NEXT GEN

Green Electronics แรงกดดันด้าน ESG และขยะอิเล็กทรอนิกส์

18 มกราคม 2567…SCB EIC เผยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังเผชิญกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงภายใต้แรงกดดันในด้าน ESG รวมทั้งปัญหาปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและกระแสรักษ์โลก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังเติบโตไปพร้อมกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น จากรายงานของ IDTechEx ปี 2022 พบว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 4% ของสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบผลิตภัณฑ์และกฎหมายท้องถิ่นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกยกเลิกการใช้งานผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงปัญหาปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศและก่อให้เกิดการปล่อยสารเคมีอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยจากข้อมูลของ The global e-waste monitor คาดการณ์ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 59.4 ล้านเมตริกตันในปี 2022 มาอยู่ที่ 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 2030 หรือมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยราว 2 ล้านเมตริกตันต่อปี

แรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ได้กลายเป็นแรงผลักสำคัญให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากความตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงเทรนด์การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการวางกลยุทธ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Future market insights ที่คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 177.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2033 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 26.14% ต่อปี

ยิ่งไปกว่านั้นภาคธุรกิจยังมีแนวโน้มที่จะลงทุนด้าน Green technology มากขึ้น

 

ตัวอย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่ีใส่ใจส่ิงแวดล้อม

แนวโน้มการลงทุนใน Green technology จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี ได้แก่ 1) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ตัวเก็บประจุเซรามิกแบบหลายชั้น (Multilayer ceramic capacitors) ซิลิคอนเวเฟอร์ และฟิล์มสำหรับชิป (ABF) 2) การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง (Advance chips) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Power chips, Analog chips และ Memory chips เป็นต้น และการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับบริหารจัดการพลังงาน (Power management) เช่น มอเตอร์ แบตเตอรี่สำรอง (Storage batteries) และระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverters) สำหรับการแปลงกระแสไฟฟ้า และ 3) การผลิตสินค้าขั้นปลาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ตโฟน Data centers เซิร์ฟเวอร์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน

SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวควรมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับ Eco partner มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนในอนาคต

สำหรับแนวทางในการปรับกลยุทธ์ไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่

1.การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Material selection) โดยจะต้องเป็นวัสดุที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำหรือเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ อย่างเช่น อะลูมิเนียม (Aluminium) แก้วทนความร้อนสูง (Borosilicate glass) และเหล็กผสมโลหะ (Iron alloy) ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

2.การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน (Energy efficiency) เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม

 

มูลค่าตลาดการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โลก

3.การวางแผนการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือการรีไซเคิล การควบคุมการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สำหรับในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยกรมควบคุมมลพิษได้ออกแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศซึ่งรวมไปถึงการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอีกด้วย

4.การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ทั้งการลงทุนและการสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาร่วมกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

5.การพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับแนวโน้มการลงทุนในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก จะต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ด้าน ESG อย่างจริงจัง โดยเน้นการวางแผนกลยุทธ์ในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ เริ่มตั้งแต่การควบคุมการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสากล การออกผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงาน ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Electronics)

ยิ่งไปกว่านั้นนอกจากการปรับตัวของผู้ประกอบการแล้ว ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทางจากฝั่งของผู้ผลิตไปจนถึงปลายทางคือฝั่งของผู้บริโภค ซึ่งภาครัฐจะมีส่วนผลักดันในการสร้างระบบการบริหารจัดการและสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างเครือข่ายการรับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชน รวมไปถึงการให้ส่วนลดในการซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแยกขยะที่ถูกวิธี เพื่อที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยั่งยืนไปด้วยกันในอนาคต

 

You Might Also Like