NEXT GEN

สัมมนาออนไลน์ Future Thailand – Innovation in Education and Workforce Development เผยความต้องการภาคเอกชนต่อบุคลากรด้านการศึกษา เพื่อยกระดับพนักงานในโลกดิสรัปชั่น

4 มิถุนายน 2564….เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และโควิด-19 จะพลิกโฉมหน้าให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล การเตรียมความพร้อมให้กับตลาดแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย

Stanford Thailand Research Consortium (STRC) ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development: SCPD) โดยการร่วมลงทุนของ เอพี-เอไอเอส-กสิกรไทย จัดสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Future Thailand – Innovation in Education and Workforce Development” ร่วมกับคณาจารย์ นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำในประเทศไทย ชี้ทางออกในการยกระดับการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

เพื่อเตรียมพร้อมรับโลกอนาคตที่ถูกดิสรัปชันมากขึ้นเรื่อย ๆ นักศึกษาที่กำลังจะเติบโตไปเป็นแรงงานในอนาคตจะต้องรู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าทักษะอะไรที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นและทักษะอะไรที่จะลดบทบาทความสำคัญลง

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป มีความเชื่อว่าในอนาคตเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะกลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญในการทำงานขององค์กร ดังนั้นพนักงานต้องเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ สมองกล และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อประยุกต์เข้ามาใช้ในการทำงาน

“ปัจจุบัน KBTG พยายามพัฒนา AI ที่จะสร้างโปรแกรมเองด้วยซ้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานของเราเรียนรู้และมีทักษะการทำงานกับเครื่องกล แต่การพัฒนาความรู้และทักษะต่างๆ คือส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะโจทย์ที่ทุกบริษัทจะต้องเจอคือการได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีในอีก 10 ปีข้างหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อเนื่องสม่ำเสมอ และก้าวกระโดดในบางครั้ง พนักงานต้องเรียนรู้ว่าจะปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ล้มแล้วลุกอย่างไร และสิ่งที่สำคัญมากกว่าความรู้ คือ Speed ในการปรับตัว ซึ่งเขาจะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องมีทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เขาไม่มีพื้นฐานความรู้มาก่อน ผมคิดว่าการเรียนรู้ตลอดเวลา และเอาใจเขามาใส่ใจเรา นี่คือความสามารถที่แท้จริงที่ต้องมีในอนาคต”

แน่นอนว่าการเรียนรู้ทางทฤษฎีในรั้วมหาวิทยาลัยย่อมต่างจากชีวิตการทำงานในโลกความเป็นจริง KBTG จึงได้ก่อตั้ง Tech Campus โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการบ่มเพาะนักศึกษาในระดับชั้นปี 3 ขึ้นไปให้มีความพร้อมทำงานได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด

“เรามีการส่งนักศึกษาฝึกงานไปทำงานโปรเจกต์ร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กได้ค้นพบตัวเองว่าเขามีศักยภาพด้านไหน เขาอยากเป็น Data Science Programmer หรือ Cyber Security ซึ่งวิธีแบบนี้จะทำให้เด็กมีส่วนร่วมการทำงานในเบื้องต้นด้วย ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาให้กับเด็กและองค์กร” เรืองโรจน์กล่าว

เรืองโรจน์ พูนผล ,กานติมา เลอเลิศยุติธรรม ,วิทการ จันทวิมล

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มอินทัช และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มองว่า เทคโนโลยีการสื่อสารจะเป็นหัวใจของการทำงาน เห็นชัดจากสถานการณ์โรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 บังคับให้แต่ละองค์กรเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากออฟฟิศมาเป็นการทำงานทางไกลมากขึ้น อันส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจต่างๆ จากเดิมผู้บริหารมีอำนาจการตัดสินใจเต็มรูปแบบ มาสู้การเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทักษะที่สำคัญที่พนักงานควรมีก็คือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Active learning) และการเป็นผู้นำ (Leadership)

