CSR

AIS อุ่นใจ CYBER ต่อจิ๊กซอว์ Ecosystem เสริมแกร่งภูมิคุ้มกันบนโลกดิจิทัล กับ “ตำรวจไซเบอร์” ผ่าน 12 ละครคุณธรรม

20 พฤศจิกายน 2566… ภารกิจ AIS อุ่นใจ CYBER ล่าสุดได้ทำงานร่วมกับตำรวจไซเบอร์ คัดเลือกเหตุการณ์จากสถิติ ที่ประชาชนจะถูกหลอกทางออนไลน์ได้ง่าย ๆ ร่วมมือกับค่ายละครโซเชียล 3 ค่ายดัง กุลิฟิล์ม ทีแก๊งค์ และทีมสร้างฝัน ส่ง 12 ละครคุณธรรม จากคดีดังภัยไซเบอร์ ร่วมตีแผ่กลลวงของมิจฉาชีพ พร้อมแนะวิธีการรับมือ ในรูปแบบละครสะท้อนสังคมที่กำลังได้รับความนิยม สนุกเข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงคนไทยในทุกช่วงวัย

เอไอเอสเดินหน้าส่งเสริมความเหมาะสมและปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ ภายใต้โครงการ “AIS อุ่นใจ CYBER” มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้ประชาชนคนไทยทุกเพศทุกวัย และเพื่อสร้างสังคมอุ่นใจจากการใช้งานในโลกไซเบอร์ โดยเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ทั้งในด้านการศึกษา และสุขภาพจิต เพื่อมุ่งขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายให้สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพและใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

โดยที่ผ่านมามีการพัฒนาเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล ควบคู่ไปกับสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมทักษะดิจิทัล ด้วยการใช้วิธีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับผู้คนในแต่ละกลุ่ม

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวถึง AIS อุ่นใจ CYBER ว่า

“สิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการเดินหน้าสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน มีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้คนไทยรู้ว่าเวลาใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง แล้วเมื่อพบเจอสิ่งน่าสงสัยเขาจะต้องทำอย่างไร”

จากการทำงานเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลภายใต้ภารกิจของ AIS อุ่นใจ CYBER ทำให้เห็นถึงปัญหาจากภัยไซเบอร์ที่ยังมีผู้ไม่รู้เท่าทันตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

“ผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) พบว่ากลุ่มเปราะบางผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์สูงสุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเวลาว่าง จึงมีโอกาสเลื่อนดูข้อมูลต่าง ๆ บนโทรศัพท์บ่อยขึ้นนำมาซึ่งความเสี่ยงมากขึ้น การสื่อสารล่าสุดจึงถูกนำเสนอด้วยละครคุณธรรม 12 เรื่อง”

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS และพลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.)

พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) กล่าวเสริมถึงโครงการ

“ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ามิจฉาชีพมีการออกกลโกงในรูปแบบใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอทำให้ประชาชนหลงเชื่อ และถูกหลอกให้เสียทรัพย์ได้ในที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ไม่ใช่แค่ในมิติเรื่องของการปราบปรามอย่างเดียว เราต้องให้ความสำคัญในเชิงป้องกัน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้งานบนโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย ซึ่งการทำงานกับ AIS อย่างต่อเนื่องในการออกมาเตือนภัยประชาชนในรูปแบบต่างๆ ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุอย่างแท้จริง”

ในส่วนของการเลือกเคสมาทำเป็นละครคุณธรรม พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่ามีการจำแนกการกระทำความผิดของมิจฉาชีพออกเป็น 14 ประเภทด้วยกัน เรียงลำดับเคสที่เกิดกับประชาชนมากที่สุด เช่น อันดับแรกจะเป็นเรื่องของการหลอกซื้อขายของออนไลน์ ซึ่งเป็นคดีที่โดนหลอกเป็นจำนวนมาก การนำเสนอเคสจึงนำเสนอเรียงลำดับความสำคัญของเคสนั้นๆ และประเภทของกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน วัยเกษียณ กลุ่มเปราะบาง ซึ่งทางเอไอเอสเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางเป็นอันดับแรก และทยอยทำในกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานต่อไป

สำหรับโครงการล่าสุดมีค่ายละครโซเชียล 3 ค่ายดัง กุลิฟิล์ม ทีแก๊งค์ และทีมสร้างฝัน ส่ง 12 ละครคุณธรรม จากคดีดังภัยไซเบอร์ ร่วมตีแผ่กลลวงของมิจฉาชีพ พร้อมแนะวิธีการรับมือ ในรูปแบบละครสะท้อนสังคมที่กำลังได้รับความนิยม สนุกเข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงคนไทยในทุกช่วงวัย

เนื้อหาในการนำเสนอ จะเน้นถ่ายทอดในรูปแบบของละครคุณธรรม หรือละครสั้นสะท้อนสังคม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนสูงวัย ด้วยวิธีการเล่าแบบตรงไปตรงมา สนุก สอดแทรกสาระและวิธีการรับมือจากตำรวจไซเบอร์ ที่มาร่วมเป็นนักแสดงในละครคุณธรรมทั้ง 12 ตอน 12 สถานการณ์ โดยเนื้อหาจะเน้นไปที่การนำคดีจากภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น

