NEXT GEN

เปิดลายแทง 19 เส้นทางท่องเที่ยวเมืองรอง ต่อยอดแนวคิด “การท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์” สู่ยุทธศาสตร์ใหม่การท่องเที่ยว

30 กันยายน 2565…ความท้าทายหนึ่งของประเทศไทยที่เผชิญมาตลอด 4 ทศวรรษนับตั้งแต่การเปลี่ยนประเทศเข้าสู่โลกยุคอุตสาหกรรมคือ “ความเหลื่อมเชิงพื้นที่” เศรษฐกิจของไทยใน 2563 หรือก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีมูลค่า 16.9 ล้านล้านบาท โดยปรากฏว่า 70% ของจีดีพีมากจากการผลิตสินค้าและบริการจาก 15 จังหวัดนี้เท่านั้น ซึ่งได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา และขอนแก่น ขณะรายได้ที่เหลืออีก 30% มาจาก 62 จังหวัดที่เหลือ

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวถึงที่มาว่า ดีแทคได้ร่วมมือกับ สถาปัตย์ จุฬาฯ บุญมีแล็บ เพื่อวิจัย “ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data” โดยเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนในการนำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทย์ของการวิจัยในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่ ‘การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว’ หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ข้อมูล” เชิงพฤติกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ Mobility data ที่มีข้อได้เปรียบและศักยภาพมหาศาล โดยเฉพาะความสามารถในการประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ได้หลากหลายระดับ

เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดถึง “เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ” พบว่า 15 จังหวัดหลักมีสร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวถึง 88% ขณะที่ 62 จังหวัดรองมีสัดส่วนต่อภาคการท่องเที่ยวเพียง 12% เท่านั้น

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า นับตั้งแต่ยุคบุกเบิกถึงยุครุ่งเรื่องของการท่องเที่ยวไทย การเติบโตด้านการท่องเที่ยวเผชิญกับปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่มาโดยตลอด นักท่องเที่ยวมีการกระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการกระจุกตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาชี้ให้เห็นว่า ระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 วัน ซึ่งคาดการได้ว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยส่วนใหญ่ยังขึ้นอยู่กับวันหยุดยาว 3 วัน 2 คืน หรือ 2 วัน 1 คืน ในขณะเดียวกันข้อมูลจากการวิเคราะห์ mobility data เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยความร่วมมือของดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บเองก็ชี้ให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปเช่นเดียวกัน และยังพบว่ามีการจับกลุ่ม (คลัสเตอร์) ของจังหวัดที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางไปเยือนในทริปเดียวกัน กล่าวคือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเชียงใหม่ก็มักเดินทางไปยังลำพูนและลำปางด้วย หรือเดินทางไปพิจิตรก็เดินทางไปกำแพงเพชรด้วย โดยในการวิเคราะห์ในครั้งนี้พบว่า มีคลัสเตอร์ที่มีจังหวัดเมืองรองเป็นสมาชิกอยู่ด้วย

“ผลการวิเคราะห์การเดินทางท่องเที่ยวโดย mobility data ทำให้เห็นถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดเมืองรองกับจังหวัดโดยรอบ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด เพื่อเพิ่มการเดินทางแบบพักค้างและกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว

การจัดกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว
ผ่านพฤติกรรมการเดินทาง

จากแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ 2564-2565 จัดทำโดยคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานและแก้ไขปัญหาภาคการท่องเที่ยวจากวิกฤตโควิด-19 รวมถึงการสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้งในมิติของพื้นที่ เวลา กิจกรรม รูปแบบ และกลุ่มนักท่องเที่ยว เพื่อการสร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์คือ แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว 15 เขต โดยแบ่งตาม “จุดขายร่วมและเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว” เช่น เขตการพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล เขตการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชิตลุ่มน้ำโขง ได้แก่ หนองคาย เลย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร เป็นต้น

แต่เขตการพัฒนาการท่องเที่ยวสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ หากมีข้อมูล mobility data ช่วยเสริมการวางแผนพัฒนา เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทำการวิเคราะห์การจับกลุ่มคลัสเตอร์ของจังหวัดเมืองรองกับจังหวัดโดยรอบผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด พบว่าการจับกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีเมืองรองเป็นสมาชิกสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย19 กลุ่มจังหวัด ได้แก่

-กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ประกอบด้วย 9 กลุ่มจังหวัด
-กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรองอยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ประกอบด้วย 4 กลุ่มจังหวัด
-กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง ประกอบด้วย 5 กลุ่มจังหวัด
-กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียง 2 จังหวัด มีจำนวน 1 คู่