ในขณะที่ วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มีความเห็นว่าเทคโนโลยีมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงสูง เทคโนโลยีที่ทันสมัยในวันนี้อาจตกยุคในอีกวันหนึ่ง เช่นเดียวกับตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่เฉียบพลันไม่ต่างกัน ดังนั้นความยืดหยุ่นในการปรับตัวและเรียนรู้ระดับสูง จะเป็นทักษะที่พนักงานต้องมีในอนาคต อย่างน้อยต้องเปิดรับในการเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เพื่อปรับตัวแล้วแก้ปัญหาของโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

ทักษะต่อมาเป็นทักษะทางสังคมที่จะต้องมี Soft Skill โดยเฉพาะด้าน EQ ในการทำความเข้าใจและสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งคุณสมบัติอย่างหลังนี้จะทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากเครื่องจักรหุ่นยนต์ หรือในความหมายหนึ่งคือ การมี Empathy จะเป็นตัวชี้วัดว่าคนมีความแตกต่างจากเครื่องจักร

ในฐานะผู้ฝึกสอนนักศึกษาที่กำลังจะเข้าไปในตลาดแรงงาน Sheri Sheppard, Richard W. Weiland ศาสตราจารย์ จาก Stanford School of Engineering มองเห็นถึงความสำคัญต่อการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเตรียมพร้อมให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปปรับใช้กับชีวิตการทำงานยุคดิสรัปชันได้ โดยมุ่งเน้นการโยนโจทย์การทำงานจริงเพื่อสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับนักศึกษา รวมถึงทักษะการบริหารเวลา และการออกแบบโปรเจกต์งาน เพื่อฝึกความสามารถการบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่นในทีม มีประสบการณ์การทำงานร่วมกันซึ่งเอื้อต่อการฝึกเป็นความผู้นำในอีกทางหนึ่ง

โปรเฟสเซอร์แชรี แชพเพิร์ด ริชาร์ด วีลแลนด์ ศาสตราจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด,โปรเฟสเซอร์ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ศาสตราจารย์พิเศษ สถาบันการออกแบบ แฮซโซ่ แพลทเนอร์

ถึงตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยมีความสำคัญมากในการส่งมอบแรงงานคุณภาพเข้ามาในตลาด ซึ่งกานติมา ผู้บริหาร เอไอเอส เสริมว่า องค์กรภาคเอกชนควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอย่างเหนียวแน่นมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้อุปสงค์กับอุปทานมาบรรจบกัน เช่นเดียวกับ วิทการ ผู้บริหาร เอพี กล่าวว่าบริษัทมีการก่อตั้ง AP Open House ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับชั้นปีที่ 3 มีประสบการณ์การทำงานจริงในตำแหน่งต่างๆ ในบรรยากาศจริงที่ต้องร่วมงานกับสายอาชีพอื่น และผู้ร่วมงานในเจอเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน โดยในอนาคตมีแผนที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมกัน

โครงการ Innovative Teaching Scholars หรือ ITS เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมด้านการสอนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของตนเอง โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยด้านการศึกษาของ The Standford Thailand Research Consortium หรือ STRC ซึ่งมุ่งหาแนวทางส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและความสามารถในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ ประกอบด้วย การเรียนรู้ผ่านการรวมกลุ่มและมีปฏิสัมพันธ์เสมือนจริง (Whole-group interactive virtual sessions) การสร้างโมดูลเนื้อหาที่ให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความพร้อมหรือจังหวะการเรียนรู้ของแต่ละคน (Self-paced interactive content modules) รวมถึงจัดการสอนแบบโค้ชชิ่งเป็นกลุ่มย่อย (Coaching sessions) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และทดลองทำด้วยวิธีการสอนแบบใหม่ (new pedagogical approaches) ที่สอดคล้องตามบริบทของแต่ละหลักสูตรของอาจารย์แต่ละท่านแบบเรียลไทม์ ตลอดจนการสร้างบรรทัดฐานเพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการปฏิบัติ (Communities of Practice) ที่ยั่งยืนด้วยแรงสนับสนุนการเรียนการสอนจากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ผู้เข้าร่วมโครงการจะนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนนักศึกษาอย่างไรเหล่าอาจารย์ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้จะต้องนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียนตนเองทันที นอกจากนี้ อาจารย์จะต้องคอยสังเกตการมีส่วนร่วมและการเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์การเรียนรู้พร้อมขอความคิดเห็นสะท้อนกลับจากผู้เรียน

 

You Might Also Like