-การหลอกลวงซื้อสินค้าออนไลน์แต่ไม่ได้สินค้า คนร้าย สร้างเพจปลอม ให้มีความเหมือนหรือใกล้เคียงกันกับเพจจริง แล้วนำสินค้า ผลิตภัณฑ์/บริการจากเพจจริงมาโพสต์ขาย โดยคัดลอก content รูปภาพ รวมถึงราคาสินค้า/บริการมาโพสต์ในเพจปลอมที่ตนเองสร้างขึ้น หลอกล่อให้ลูกค้าหรือผู้เสียหายหลงเชื่อและซื้อสินค้า/บริการ

-หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม นร้ายจะมีการโทรมาหลอกลวงผู้เสียหายว่าโทรมาหน่วยงานราชการ เช่นกระทรวงการคลังเพื่อทำการยกเลิกโครงการคนละครึ่ง กรมที่ดินเพื่อให้จ่ายภาษีที่ดิน แต่ยกเลิกค่าภาษีได้ ถ้าทำตามขั้นตอน การไฟฟ้าเพื่อขอคืนเงินค่าประกันราคามิเตอร์ไฟฟ้า จากนั้นสอบถามชื่อสกุล รวมไปถึง รุ่นยี่ห้อของโทรศัพท์ที่ผู้เสียหายใช้งาน เมื่อแน่ใจว่าโทรศัพท์ของผู้เสียหายเป็นระบบปฏิบัติการ Android แล้วจึงเริ่มดำเนินการให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนไลน์ หรือขอแอดไลน์ผู้เสียหาย แล้วหลอกลวงให้ผู้เสียหายให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นปลอม เพื่อใช้เทคโนโลยีต่างๆโอนเงินออกจากแอปพลิเคชั่นของธนาคาร ในเครื่องโทรศัพท์ของผู้เสียหาย

-หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มิจจาชีพจะมาในรูปแบบโฆษณาในเพจเฟชบุ๊คเพื่อชักชวนให้ลงทุนกับกองทุนอมตะ โดยมีภาพคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ทำให้ดูน่าเชื่อถือและหลงเชื่อว่ามีผลตอบแทนที่ดี เริ่มจากการเปิดพอร์ตแบบระยะสั้นโอนเงินจำนวนน้อยไปจนจำนวนมาก

-คดีปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน โทรมาอ้างว่าเป็นคนรู้จัก หลอกให้ทายชื่อ ให้เราเผลอพูดชื่อคนรู้จักไป แล้วสวมรอยเป็นคนนั้น บอกว่าโทรศัพท์หายเปลี่ยนเบอร์ใหม่ ให้เมมชื่อไว้ หลังจากนั้นโทรมาวันหลังขอยืมเงิน

-คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน โดยหลอกให้ผู้เสียหายกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่นเฟสบุ๊กแบบออนไลน์ ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว จากนั้นคนร้ายจะให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนไนไลน์ และให้ผู้เสียหายกดลิงก์โหลดแอปพลิเคชั่น กรอกข้อมูลส่วนตัว เมื่อทำรายการในระบบของคนร้ายเสร็จสิ้น กลุ่มคนร้ายจะอ้างว่า ผู้เสียหาย กรอกข้อมูลบัญชีผิด ต้องทำการโอนเงินก่อนเพื่อปลดล็อกระบบ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อก็โอนเงินไปเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวก็สูญเสียเงินไปจำนวนมาก

เบื้องหลังการถ่ายทำละครคุณธรรม และสามารถรับชมได้อย่างง่ายดาย

รับชมได้ผ่านช่องทาง Social Media ของทั้ง 3 ค่ายละครคุณธรรม และช่องทาง LearnDi ได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/learning-path/105/
กุลิฟิล์ม >> https://m.ais.co.th/TgangStudio
ทีแก๊งค์ >> https://m.ais.co.th/KuliFilms
ทีมสร้างฝัน >> https://m.ais.co.th/teamsangfun

พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ ย้ำว่า Key Word สำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนหลอกลวงทางออนไลน์ คือ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน จนกว่าจะตรวจสอบได้ว่าเป็นเรื่องจริง หากใครที่ตกเป็นเหยื่อไปแล้วสามารถติดต่อไปที่ 1441 จะมีศูนย์ AOC เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เป็นเหยื่อการหลอกลวงทางออนไลน์

“สำหรับAIS วัดผลจากละครคุณธรรม จะดูว่าสร้าง Awareness มากน้อยเพียงใด โดยดูจากยอดคนรับชมทางออนไลน์ อีกส่วนจะมีการวัดผลจากสถิติของเคสต่างๆว่าลดลงมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้เรายังมีการทำวิจัยกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางกว่า 20,000 คน โดยดูว่าเมื่อคนกลุ่มนี้ได้รับการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ไปแล้วตลอด 3 เดือนในช่องทาง LearnDi มีผลตอบรับเป็นอย่างไร หลังจากนั้นละครคุณธรรมทั้ง 12 เรื่องจะถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร AIS อุ่นใจ CYBERเป็นการเสริม Ecosystem ให้คนทุกกลุ่มทุกวัยเข้าถึงกลโกงบนภัยออนไลน์ พร้อมกับระวังตัวไม่เป็นเหยื่อ”

สายชลกล่าวในท้ายที่สุด นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์อย่างสายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center ให้ลูกค้าแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพได้ฟรี รวมถึงการมีหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ที่จะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทย นับเป็นการทำงานที่มีเป้าหมายเพื่อประชาชนโดยแท้จริง

 

You Might Also Like