NEXT GEN

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูแผน ESG เป็น 1 ในกลยุทธ์ 4 ด้าน สอดคล้องกับทุก Stakeholders

13-14 กุมภาพันธ์ 2566…นี่คือแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) การยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน (Merge ESG with substance) ทั้งในและนอกองค์กรให้ความรู้นักลงทุน การให้ความรู้ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ การใช้หลักดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การสร้างให้เกิดโซเชียลเอนเตอร์ไพร์ส

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค แผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายการเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรมตลาดทุน สังคม และประเทศ เพื่อสร้างโอกาสที่มากกว่าเพื่อทุกคน (Growth for Business, Industry, Society) ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Environment-linked) ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านการเงินของคนไทย

“เรื่องความยั่งยืนด้วยแนวทางการทำงาน ESG ปัจจุบันมีการพูดถึงมากขึ้น แม้กระทั่งสื่อเองก็มีการนำเสนอข่าว ESG ไม่น้อย หลายครั้งจะเห็นข่าวด้าน ESG ทุกวัน สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ความแตกต่างในเรื่องนี้ของปี 2566 กับทุกปีคือ เราพูดเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในแผนเราเลย เมื่อก่อนเราบอกว่าส่งเสริมให้คนอื่นทำเรื่องความยั่งยืน ต่อไปนี้เราจะต้องมีแผนเพื่อความยั่งยืนในการทำธุรกิจเราเองด้วย เพื่อสอดคล้องกับความยั่งยืนของ Stakeholders เราทั้งหมด”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ และ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เริ่มที่ E หรือ Environmental

แนวทางที่ดำเนินการมายังดำเนินการต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากรด้าน ESG ในตลาดทุนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มี ESG Champion ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่าน ESG Academy และพัฒนา Climate Care Platform ให้ครอบคลุมฟังก์ชันการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมต่อพันธมิตร

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ Cloud และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ Data Center (Green Data Center)

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขยายความเพิ่มเติม ESG Academy เพื่อสร้างการจดจำ และสร้างองค์ความรู้เพื่อการปฏิบัติ 3 กลุ่มสำคัญคือ

1.กลุ่มกรรมการบริษัทจดทะเบียน เพราะเรื่อง ESG ต้องการให้เกิด Tone on the Top กรรมการบริษัทต้องเป็นคนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
2.กลุ่มบุคลากรในตลาดทุน เพราะหลายฟังก์ชั่นเริ่มใช้ ESG มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ IR
3.กลุ่มสุดท้ายเป็นเรื่อง Public เพราะว่าท้ายที่สุดการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ประชาชน และวงการศึกษาด้วย

“Climate Care Platform เป็นเรื่องที่ตลาดทำมาระยะหนึ่งแล้วคือ Care the Bear, Care the Whale, Care the Wild เป็นจุดรวมของการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และเราอยากให้บริษัทที่เข้ามาร่วมได้ข้อมูล รวมถึง Feedback ด้วย คือผลจกการปลูกป่าเติบโตอย่างไร เขาSave คาร์บอนได้เท่าไหร่ การจัดการขยะเป็นอย่างไร เช่นในทริปนี้ประหยัดเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้สามารถรายงานใน One Reportได้ สุดท้ายตลาดหลักทรัพย์ฯเอง จะมุ่งสู่การทำ Net Zero ด้วย ซึ่งเราจะได้ร่วมส่งต่อความรู้นี้ให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย”

Care the Wild หลังจากมา Kick Off พื้นที่ป่าต้นน้ำ บ้านเวียง ร้องกวาง แพร่ 91 ไร่ เมื่อกลางปี 2565 ชุมชนก็มีการจัดการบริหารน้ำ เพื่อดึงน้ำขึ้นไปใช้ เก็บไว้บนถังบรรจุน้ำรวม 6 พันลิตร แบ่งในจุดแรก 4 พันลิตร จุดที่สอง 2 พันลิตร เพราะข้างบนที่ปลูกต้นไม้เป็นพื้นที่เขาหัวโล้น ดังนั้นจะต้องดึงน้ำจากพื้นที่ขุดขึ้นมาใหม่ เรียกว่าฝายแบบแกนดินซีเมนต์เป็นฝายสร้างได้รวดเร็วราคาถูกมีความแข็งแกร่งกักเก็บน้ำได้ โดยฝายแกนดินซิเมน์มีแกนลึกลงไปใต้ดินอย่างน้อย 2 เมตรลึก สุด 4 เมตรไปเข้าที่ฝั่งซ้ายขวาอีก 3 เมตร ซึ่งจะเป็นเรื่องการกักน้ำไม่ให้รอดใต้ทราย จะชุ่มชื้นกระจายไปด้านข้างได้ด้วย (คลิกภาพอ่านข่าววัน Kick Offและชมคลิป https://youtu.be/Gke45PfOuX4)

นอกจากนี้ ชุมชนยังสร้างฝายซอยซีเมนต์ไว้ในจุดต่าง ๆ เพื่อสร้างความชุ่มชิ้นให้ดิน โดยใช้ดินในพื้นที่ 15 ส่วน ปูนซิเมนต์พอร์ตแลนด์ 1 ส่วน ปั้นได้เลย ไม่ต้องมีแบบ ทั้งนี้ฝายทั้ง 2 แบบผู้ใหญ่บ้านอธิบายว่า เรียนรู้จากการบริหารจัดการน้ำของอบจ.แพร่ ฝายแบบนี้เมื่อทำแล้ว มีอายุการใช้งานนานกว่า ไม่ต้องใช้งบมาก ไม่ต้องทำทุกปีแบบฝายกระสอบทราย ซึ่งน้ำมาก็พัง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การดึงน้ำขึ้นไปใช้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ บ้านเวียง ร้องกวาง แพร่ 91 ไร่ ผ่านโครงการ Care the Wild: “ปลูกป้อง Plant & Protect” นั้น ยังใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่อง ซึ่งทางโครงการฯมีแผนจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากโซลาร์ เร็ว ๆ นี้ โดยชุมชนจะเป็นผู้ดูแลต่อไป

