CSR

พฤกษาใส่ใจสังคมไทย เดินหน้าปรับสภาพบ้านให้คนพิการ จ.ขอนแก่น สร้างความปลอดภัย พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

19 ธันวาคม 2562…จาก Brand Purpose “ใส่ใจ…เพื่อทั้งชีวิต” กลายเป็น DNA ที่ฝังรากลึกให้พนักงานในองค์กรของพฤกษา เรียลเอสเตท ผู้นำอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งของประเทศไทย ยึดมั่นเป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกคนถือร่วมกัน เพราะพฤกษาอยากให้ทุกคนมีบ้าน แต่บ้านนั้นต้องไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยที่ประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น บ้านจะต้องเป็นที่ที่อยู่แล้วรู้สึกปลอดภัย มีความสุข และไร้กังวล


อังคณา ลิขิตจรรยากุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดองค์กรกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สำหรับคนส่วนใหญ่ “บ้าน” คือการลงทุนทั้งชีวิต พฤกษาจึงมีพันธกิจหลักในการส่งมอบบ้านที่ดีที่สุดให้กับคนไทย โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งมอบบ้านคุณภาพให้ลูกบ้านไปแล้วกว่า 2 แสนหลัง จากทั้งหมด 14 แบรนด์ ทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว และคอนโด พร้อมกันนั้นก็ร่วมสร้างโอกาสที่ดีให้กับสังคมและชุมชนเพื่อการเติบโตร่วมกันไปอย่างยั่งยืน”

“เราถือว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานพฤกษาทุกคนไม่ว่าจะอยู่แผนกไหนของบริษัทฯ ที่จะส่งมอบบ้านที่ดีให้กับลูกค้า แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมโดยรอบ เพราะตระหนักดีว่าเราเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของสังคม จึงได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ความรับผิดชอบนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม”

โดยปี2562 นี้ พฤกษาเริ่มขยายผลจาก CSR มาเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development ภายใต้การดูแลกำกับกิจการที่ดี โดยแบ่งออกเป็น 3 แกนหลักด้วยกัน

1. Heart to Home ใส่ใจในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยการใส่ใจการทำงานทุกขั้นตอน เพื่อส่งมอบที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า
2. Heart to Earth ใส่ใจในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในทุกกระบวนการผลิตต่างๆ
3. Heart to Society ใส่ใจเรื่องสังคมและให้โอกาสที่ดี ซึ่งโครงการบ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By Pruksa เป็นหนึ่งในนโยบายด้าน Sustainable Development ของพฤกษาในปีนี้ ที่พฤกษาจะนำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยมาใช้ในการสร้างบ้านและปรับปรุงสภาพบ้านให้กับคนพิการ

“เรามองว่าทุกคนเกิดมาย่อมต้องการมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี แต่ยังมีคนอีกหลายกลุ่มในสังคมไทยที่ยังไม่มีโอกาสเช่นนั้น โดยเฉพาะคนพิการที่ใช้ชีวิตอยู่ตามชนบทต่างจังหวัด ต้องประสบปัญหากับความยากจนและความยากลำบากในการใช้ชีวิตภายในบ้านของตนเอง บ้านที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยและความปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ การที่พฤกษาได้เข้าไปช่วยสร้างบ้านและปรับสภาพบ้านใหม่ให้กับคนพิการจะเป็นการช่วยพัฒนาพร้อมฟื้นฟูสมรรถนะของคนพิการให้กลับมาแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงชีวิตโดยพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยมีคนมาดูแล มีฐานะยากจน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีเพียงรายได้จากเงินสวัสดิการผู้สูงอายุและเบี้ยผู้พิการยังชีพในแต่ละเดือนเท่านั้น”

