NEXT GEN

สภาพอากาศสุดขั้ว ยุโรปร้อน 40 องศา!? เดือนเมษายนประเทศไทยอากาศเย็น!? เกี่ยวโยงแรงกดดันทางอ้อมการค้ากับ EU

21 กรกฎาคม 2565…ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้สร้างความเสียหายและเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นความสำคัญของการลดภาวะโลกร้อนมากขึ้น

สหภาพยุโรป (EU) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลง 50-55% ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมาตรการ CBAM เป็น 1 ใน มาตรการสำคัญของ European Green Deal ที่สหภาพยุโรปจะนำมาปรับใช้

CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม

การปรับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้าเข้าเกณฑ์การพิจารณาค่าคาร์บอนในระยะแรก อาจกระทบสินค้าส่งออกของไทยไป EU มูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท และในอนาคตอาจมีการปรับเพิ่มสินค้าที่จะถูกนำมาพิจารณาตามเกณฑ์ CBAM อีก ได้แก่ refinery products/ organic chemicals/ hydrogen/ ammonia และ plastic polymers ซึ่งรัฐสภายุโรปได้รับรองร่างกฏหมายนี้แล้วเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุถึงการลดระยะเวลาการบังคับใช้แบบเปลี่ยนผ่านลง จาก 3 ปี เป็น 2 ปี ทั้งนี้ต้องรอติดตามประกาศรายละเอียดอย่างเป็นทางการต่อไป

มาตรการ CBAM เสมือนเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้

 

You Might Also Like