CSR

สยามคูโบต้า-ตอนิมิตร ต้นแบบการเกษตรอย่างยั่งยืนแห่งแรกภาคเหนือ

21 เมษายน 2563…ความจำเป็นการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย กับเกษตรกรยุคใหม่แยกกันไม่ออก ใช้แล้วลดต้นทุนค่าแรงคน 40% เพิ่มผลผลิต/ไร่มากถึง 90 % และกำไรต่อไร่ 8,500 บาท

สุนทร จำรูญ ประธานกลุ่มตอนิมิตร เปิดเผยว่า กลุ่มตอนิมิตรผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ทั้งข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลืองและพืชผัก และได้รับการยอมรับว่าสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีเด่นในระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายคือ พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เรียนรู้เทคนิคและวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้

“ก่อนที่จะเกิดความร่วมมือกับสยามคูโบต้า เราประสบปัญหาเรื่องค่าแรงงานมากทีเดียว โดยเฉลี่ยทางกลุ่มตอนิมิตร ประมาณ 6,000-7,000 บาท/ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายค่าจ้างเช่นค่าจ้างคนมาเกี่ยวข้าวแล้วมัดก็ตก 1,400 บาท/ไร่ จ้างคนตาก 250-300 บาท/วัน ส่วนผลผลิตได้ 230 กิโลกรัม/ไร่ แต่เมื่อได้ทำงานกับสยามคูโบต้า ใช้เครื่องจักรทำงาน ต้นทุนที่เป็นค่าแรงเหลือ 4,000-5,000 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ 450 กิโลกรัม กำไรต่อไร่ 8,500 บาท”

ทำงานร่วมกันในแปลงนา ข้าวพันธุ์ตอนิมิตร ปลูกข้าวด้วยเครื่องจักรคูโบต้า ต้นกล้าข้าวพันธุ์ ข้าหอมมะลิ เมืองแพร่

สุนทรกล่าวต่อเนื่องว่า เมื่อมีการใช้เครื่องจักรของสยามคูโบต้า สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคือมีการรวมตัวพูดคุย วางแผนการทำงานมากขึ้น แบ่งการใช้รถหว่าน รถเกี่ยวข้าว ให้สมาชิกเป็นโซน ๆ วางแผนการเพาะปลูก เพาะกล้า ทำให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มมากขึ้น จากเดิมไม่มีวิถีแบบนี้

“ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากสยามคูโบต้าในเรื่องความรู้ด้านเกษตร การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การสร้างรายได้เพิ่ม และร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข้ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนดีขึ้น”

สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า สยามคูโบต้ามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย จึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อตอบแทนสังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางอาหารด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 สยามคูโบต้ามุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง จึงเกิดเป็น “โครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” หรือ SIAM KUBOTA Community Enterprise (SKCE) โดยคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการทำงานร่วมกันระหว่างสยาม
คูโบต้ากับกลุ่มเกษตรกร นำไปสู่การช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตในการทำการเกษตร ส่งเสริมให้ชุมชนมีความอยู่ดีกินดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาสยามคูโบต้าได้เปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าทั้งสิ้นจำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแบ่งออกเป็นจังหวัดศรีสะเกษ 2 แห่งและจังหวัดอุดรธานี 1 แห่ง ซึ่งสยามคูโบต้าให้การส่งเสริมกิจกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านการตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทำให้ทั้ง 3 ศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

กานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ประธานในพิธี เปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร

สำหรับในปีนี้ สยามคูโบต้าจึงเดินหน้าเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร ณ ตำบลร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นศูนย์เรียนรู้แห่งที่สี่ และยังเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งได้นำระบบ KUBOTA (Agri) Solutions การจัดการเกษตรกรรมครบวงจรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้ามาใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร เป็น “ชุมชนต้นแบบ” ด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย โดยมีความโดดเด่นด้านมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพในระดับประเทศ และยังมีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการเกษตรภายในชุมชนด้วยระบบการรวมกลุ่ม สามารถแก้ปัญหาด้านการเกษตรแบบครบวงจรได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ถือเป็นชุมชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีแผนเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้าที่มีความพร้อมอีกแห่งของภาคเหนือ ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้”  สมศักดิ์ กล่าว

สยามคูโบต้ามุ่งมั่นพัฒนากลุ่มเกษตรเพื่อสร้างเป็นชุมชนต้นแบบทางการเกษตรที่มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษาวิธีการทำเกษตรที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรในชุมชนมีความกินดีอยู่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ และประยุกต์เครือข่ายอาชีพในชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน เกิดการพัฒนาทั้งชุมชน และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในพื้นที่ต่อไป

 

 

You Might Also Like