เมื่อบ้านเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต พฤกษาจึงนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีมากว่า 26 ปี มาช่วยสร้างบ้านและปรับปรุงสภาพบ้านให้กับคนพิการจำนวน 6 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ในโครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By Pruksa” เนื่องจากบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่เหมาะสมกับสภาพความพิการของแต่ละคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบ้านได้ถูกสร้างไว้นานแล้ว และห้องน้ำส่วนใหญ่จะอยู่นอกตัวบ้าน มีทางเดินพื้นไม่เรียบและไม่มีทางลาดเอียง บางคนต้องเคลื่อนที่ไปกับพื้นอย่างยากลำบาก ต้องใช้ชีวิตทั้งกิน นอน อาบน้ำ และขับถ่ายรวมอยู่ในที่เดียวกัน และยังมีคนที่มีความพิการทางด้านสายตาไม่สามารถมองเห็นทางได้ ต้องใช้วิธีจับเชือกไต่เดินไปยังที่ต่างๆ ซึ่งหากสภาพบ้านยังไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตแล้ว คนพิการเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

บ้านหลังใหม่ หรือปรับปรุงใหม่เพื่อให้เหมาะกับการดำเนินชีวิตคนพิการแต่ละประเภท และเป็นการช่วยลูกหลานที่ดูแลให้มีความสะดวกขึ้น นับเป็นกำลังใจสำคัญของคนพิการ อีกทั้งเป็นการร่วมมืออย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วน

โดยในด้านกระบวนการทำงานของโครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By Pruksa” นั้นถูกทำอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการเก็บข้อมูลและความต้องการของคนพิการที่มีความแตกต่างกัน จากนั้นจะนำมาเป็นโจทย์ในการออกแบบการสร้างบ้านและปรับปรุงสภาพบ้านซึ่งเป็นการทำงานระหว่างอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทีมออกแบบพฤกษา ช่างท้องถิ่น ร่วมกับโรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ และนักเสริมสร้างสุขภาวะคนพิการ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิตเป็นหลัก

“การออกแบบบ้านในครั้งนี้เป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพความพิการของแต่ละคน เช่น คนพิการที่ลุกยืนเดินไม่ได้ ห้องน้ำก็จะถูกออกแบบให้เป็นสุขภัณฑ์แบบติดพื้น เพื่อที่จะได้เคลื่อนที่ไปกับพื้นเพื่อทำธุระเบาหนักได้ บางรายที่ต้องนั่งรถเข็นก็จะมีเก้าอี้แบบที่เจาะช่องขับถ่าย และในห้องน้ำจะมีสุขภัณฑ์แบบที่เตี้ยกว่าปกติ เพื่อที่เมื่อเข็นรถเข้าไปก็จะพอดี เช่นเดียวกับอ่างล่างมือ ฝักบัวอาบน้ำก็ต้องทำให้เตี้ยกว่าปกติ ด้านข้างจะมีราวให้คนพิการจับ จะช่วยให้ฟื้นฟูกล้ามเนื้อแขนให้แข็งแรงขึ้นด้วย”

ประสิทธิ์ ศรีอัดชา คนพิการตาบอดสนิททั้งสองข้าง ซึ่งได้รับบ้านหลังใหม่เล่าว่า “อยู่บ้านหลังเก่ามา 2 ปี ไม่มีห้องน้ำ จะเดินไปห้องน้ำก็ต้องจับเชือกไต่ ใช้ไม้คาะๆ ค่อยๆ เดินไป พื้นก็เป็นทางขรุขระใช้เวลาเดินไปห้องน้ำแต่ละทีนานถึง 10 นาที วันนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้รับบ้านหลังใหม่ ซึ่งมีห้องน้ำอยู่ในตัวบ้าน มีราวจับให้เดิน ใช้เวลาเพียงไม่ถึงนาทีก็สามารถเดินเข้าห้องน้ำได้”

บ้านหลังเก่าของประสิทธิ์ จะเป็นบ้านสังกะสีต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก บ้านหลังใหม่มีการสร้างให้เหมาะสมกับความพิการด้านสายตา ทำให้การใช้ชีวิตปลอดภัยขึ้น

วันทอง สังเกตุ พิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว โดยขาทั้ง 2 ข้างอ่อนแรง ไม่มีความรู้สึก ใช้ชีวิตประจำวันโดยใช้รถเข็นในการเคลื่อนที่ และสามีคอยอุ้มเพื่อช่วยย้ายจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง การปรับสภาพบ้านโดยเพิ่มห้องครัวด้านนอก ปรับทางลาดและปรับในส่วนของห้องน้ำให้คนพิการสามารถยกตัวจากรถเข็นเองได้ รวมถึงปรับขนาดประตูทางเข้าบ้าน และทางเข้าห้องน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

