NEXT GEN

SB’23 BANGKOK CHANTHABURI Regenerating Local Food & Future

17 พฤศจิกายน 2566… กลับมาจัดงานแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งสำหรับ SB’23 BANGKOK ซึ่งปีนี้มาพร้อมกับแนวคิด “Regenerating Local Food & Future” แนวคิดที่พยายามจะฟื้นคืน และสร้างมูลค่าให้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อส่งมอบคุณค่าที่มากกว่าเดิม เพื่อให้แบรนด์มองหาการปรับปรุงระบบวิถีการขับเคลื่อนในแนวทาง regenerative ฟื้นคืนสมดุลโลก สร้างอนาคตที่ทุกชีวิตทั้งคนและธรรมชาติมีความยั่งยืน โดยปีนี้นอกจากงานสัมมนาที่กรุงเทพแล้ว SB ประเทศไทยยังจับมือกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี จัดงาน Regenerating Local Food & Future เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงด้วย

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ SB ประเทศไทย นำแนวคิด Regenerative หรือแนวคิดการ “ฟื้นคืน” เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงให้กับทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติที่ต้องดำรงอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล โดยเลือกความสำคัญของธุรกิจอาหารซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเทศ เพราะถ้าระบบอาหารมีการเปลี่ยนแปลงและแข็งแรงแล้ว เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้

“เมื่อธุรกิจเริ่มต้นเราอยู่ในขั้นที่เรียกว่า Convention ซึ่งก็มีเสียงบ่นว่าทำไม่ดี จึงเริ่มเข้าสู่ยุคของ Green คนเริ่มลุกขึ้นมา Friendly กับธรรมชาติมากขึ้น เกิด Eco Friendly จนเข้าสู่ยุคที่ทำอะไรเพื่อความยั่งยืนหรือ Sustainable มากขึ้น เกิด SDGs ขึ้นในพัฒนาการด้านความยั่งยืนขั้นนี้ เพื่อให้บริษัทต่างๆยึดเป็นเป้าหมายหลักที่เป็นสากล จนเมื่อโควิด-19 จบลงคนเริ่มมองว่าบางทีอาจถึงเวลาที่จะต้อง Restored บางสิ่งบางอย่างกลับมาเพราะโควิด-19 ทำให้เรารู้ว่ามนุษย์ได้ทำร้ายโลกใบนี้อย่างมาก ถึงเวลาที่คนจะต้องเคารพธรรมชาติ และนำธรรมชาติกลับมา แนวคิด Regenerative จึงเป็นเรื่องของพัฒนาการด้านความยั่งยืนมากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง”

วิทยากรที่ลงมือทำงาน Regenerating จากฝรั่งเศส สเปน และไทย ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ในวันแรกที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ดร.ศิริกุล ให้ทัศนะว่าในยุคที่คนพูดถึงความยั่งยืน ก็ยังมีคำว่า Humen Centric โดยลืมไปว่ามนุษย์เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆในระบบจักรวาล การให้ความสำคัญกับมนุษย์เพียงอย่างเดียวจึงทำให้เกิดปัญหาเช่นทุกวันนี้

“วันนี้เราจึงจำเป็นต้องนำทุกอย่างกลับมา มนุษย์มีหน้าที่เยียวยาและกอบกู้ธรรมชาติ การจะก้าวเข้าสู่ยุค Regeneration ต้องเคารพธรรมชาติ ถึงเวลาที่เราคิดมากกว่าการเลียนแบบธรรมชาติ แต่ต้องดูว่าธรรมชาติทำงานแบบไหน แล้วอย่าเอาเทคโนโลยีหรืออย่าเอาความเป็นคนมาเอาชนะธรรมชาติ ธรรมชาติและพลังของสถานที่จะเป็นตัวบอกเราว่ากลยุทธ์ที่จะใช้ทำธุรกิจต่อไปต้องเป็นแบบไหน พลังของสถานที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนที่อาศัยอยู่ ดังนั้นเราจะโฟกัสที่โอกาสมากว่าปัญหา โดยใช้จันทบุรีเป็นต้นแบบของเรื่องนี้โดยหาว่าพื้นที่เมืองจันท์มีศักยภาพแค่ไหนมากกว่ามองว่าเมืองจันท์มีปัญหาอะไร ”

Marc Buckley นำ Workshop เรื่อง The Regenerative Food System : Food That Save The Future

มาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) นักคิด และนักปฏิบัติการด้านอาหารและตัวแทนความยั่งยืนจาก UN SDG เสริมว่าทุกคนจะเข้าใจแนวคิดของการฟื้นสร้างคุณค่าในด้านต่างๆ หรือ Regeneration ถ้าพูดเรื่องอาหาร และระบบนิเวศน์ของอาหาร สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของอาหาร ก็คือ ภาคเกษตรกรรมทั้งการปลูกพืชพันธุ์และการทำฟาร์มต่างๆ Regenerative Agriculture จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกคนต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้และลงมือแก้ปัญหาทั้งระบบ การเกษตรเพื่อฟื้นฟู เพื่อสร้างคุณค่า วิธีการจึงไม่ใช่แค่รักษาสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้หมดไป แต่ยังนำสิ่งที่หายไปให้กลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์ ผ่านกระบวนการต่างๆ อาทิ การพลิกฟื้นคุณภาพดินที่ถูกทำลายไป การเพิ่มความหลากหลายในผืนดิน การลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดคาร์บอนต่างๆ รวมทั้งพัฒนาวงจรการใช้น้ำในการทำการเกษตร เป็นต้น

“Regeneration เริ่มต้นจากคนเล็ก ๆ ได้ แล้วขยายออกไปสู่ชุมชน เช่น นักธุรกิจที่อยู่ในโครงการพอแล้วดี ธุรกิจเล็กๆที่เข้ามาร่วมออกร้านในตลาดศิวาเทล มาร์เก็ต คนเหล่านี้สามารถขยายแนวคิด Regeneration ออกไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเราจะนำแนวคิด Regeneration เข้าไปอยู่ในธุรกิจได้อย่างไร คำตอบก็คือการทำธุรกิจที่ไม่ทำร้ายสุขภาพเราเอง ไม่ทำร้ายโลกผ่านการทำเกษตรแบบออแกนิก ผลิตอาหารที่เป็นออแกนนิก เพื่อกลับไปดูแลสุขภาพของเรา ของดิน และของโลก เราจะได้ยินคำว่า Symbiosis บ่อยขึ้น คำนี้หมายถึงการเชื่อมสัมพันธ์กันของทุกชีวิตในโลกไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ธรรมชาติ โมเลกุลต่างๆ ซึ่งอยู่ด้วยกันด้วยความเกื้อกูล นี่คือคำว่า Regeneration ดังนั้นเรื่อง Regeneration ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องนี้อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว”

Jenny Andersson นำ Workshop เรื่อง The Regenerative Future : Real Business Cases

ในขณะที่เจนนี่ แอนเดิร์สสัน (Jenny Andersson) ซีอีโอจาก We Activate The Future, ผู้ร่วมก่อตั้ง The Really Regenerative Centre พูดถึง “The Regenerative Future : Real Business Cases” ไว้น่าสนใจว่า วันนี้เราทำลายเมืองของเราโดยไม่รู้ตัว ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ เพื่อรายได้ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว การพัฒนาศักยภาพของเมือง ของสถานที่ คือ การพัฒนาสถานที่ พัฒนาเมืองผ่านการฟื้นฟู การหาหัวใจของสถานที่ ของเมืองที่โดนทำลายไปให้ฟื้นคืนชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีพลวัต (Dynamic) และช่วยกำหนดรูปแบบให้ เมือง สถานที่ ให้ประเทศไทยหรือชุมชนท้องถิ่นดีขึ้นได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

“เราจะเรียนรู้ร่วมกันถึงหลักการพื้นฐาน ที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ที่ไม่เพียงแต่แค่ดำรงชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่เพื่อการดำรงของทุกชีวิตรอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ธรรมชาติในระดับโมเลกุล อย่างเกื้อกูลกันเพราะแนวคิด Regenerative Placemaking เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิด และ สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมโดยรอบอย่างสม่ำเสมอตลอดไป”

ดร.ศิริกุล กล่าวสรุปในหัวข้อ “Role of The Regenerative Brands” ว่า ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กรในการกำหนดกลยุทธ์ การผลิตสินค้า การทำการตลาด และการสื่อสาร แล้วองค์กรจะรู้ได้ อย่างไรว่า เส้นทางที่กำลังดำเนินอยู่นั้นเป็นเส้นทางที่ถูกทางหรือหลงทาง

ในห้อง Workshop เรื่อง Role of The Regenerative Brands

SB Worldwide จึงได้ออกแบบเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยธุรกิจ และ แบรนด์ในการวัดระดับความยั่งยืนภายในของแบรนด์ ของธุรกิจ ขององค์กร ของตนเองอย่างเจาะลึก ภายใต้ชื่อ SB Brand Transformation RoadmapTM (SB BTR) เครื่องมือนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้นำ ในการสร้างแบรนด์ระดับโลกพัฒนา เพื่อให้องค์กรสามารถประเมิณตนเองผ่านชุดคำถามออนไลน์ครอบคลุม 5 แกนหลัก ของแบรนด์ที่ยั่งยืนคือ Purpose, Brand Influence, Operations & Supply Chain, Products & Services และ Governance ซึ่งทาง SB Thailand ได้ทำการเปิดตัวทดลองกับ 5 แบรนด์ใหญ่ของประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้กับทุกแบรนด์ที่สนใจ ในต้นปี 2567

เนื้อหาเกี่ยวข้อง

You Might Also Like