CSR

“น้ำ” มีพอใช้ ตัวอย่างจับต้องได้ ด้วยการร่วมแรงใจลงมือทำในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง”

11 สิงหาคม 2563… บางพื้นที่ ชุมชนที่มีหลายครอบครัวมีรายได้นับแสนบาท/เดือน ในขณะที่หลายชุมชนมีรายได้ทางการเกษตรต่อเนื่องเพราะมีน้ำใช้ตลอด สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง”

ตัวอย่างข้างต้น เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับประโยชน์รวม 45,300 ไร่ จากการที่ตลอด13 ปี เอสซีจีได้เริ่มโครงการบริหารจัดการน้ำชุมชน พบว่า 70 ชุมชน 16,200 ครัวเรือน ใน 28 จังหวัด มีปริมาณกักเก็บน้ำรวมถึง 26.4 ล้าน ลบ.ม ซึ่งอยู่ในการบริหารการจัดการน้ำของชุมชน ตั้งแต่ปี 2550 ของเอสซีจี ใน “โครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง เกิดจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ และเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน โดยร่วมกับชุมชนบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ โดยมีผลดำเนินงานคือ

1.พื้นที่ต้นน้ำ ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้ว 91,405 ฝาย
2.พื้นที่กลางน้ำ สร้างสระพวงเชิงเขาต่อยอดนำน้ำจากฝายชะลอน้ำมาใช้ทำการเกษตร 9 สระ 
และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำด้วยระบบแก้มลิง 5 พื้นที่
3.พื้นที่ปลายน้ำ สร้างบ้านปลาเพื่อคืนระบบนิเวศที่ดีสู่ท้องทะเลไทย ที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 2,060 หลัง และชายฝั่งทะเลภาคใต้ 670 หลัง

เอสซีจีต้อนรับผู้บริหารจากมูลนิธิบัวหลวง และธนาคารกรุงเทพ ในการเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำ เริ่มต้นที่ชุมชนไผ่งาน เมืองมาย บริเวณจุดชมวิว ก่อนที่จะเดินทางไปชมฝายใต้ดิน และการดึงน้ำเป็นประชาของชุมชน

“น้ำ” จากระบบการกักเก็บ

จากนั้น เอสซีจีร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 ดำเนินการสร้างชุมชนตัวอย่างความสำเร็จด้านการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ และขยายผลความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำชุมชน จากชุมชนที่ดำเนินการสำเร็จแล้วไปสู่ชุมชนเครือข่ายที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลน วางแผนใช้น้ำอย่างพอเพียง เกิดการจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดสู่โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง”

“ด้วยสถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงตั้งแต่ปลายปี 2562 และมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ทำให้คาดการณ์ว่าปี 2563 ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งที่มาเร็ว ยาวนาน และรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกับภาคการเกษตรที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แต่มีหลายชุมชนที่รอดภัยแล้งไปได้ โดยใช้การบริหารจัดการน้ำ เพื่อเอาไว้ใช้ในหน้าแล้ง รวมถึงการผันน้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ กระจายน้ำไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีตัวอย่างจากโครงการ รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที”

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office Director เอสซีจี กล่าวถึงตัวอย่างในพื้นที่วันนี้ เป็นตัวอย่างต้นแบบใน “โครงการรักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ที่มีน้ำใช้เพื่อบริโภคอุปโภคตลอดทั้งปี และสร้างรายได้ให้กับชุมชนเอง รวมถึงชุมชนใกล้เคียงที่เข้ามารับจ้างทำงาน อีกทั้งมีคนกลับมาอยู่ในชุมชนอีก 2 ครอบครัว

คงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านสาแพะ หมู่ 3 ลำปาง เริ่มจัดการน้ำจากฝายสู่สระพวง 7 สระเชิงเขาบ้านสาแพะ เปลี่ยนเป็นวิถีทำเกษตรประณีต

“พื้นที่ของเราขาดแคลนน้ำเพราะพื้นที่เป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ หลังจากทำฝายชะลอน้ำมาแล้ว เราก็อยากมีที่เก็บน้ำเพื่อทำเกษตรประณีตขายเมล็ดพันธุ์ ก็เป็นที่มาของสระพวง 7 สระ โดยชุมชนต้องเสียสละมอบที่ดีให้ทำเป็นสระด้วย ผมให้ที่ดิน 1 ไร่ บางคน 4 ไร่ ใช้เวลา 2 ปีเก็บน้ำได้ 1 ล้านลิตร เหมาะกับการทำเกษตร ชาวบ้านเมื่อมีน้ำแล้วไม่มีเวลา ที่หมู่บ้านนี้จะตื่นตี 3 เพื่อทำงานดูแลเมล็ดพันธุ์มะระที่เราขาย กิโลกรัมละ 1,000 ส่วนเมล็ดพันธุ์แตงโม เราขายกิโลกรัมละ 1,800 บาท โดยจะมีบริษัทขนาดใหญ่รับซื้ออย่างต่อเนื่อง”

