CSR

จากปรัชญาธุรกิจ TMB Make THE Difference ส่งต่อ CSR องค์กรแบบไร้รอยต่อ

31 ตุลาคม 2561…ฝีมืองานศิลปะเยาวชนโครงการ ไฟ-ฟ้า CSR ทีเอ็มบี เรียนรู้ศิลปะ ดนตรี กีฬา ภาษา และอาหาร ให้กับเด็กที่พ่อแม่มีรายได้น้อยในชุมชน ประดิพัทธ์ ประชาอุทิศ จันทน์ และบางกอกน้อย 9 ปีพิสูจน์การสร้างเยาวชนแบบ TMB Make THE Difference

ความรู้สึกแรกคือ Wow ! ระหว่างยืนดูการแสดง บนเวที ทั้งการเต้น เล่นดนตรี ร้องเพลงประสานเสียง มาถึงงานศิลปะประเภทต่างๆ รวมถึงภาพเหมือนสีน้ำ มีอาหารจากฝีมือกุ๊ก ใน “กิจกรรม FAI-FAH ART FEST 2018 เด็กธรรมดา คือที่สิ่งสวยงาม” ซึ่งทั้งหมดเกิดจากฝีมือเยาวชนวัย 12-17 ปีในชุมชนทั้ง 4 แห่ง ที่มา “ค้นพบตัวเอง” และ “เกิดการเปลี่ยนแปลง” ในโครงการ ไฟ ฟ้า FAI-FAH

ความรู้สึกสอง ขนลุก ! เพราะมีโอกาสติดตาม CSR โครงการ ไฟ-ฟ้า ของทีเอ็มบี ตั้งแต่ปีแรกที่เกิดโครงการ ก็เริ่มเห็นเยาวชนหลายคนฉายแววในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และเพิ่งมีโอกาสทำได้ในโครงการ ไฟ-ฟ้า เพราะจะต้องยอมรับความจริงว่า การที่เยาวชน เรียนรู้ศิลปะ ดนตรี กีฬา ภาษา และอาหาร พ่อแม่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินค่าเรียนในราคาที่สูง ซึ่งรายได้ของพ่อแม่เยาวชนที่โครงการ ไฟ-ฟ้า โฟกัสอยู่นั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ !

“อยากให้โครงการ ไฟ-ฟ้า ไปอยู่ในชุมชนของเราแบบนี้บ้าง”  เสียงจากผู้นำชุมชนแห่งหนึ่งของกทม. ที่มีโอกาสไปดูงานวันเปิดตัวโครงการ ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ

ความรู้สึกสาม ดีใจ! ที่โครงการ ไฟ-ฟ้า ยังเดินหน้าต่อด้วยเป้าหมาย Make THE Difference เพราะการทำงาน CSR แบบนี้พูดตรงไปตรงมา “ต้องใช้เงินจำนวนมาก” ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างต่างๆ ส่วนเยาวชนที่เข้ามาเรียน ฟรี! ดังนั้น เมื่อ CEO มีความเชื่อ “การสร้างเยาวชนแบบ TMB Make THE Difference” แล้ว ย่อมโน้มน้าวใจให้คณะกรรมการธนาคาร และในเวลาต่อมาคือ Stakeholder อีกทั้งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อส่งมอบการเรียนรู้ให้เยาวชน ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการอาหาร ,อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย,โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย,โรงเรียนสตรีวัดระฆัง,มูลนิธิ WHY I WHY,อาจารย์กมลวรรณ อังศรีสุรพร สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม,ผศ.ดร.ชวนิดา สุวานิช สาขาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ทั้งหมด จะต้องเชื่อในสิ่งที่เยาวชนด้อยโอกาสในพื้นที่ทั้ง 4 แห่งจะกลายเป็นเด็ก ไฟ-ฟ้าที่ Make THE Difference ให้กับตัวเอง และช่วยน้องๆ รุ่นใหม่ที่เข้าโครงการในเวลาต่อมาด้วย

ฝีมือเยาวชนในโครงการ ไฟ-ฟ้า

กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี เล่าถึงการเรียนในโครงการ ไฟ-ฟ้าว่า เมื่อเด็กๆ เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างใดอย่างหนึ่งจาก ศิลปะ ดนตรี กีฬา ภาษา และอาหาร จะใช้เวลาเรียน 3 ปี ซึ่งก็มีเด็กหลายคนที่เรียนไม่ถึง ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ซึ่งเราต้องคุยกับเด็ก พยายามให้เรียนอย่างต่อเนื่องในสิ่งที่เลือก

กิจกรรม FAI-FAH ART FEST 2018 เด็กธรรมดา คือที่สิ่งสวยงาม ได้โชว์เคสแสดงผลงาน ศิลปะ ผลิตภัณฑ์ และความสามารถทางการแสดงต่างๆ ของเยาวชนไฟ-ฟ้า อายุระหว่าง 12-17 ปี จากศูนย์ไฟ-ฟ้า ทั้ง 4 แห่ง ซึ่งเยาวชนของโครงการฯ ได้ถ่ายทอดความรู้สึก

ความรู้สึกของตัวแทนเยาวชนทั้ง 5 ของโครงการ ไฟ-ฟ้า ต่อความคิด เด็กธรรมดาคือสิ่งสวยงาม