มาถึงด้าน S หรือ Social

เรื่องของ Financila Literacy ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งมาถึงปัจจัยสถานการณ์โควิด-19 คนเป็นหนี้มากขึ้น และการหลอกลวงทางไซเบอร์ก็มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการให้ความรู้ก็มีมากขึ้นเช่นกัน สิ่งที่ต้องทำต่อไปที่ต้องเน้นคือใช้ อีเลคทรอนิกส์มากขึ้น ช่วงโควิด-19 มีคนเข้ามาดู 2 ล้านกว่า ก็จะเป็นโอกาสในการเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น เรื่องต่อมาต้องทำกับพันธมิตรมากขึ้น ปีที่ผ่านมาทำกับกยศ หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึง โดยตลาดหลักทรัพย์เองฯมีคอนเทนต์ หลายหน่วยงานมีช่องทาง สุดท้ายเราจะเจาะกลุ่ม Young Gen กลุ่มใกล้เกษียณ จะต้องเก็บเงินเพราะคนอายุยาวขึ้น

ส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่วัยเกษียณและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จัดให้มีการวัดระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยเพื่อพัฒนาเนื้อหาและช่องทางที่ตอบโจทย์

“การทำเรื่องการเงินจะมีเรื่องการสร้างการรับรู้ เราทำค่อนข้างมากแล้ว สิ่งสำคัญจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรม เรา Approch หลากหลาย เราไม่ทำคอนเทนต์ที่เป็นMass เราทำคอนเทนต์ที่ Customize เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม เด็ก วัยทำงาน เกษียณ จะเป็นคนละแบบเลย นอกจากคอนเทนต์ที่เปลี่ยนแล้ว เป็นเรื่องรูปแบบ จัดสัมมนาไม่น่าสนใจ เพราะคนจะใช้ดิจิทัลและสั้นขึ้น เรื่องนี้เราทำคนเดียวไม่ได้ต้องใช้พาร์ทเนอร์ กยศ.ทำเรื่องเด็กกู้ยืม หรือแบงก์รัฐ แบงก์ชาติ เขาก็จะมีกลุ่มที่เขากระจายออกไปได้ และสิ่งที่เราพยายามทำอีกเรื่องหนึ่ง คือเราทำเป็นเพลย์ลิสต์ เช่นรู้ว่าอยากเรียนแต่ไม่รู้ว่ามีช่องว่างตรงนั้น จะทำเป็นออนไลน์ เมื่อตอบคำถามแล้วเขาจะรู้ว่าต้องเรียนอะไรเพิ่ม สมมติว่าเรารู้ว่าเรารู้เรื่องกองทุนหรือประกันน้อย เมื่อเราเห็นช่องว่างตรงนั้น มันจะลิงค์ไปสู่คอนเทนต์ตรงนั้นเลย สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการติดตาม ประเมินหลังจากเราปรับ ซึ่งเราต้องปรับไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ทำปีเดียวจบ”

ดร.ศรพล ขยายความต่อเนื่องถึง กลุ่มเกษียณคือ กำลังจะเกษียณ หรือเกษียณแล้ว แต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเริ่มทำงานจะมีหนี้มาด้วย อาจจะเป็นหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เมื่อทำงานก็เป็นการวางแผนเพื่อชีวิตครอบครัว ส่วนคนเกษียณจะเป็นกลุ่มใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เจาะลึก เพราะเมื่อเกษียณแล้วจะมีเงินก้อนหนึ่งปัจจุบันมนุษย์อายุยืนขึ้น ดังนั้นจะบริหารจัดการตรงนี้อย่างไร ขณะเดียวกันการหลอกลวงทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นกลุ่มนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน

คลิกภาพเข้าหน้าหลักวางแผนเรื่องเงิน

อีกเรื่องหนึ่งในด้านนี้คือ การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโดยจะมุ่งเน้นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ผ่าน LiVE Platform และกระบวนการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) รวมทั้งร่วมกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน จะมีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขับเคลื่อนตลาดทุนสู่อนาคต

สุดท้ายด้าน G หรือ Governance

เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพให้สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนี้ จะขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังองค์กรต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว ทั้งนี้ ด้านกระบวนการภายใน ดำเนินการเตรียมพร้อมยกระดับการบริหารความเสี่ยงองค์กร พร้อมนำเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงวิเคราะห์มาพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนอีก 3 แผนกลยุทธ์ ทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยใช้ง่ายได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุนไทยหรือต่างประเทศ ทั้งขนาดเล็ก,กลาง,ใหญ่ ลงทุนในผลิตภัณฑ์หลายประเภท เรื่องต่อมาทำอย่างไรให้ผู้ร่วมตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถขยายการบริการได้มากขึ้น โดยทำให้บจ.มีโครงสร้างที่ดี มีความคล่องตัว สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้นักระดมทุนได้ง่ายสะดวก และเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด”

ดร.ภากรกล่าวในท้ายที่สุดถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ กับแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้านที่กล่าวมาข้างต้น

 

You Might Also Like