ผลการวิเคราะห์จาก mobility data พบว่า มี 7 กลุ่มจังหวัดที่ถือว่าศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์ เนื่องจากมีปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัดในระดับสูงมาก ได้แก่

1.นครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา (กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก)
2.ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
3.ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
4.บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระบุรี (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
5.สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก (กลุ่มเพื่อนเมืองรอง)
6.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
7.กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี (กลุ่มเพื่อนเมืองรอง)

“จริงๆ แล้วทั้ง 19 กลุ่มจังหวัดที่มีเมืองรองเป็นสมาชิกสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบ ‘คลัสเตอร์’ ผ่านการสร้างเรื่องราวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรม และเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด รวมถึงการจัดทำโปรโมชั่นส่วนลดร้านอาหาร โรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างจังหวัด หรืออาจพัฒนาไปถึงการสร้าง token สำหรับการท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มจังหวัดได้ด้วย” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ เสนอไอเดีย

ผลการวิเคราะห์สร้างความประหลาดใจให้กับคณะผู้วิจัยอยู่พอสมควร เนื่องจากตามความเข้าใจโดยปกติแล้วบางกลุ่มจังหวัดดูเหมือนจะอยู่ไกลกันเกินไปกว่าที่จะจับเป็นกลุ่มคลัสเตอร์การท่องเที่ยวได้ ตัวอย่างเช่นกลุ่มจังหวัดเพชรบุรี-ประจวบ-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ซึ่งดูเผินๆ อาจเป็นเส้นทางการเดินทางที่ไกล แต่เมื่อลองค้นหาข้อมูลที่นักท่องเที่ยวแชร์ประสบการณ์การเดินทางผ่านสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ต่างๆ แล้วจะพบว่า เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่มีนักท่องเที่ยวจากภาคกลางและกรุงเทพมหานครขับรถผ่านไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งพบว่า นักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางนี้มักแวะพักจุดแรกที่เมืองเก่า เพชรบุรี เพื่อหาของอร่อยกินและเยี่ยมชมวัดวัง จากนั้นเดินทางไปแวะพัก 1 คืนที่อำเภอหัวหินหรือปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จึงค่อยๆ ลัดเลาะค้นหาร้านอร่อยในจังหวัดชุมพร จนไปจรดปลายทางและพักค้างที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 1-2 คืน ก่อนเดินทางกลับ

โอกาสจากภูมิทัศน์ใหม่
การท่องเที่ยว

ผลการวิเคราะห์ Mobility data ที่ทำให้เห็นพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวเป็นกลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) ในครั้งนี้ ถือเป็น “โอกาส” ในการขยายฐานนักท่องเที่ยวผ่านภูมิทัศน์แบบใหม่ โดยไม่ได้ยึดถือกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางและมุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใช้การเดินทางทางอากาศเป็นหลักเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดรอบข้าง และอาจทำให้จังหวัดเมืองรองสามารถสร้างกลยุทธ์การตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่มคนชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบ Road trip กลุ่มนักเดินทางแบบครอบครัว ซึ่งการท่องเที่ยวรูปแบบนี้เป็นแนวโน้มที่มาแรงในยุคหลังโควิด-19

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองยังคงมีลักษณะ one size fits all และกระตุ้นฝั่งดีมานด์เป็นหลัก เช่น นโยบายลดภาษีผ่านการท่องเที่ยว มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น แต่ด้วยความหลากหลายทางการท่องเที่ยวของเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด นโยบายแบบที่เป็นที่เป็นลักษณะ Top down อาจทำให้แต่ละจังหวัดไม่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่นัก ผลการวิเคราะห์ข้อมูล Mobility data ช่วยให้นโยบายการพัฒนาเมืองรองสามารถสร้างความสมดุลทางการท่องเที่ยวระหว่างฝั่งดีมานด์และซัพพลายได้เป็นอย่างดี

“การท่องเที่ยวในประเทศยังมีโอกาสอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ Mobility data ช่วยให้เรามองเห็นพฤติกรรมการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น และทำให้แต่ละจังหวัดเห็นศักยภาพของตัวเองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดเตรียมยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไปตามศักยภาพของตัวเองและกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดมายังจังหวัด การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถให้กับแต่ละท้องถิ่นในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้การท่องเที่ยวเป็นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างถ้วนหน้า” หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวทิ้งท้าย

 

You Might Also Like