“พรอซซ่า” ธัญกัญจน์ วณิชย์ชัชวาลกุล เยาวชนไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ รุ่นพี่ไฟ-ฟ้า รุ่นที่ 1 เจ้าของผลงาน “เด็กยิ้มศิลปะ” การสเก็ตช์ภาพด้วยปากกาสีเมจิก เล่าว่า

“ความสวยงามของเด็กธรรมดา ก็คือสิ่งที่เด็กคนนั้นเป็นตัวของเขาเอง หลังจากได้รู้จักที่นี่ ทำให้มีความคิดที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการรู้จักแบ่งปัน ยามว่างหนูจะแบ่งเวลาไปเป็นครูผู้ช่วยสอนงานศิลปะให้แก่น้อง ๆ ที่ศูนย์ไฟ-ฟ้า และโรงเรียนสอนศิลปะใกล้บ้าน เพราะอยากทำเพื่อคนอื่นบ้างค่ะ”

“เอ็กซ์” กิตติพรรดิ์ มุขพิลา เยาวชนไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ รุ่นพี่ไฟ-ฟ้า รุ่นที่ 2 เล่าว่า

“เพราะความรักในการเต้น ทำให้ผมได้มารู้จักศูนย์ไฟ-ฟ้า และทำให้ผมเปลี่ยนจากเด็กเกเร เป็นเด็กที่กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น และนำทีมเต้นไปร่วมประกวดในกิจกรรมการเต้นในที่ต่าง ๆ จนเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายด้วยครับ”

“นัด” ไธพัตย์ วรรณา เยาวชนไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์ รุ่นพี่ไฟ-ฟ้า รุ่นที่ 5 เจ้าของผลงานอาหารเมนูสร้างสรรค์ลาซานญ่า สูตรซอสต้มยำ บอกว่า

“เมื่อก่อนผมทำอาหารไม่เป็นเลยครับ แต่ผมชอบกิน และอยากทำอาหารเป็น ผมได้รู้จักศูนย์ไฟ-ฟ้า เพราะเพื่อนแนะนำ ทำให้ผมได้รู้ว่าตัวเองชอบทำอาหาร และตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาการจัดการโรงแรม ในอนาคตผมอยากเป็นเชฟที่ประสบความสำเร็จ มีร้านอาหารเป็นของตัวเองด้วยครับ”

“ฟ้า” พัชรณิตา วงศ์คำ เยาวชนไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์ เด็กไฟ-ฟ้า ปี 2 เจ้าของผลงานขนมเบเกอรี่ลูกส้ม เล่าว่า

“การเรียนคลาสทำขนมที่ศูนย์ไฟ-ฟ้า ทำให้ฟ้าเป็นคนกล้าพูดกล้าคุยกับเพื่อนใหม่ ๆ มีทักษะในการทำทั้งขนมยุโรป และขนมเอเชีย รู้เทคนิคพิเศษในการตีแป้ง การเลือกวัตถุดิบ การจัดโต๊ะ จนถึงการเสิร์ฟ และกำลังจะทำขนมไปฝากคนรู้จักช่วยขายที่ตลาดใกล้บ้าน ในอนาคตอยากมีร้านขนมเป็นของตัวเองค่ะ”

“ปลาย” พรรณวรรณ ยมนา เยาวชนไฟ-ฟ้า จันทน์ รุ่นพี่ไฟ-ฟ้า รุ่นที่ 3เจ้าของผลงานการเพ้นท์ผ้าพันคอ ลายอัตลักษณ์ชุมชนย่านสาทร บอกว่า

“การเพ้นท์ผ้าพันคอลายอัตลักษณ์ชุมชนย่านสาทร มาจากการเรียนคลาสดีไซน์เสื้อผ้า ทำให้รู้จักการออกแบบลายผ้าด้วยการเพ้นท์ลาย และเลือกลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนย่านสาทร ที่มีความเป็นไทยมาแสดง สำหรับในอนาคตอยากเป็นดีไซน์เนอร์ค่ะ”

กระดานแปะกระดาษโน้ตขอความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ในงาน

 

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวในท้ายที่สุดว่า ความสำเร็จของกิจกรรม “FAI-FAH ART FEST 2018 เด็กธรรมดา คือสิ่งที่สวยงาม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่อาสาสมัครทีเอ็มบี ยังคงมุ่งมั่นก้าวเดินต่อไป เพื่อร่วมทำให้ชุมชนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น เหมือนเยาวชนไฟ-ฟ้า ที่ช่วยย้ำความเชื่อมั่นว่า เมื่อใดที่ความคิดในชุมชนเริ่มเปลี่ยน ชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ซ้ายคือหนึ่งในภาพวาดที่ได้รับการประมูล ฝีมือของเยาวชนในโครงการ เช่นเดียวกับภาพเหมือนปิติ

จึงเป็น 9 ปีที่พนักงานทีเอ็มบี สามารถไปมาหาสู่กับคนในชุมชนทั้ง 4 แห่งของ กทม.ได้อย่างสบายๆ เพราะคนในชุมชนก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจพนักงานทีเอ็มบี เห็น Make THE Difference ที่เกิดกับลูกหลานตัวเอง ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับชุมชน

เนื้อหาเกี่ยวข้อง

You Might Also Like