CSR

สร้างความสมดุลน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยม

8 ธันวาคม 2561…“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ผสาน “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” แก้ปัญหาป่าไม้ น้ำหลาก น้ำแล้ง สร้างความสมดุลน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยม ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นปีที่ 4

พิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยอนุรัฐ ไทยตรง รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และ พล.ต. อุกฤษฏ์ นุตคำแหง เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สร้างฝายหินก่อและฝายชะลอน้ำ บริเวณลำห้วยแม่จั๊วะ ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยมีเครือข่ายชุมชนแม่จั๊วะ ร้านผู้จำหน่ายและจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้า เข้าร่วมกิจกรรมฯ

ปัญหาการจัดการน้ำนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยมีความพร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ของฮอนด้าในการสร้างคุณค่าเพื่อเป็นองค์กรที่สังคมไทยต้องการให้ดำรงอยู่ตลอดไป จึงผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

พิทักษ์เล่าถึงการรวมพลังจิตอาสาของเครือข่ายชุมชนแม่จั๊วะ สร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 5 ฝาย ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ รวมทั้งสร้างฝายหินก่อขนาดใหญ่ 1 ฝาย เพื่อช่วยดักตะกอนและชะลอน้ำหลากที่ทำให้เกิดปัญหาดินโคลนถล่มไหลเข้า อ่างเก็บน้ำแม่จั๊วะ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำลดลง โดยคาดว่าโครงการดังกล่าว จะสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำหลากที่ประสบมากว่า 10 ปี รวมทั้งบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนให้แก่ชุมชนตำบลแม่จั๊วะ ส่งผลให้ประชากร 243 ครัวเรือนมีน้ำสำรองใช้เพิ่มขึ้น 61,000 ลบ.ม. รองรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตรบนพื้นที่ 4,000 ไร่

สำหรับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้ขยายการดำเนินงานร่วมกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ในขณะที่พื้นที่ต้นน้ำมีอ่างเก็บน้ำ มากกว่า 200 อ่าง และขาดการดูแลรักษา ตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำ และระบบกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร อีกทั้งลุ่มน้ำยมขาดการบริหารจัดการน้ำและสำรองน้ำ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 10% ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี) ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรมสูงถึง 2,214 ล้าน ลบ.ม. หรือสนองตอบความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ทางมูลนิธิจึงมีแนวทางในการพัฒนาใน 2 ด้าน คือการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้มีน้ำเติมแหล่งเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี และแก้ปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างน้ำเดิมให้สามารถใช้งานได้ ตลอดจนการฟื้นฟูลำน้ำสาขา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำท่วมสะสมในช่วงฤดูน้ำหลาก

โครงการ “พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำยม” เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2561-2563) ดำเนินงานใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย

  1. พื้นที่ต้นน้ำ ในตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา 
มีเป้าหมายในการพัฒนาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพื่อเสริมความมั่นคงน้ำในการอุปโภคและบริโภค
  2. พื้นที่กลางน้ำ ประกอบด้วย 2 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และ บ้านป่าเลา อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำและโครงสร้างน้ำ เพื่อเสริมความมั่นคงน้ำในการอุปโภค บริโภคและเกษตร
  3. พื้นที่ปลายน้ำ ใน ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย มีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

 

 

You Might Also Like