นทีมเดียวกัน ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงร่วมวางนโยบาย แผนงาน สนับสนุน ตัดสินใจทั้งด้านเงินลงทุนและโครงการ ไปจนถึงทีมฝ่ายจัดการ ได้แก่ ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายผลิต ฝ่ายการเงิน และฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น การทำงานร่วมกันเป็นทีมนี้สร้างความมั่นใจได้ว่าแต่ละโครงการที่วางไว้ผ่านการประเมินความเสี่ยงจากทุกฝ่ายอย่างครบวงจร”                                                                                               

พนิตนาถ (ขวา) ในวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร

-การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของผู้นำ: การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากผู้นำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จ เมื่อผู้นำสนับสนุนความคิดริเริ่ม นำไปสู่การสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งทีมและรับประกันความสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรไปพร้อมกัน
-หนึ่งแผน หนึ่งทีม หนึ่งเป้าหมาย: สิ่งนี้เน้นความสามัคคีและการวางแนว เมื่อทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน จะช่วยลดความพยายามและลดความสับสนให้เหลือน้อยที่สุด
-การทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกัน: การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลระหว่างสมาชิกในทีมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และประสิทธิภาพ ทีมที่เหนียวแน่นสามารถบรรลุผลได้มากกว่าความพยายามของแต่ละบุคคล
-โครงสร้างและกระบวนการ: การบูรณาการกระบวนการ ระบบ และแนวทางปฏิบัติขององค์กรทำให้มั่นใจได้ถึงความสม่ำเสมอและความยั่งยืน ช่วยป้องกันการเข้าถึงแบบเฉพาะกิจและส่งเสริมความมั่นคง
-การสื่อสารที่ชัดเจน และการฝึกอบรม: การสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส และการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ รวมถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจและความสามารถในการปรับตัว และให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เป้าหมาย Net-Zero

โรงงานเกตเวย์มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงชีวิตผู้คนจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์แบรนด์คนอร์ (Knorr), คนอร์ สำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ (Knorr Professional), เบสท์ฟู้ดส์ (Best Foods), เฮลล์แมนน์ (Hellmann’s) และ เลดี้ ชอยซ์ (Lady’s Choice) กับเป้าหมายหลักของโรงงานเกตเวย์ที่ไม่เพียงแต่สร้างและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย

โรงงานเกตเวย์ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีโซนการผลิตหลัก 2 โซน คือ

1.โรงงานผลิตซอสแบบแห้ง เน้นการผลิตน้ำซุปเนื้อก้อน ข้าวโจ๊กสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ผสมแห้ง
2.โรงงานผลิตซอสแบบเปียก เน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ซอสและผลิตภัณฑ์น้ำสลัด

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น กัมพูชา ลาว พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศโดยรอบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงออสเตรเลีย

ระบบหม้อต้ม (Boiler) ขนาดใหญ่ 3 ตัน

 

เบื้องหลังของผลิตภัณฑ์จากโรงงานเกตเวย์ที่สำคัญมากคือ พลังงานไอน้ำ ได้พัฒนาระบบหม้อต้ม (Boiler) ขนาดใหญ่ 3 ตัน จากการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง เป็นการใช้หม้อต้มที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมาผลิตพลังงานไอน้ำ โดยในโรงงานเกตเวย์มีหม้อต้มด้วยประเทศไทยมีความโดนเด่นในด้านอุตสาหกรรมเกษตรและมีความยั่งยืนในด้านปริมาณของเชื้อเพลิงชีวมวล

“เราต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดหาแหล่งพลังงานชีวมวลของยูนิลีเวอร์ การหาผู้ผลิตเศษไม้ที่มีแหล่งที่มาของไม้ เศษไม้ และกระบวนการผลิต Wood Pellet รวมถึงการขนส่งที่ผ่านมาตรฐานการจัดซื้อแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งขณะนี้มี 2 บริษัทที่ป้อนวัตถุดิบให้เราได้เฉลี่ยใช้ Wood Pellet เป็นเชื้อเพลิง 100-120 ตันต่อเดือน”

Wood Pellet ที่ใช้เป็นเชิงเพลิงชีวมวล

 

พนิตนาถ ขยายความต่อเนื่อง นื่องจาก Wood Pellet เป็นวัสดุที่ติดไฟได้ดีจึงจัดเก็บในอาคารที่มีขนาดเล็ก และมีการบริหารการขนส่ง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ อย่างไรก็ตาม Wood Pellet หรือเชื้อเพลิงชีวมวลอื่น ๆ ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน คือเมื่อเผาไหม้แล้วจะมีเขม่า และมีฝุ่นออกจากปล่องระบาย ทำให้ต้องติดตั้งระบบบำบัดอากาศโดยโรงงานเกตเวย์ได้ติดตั้งระบบดักฝุ่นด้วยไซโคลน (Cyclone system) และ Wet Scrubber โดยใช้น้ำ พร้อมจัดหาพื้นที่จัดเก็บขี้เถ้า จัดสรรงบประมาณในกำจัดขี้เถ้า การบำรุงรักษาและการตรวจคุณภาพอากาศหลังผ่านระบบบำบัดมลพิษอากาศ เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศที่ปล่อยออกจากปล่องผ่านมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด นอกจากนี้การคำนวณความร้อนในการเผาเชื้อเพลิงให้คงที่แม้จะมีการเปลี่ยนกะทำงานนั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ต้องมีการปรับเปลี่ยนการตั้งค่า เพื่อให้ระบบทำงานอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ทักษะทางเทคนิคของผู้ดูแลเครื่องกำเนิดไอน้ำเชื้อเพลิงชีวมวลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 

หลังคาในโรงงานเกตเวย์

นอกจากนี้ โรงงานเกตเวย์ โฟกัส พลังงานไฟฟ้า ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนอาคาร (Solar Roof) มุ่งเน้นไปที่การควบคุมพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดบนอาคารที่มีกำลังผลิตพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนจำนวน 560 กิโลวัตต์ (หรือ 0.56 MWP) พร้อมกันนี้ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการใช้สารทำความเย็นที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นสารคาร์โรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) หรือ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) เช่น R22 R304 และ R407 ซึ่งใช้ในระบบทำความเย็นที่มีปริมาณในระบบมากกว่า 5 กิโลกรัม โดยโรงงานของยูนิลีเวอร์ได้ทำการเปลี่ยนเป็นสารทำความเย็นทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังคงมีประสิทธิภาพดี ตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา

 

“ภายใต้ Scope1,2 ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย โรงงานเกตเวย์ถึงเป้าหมาย ตั้งแต่ธันวาคม 2564 จนได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในโรงงานยูนิลีเวอร์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จับต้องได้ของโครงการริเริ่มที่ยั่งยืน ยูนิลีเวอร์เดินหน้าขยายความสำเร็จสู่ก้าวต่อไปยังโรงงานมีนบุรี โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากประสบการณ์ในอดีต และแปลให้เป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ด้วยเหตุนี้ โรงงานมีนบุรีจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งโรงงานสีเขียวในพอร์ตโฟลิโอของยูนิลีเวอร์ ทั้งนี้ยูนิลีเวอร์ยังแบ่งปันองต์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรที่สนใจ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย” พนิตนาถกล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like