บ้านของวันทอง

ฮวด สีสุด พิการทางด้านสมองและร่างกาย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปรับสภาพบ้านโดยเพิ่มห้องน้ำนอกตัวบ้าน ทำพื้นที่กันตกบริเวณระเบียงหน้าบ้าน และปรับทางลาดเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้เครื่องรถเข็นแบบเตี้ย พร้อมทั้งปรับในเรื่องของราวจับให้เข้ากับคนพิการมากขึ้น เนื่องจากคนพิการเป็นอัมพาตซีกขวาทั้งซีก ดังนั้นราวจับจะถูกจัดวางให้อยู่ด้านซ้ายเพื่อให้คนพิการสามารถใช้แรงของตัวเองในการยกตัวได้

บ้านของฮวด

ทวิช พิมพะ นายอำเภอบ้านแฮด จ.ขอนแก่น เล่าถึงกระบวนการในทำงานว่า “พฤกษาร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนในการคัดเลือกบ้านคนพิการจำนวน 6 หลัง โดยพิจารณาจากข้อมูลคนพิการที่ขึ้นทะเบียนเป็นตัวตั้ง และบ้านนั้นต้องอยู่ในที่ดินของคนพิการเอง หลังใดสมควรช่วยก่อนหลังตามความจำเป็น โดย รพ.สิรินธร รพ.สต.ในพื้นที่ และนักเสริมสร้างสุขภาวะผู้พิการ จะพิจารณาคัดเลือกร่วมกัน ซึ่งเราต้องขอบคุณบริษัท พฤกษาฯ ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือในการสร้างบ้านใหม่ และปรับปรุงซ่อมแซมบ้านคนพิการเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายของคนพิการโดยตรง และจะได้ไม่เป็นภาระต่อใคร เพราะคนพิการจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ”

ด้าน นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.สิรินธร จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “โครงการนี้จะมีประโยชน์มากในระยะยาว หากสามารถกระจายได้ครอบคลุม เพราะยังมีคนพิการที่รอรับโอกาสนี้ประมาณ 100 กว่าราย ประกอบกับเมื่อคนพิการได้รับการสนับสนุนด้านอาชีพจากทางภาครัฐ นอกจากเขาจะสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใครแล้ว ยังทำให้เขามีศักดิ์ศรีและสร้างความภาคภูมิใจในตนเองอีกด้วย”

โครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By Pruksa” ไม่ใช่แค่การส่งมอบบ้านเท่านั้น แต่พฤกษายังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการต่อยอดการทำงานออกไปสู่การทำงานกับชุมชนและสังคมในภาพใหญ่ ซึ่งเป็นความร่วมมือของชุมชนและจิตอาสาแต่ละบ้านที่เราเข้ามาทำงานด้วย มาช่วยดูแลกันจนกระทั่งถึงเมื่อส่งมอบบ้าน ทางชุมชนก็จะเข้ามาดูแลดูเรื่องกายภาพบำบัด เพื่อให้คนพิการอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง ซึ่งเป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดขึ้น

อังคณากล่าวทิ้งท้ายว่า “นอกจากเราจะส่งมอบบ้านที่ดีให้คนพิการแล้ว ทางพนักงานและผู้บริหารพฤกษายังได้มีส่วนร่วมในการบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับคนพิการครั้งนี้ เพราะเรามองว่าเราไม่ได้แค่การส่งมอบบ้าน แต่เป็นการช่วยสร้างความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน และหลังจากนี้ทางพฤกษาจะส่งต่อให้ผู้ดูแลโครงการส่งผลรายงานความเปลี่ยนแปลงของคนพิการทั้งหมด 6 ครัวเรือนมาให้ในทุกๆ 3 เดือน เพื่อเราจะได้มั่นใจว่าคนพิการเหล่านี้ได้อยู่ในบ้านที่ปลอดภัย มีความสุข และไร้กังวลอย่างแท้จริง”

 

 

You Might Also Like