จากการกักเก็บน้ำด้วยระบบสระพวง ส่งผลให้เกษตรกรทำอาชีพเพาะพันธ์เมล็ด ส่งขายได้ทั้งปี

ผู้ใหญ่คงกล่าวเสริมว่า รายได้ของชุมชนจาการทำเกษตรเล็ดพันธุ์ 1 ปีจะเก็บผลผลิตขายได้ 4-5 รอบ ส่วนรายได้ต่อปีต่อไร่เป็นตัวเลขหลักแสน โดยหลายครอบครัวจะมีพื้นที่ทำการเกษตรดังกล่าวประมาณ 2-3 ไร่ มีต้นทุนที่จ่ายเป็นค่าปุ๋ย ค่าจ้างอื่น ๆ 5,000 บาท/ไร่ เฉลี่ยแต่ละครอบครัวมีรายได้ 25,000-30,000 บาท/เดือน อีกทั้งบางครอบครัวสามารถซื้อรถปิกอัพป้ายแดงด้วยเงินสดได้เลย !

“ตอนนนี้ชุมชนกำลังนำโบนัสของพวกเรา คือพันธุ์มะม่วงที่เราได้มา และปลูกในพื้นที่บ้านสาแพะมีรสชาติเป็นที่ยอมรับ ซึ่งขายเป็นมะม่วงน้ำปลาหวานในร้านสะดวกซื้ออยู่แล้ว รวมถึงร้านที่ขายยำมะม่วง เรากำลังสร้างแบรนด์ให้กับมะม่วงที่เราปลูก เป็นการทำงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เราใช้ชื่อแบรนด์ว่า SQ โดยเอสมาจากคำว่า สาแพะ ส่วนคิว มาจากคำว่า Quality”

ผู้ใหญ่คงขยายความเพิ่มเติมถึงุดเด่นมะม่วงแบรนด์ SQ ซึ่งมีความปลอดภัยจากการบริหารจัดการลดใช้สารเคมีแล้ว จะมีการจัดการบ่มให้สุกคาต้น ซึ่งจะมีความสดมากกว่า นอกจากนี้จะสร้างความพรีเมี่ยมของแบรนด์ด้วยการมะม่วงทั้งต้น จะมี 20 ลูกเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเป็นแบรนด์ SQ ซึ่งคาดว่าปลายปี 2563 จะมีมะม่วงแบรนด์ SQ ขายในช่องทางออนไลน์ เป็นผลผลิตมาจากต้นที่พร้อมแล้ว 5,000 ต้น จากจำนวนทั้งหมดที่กลุ่มมี 10,000 ต้น นอกจากนี้จะมีผลผลิตมะม่วงแปรรูปต่าง ๆ ด้วย

“น้ำ” จากระบบฝาย

ตัวอย่างชุมชนในพื้นที่โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” อีก 3 แห่งคือ ชุมชนบ้านไผ่งาม ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม ชุมชนบ้านสาแพะเหนือ หมู่ 7 ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จัหวัดลำปาง ส่วนที่ บ้านปางเคาะ หมู่ที่ 11 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ สิ่งที่พบคือ จะเห็นการบริหารจัดการน้ำทั้งที่มาจากระบบฝาย และท่อน้ำใต้ดินริมถนน

อาจจกล่าวไม่ผิดนักหากจะบอกว่า น้ำใช้เพื่อการบริโภคสำคัญ แต่นำ้ที่ใช้เพื่อการเกษตรก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหมายถึงการช่วยสร้างผลผลิตสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 แห่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ก็มีวิถีที่เหมือนกันก่อนที่จะร่วมบริหารจัดการนั่นคือ การประสบปัญหาภัยแล้ง

การจะผ่านพ้นวิกฤตได้สิ่งแรกที่ต้องทำทันทีคือ จับเข่าคุยกันทั้งชุมชน ร่วมกันหาทางออก จัดการด้วยกันเอง ก่อนจะแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้รอดแล้ง ซึ่งสิ่งที่ตามมาจะพบกับภาคธุรกิจที่ทำงานงานเรื่อง “น้ำ” อย่างครบกระบวน

การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง”

ปทุม เกิดผล   ผู้ใหญ่บ้านไผ่งาม ชุมชนบ้านไผ่งาม ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม กล่าวว่า ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ทางชุมชนได้ช่วยกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยเริ่มจากการสร้างฝายชะลอน้ำและการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันได้ดำเนินการโครงการ SCG ร้อยใจ 108ชุมชน รอดภัยแล้งสร้างฝายใต้ทราย ณ ลำห้วยแม่ต๋า เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีและแก้ปัญหาซ้ำซากของหมู่บ้านและลดค่าใช้จ่ายของหมู่บ้านได้

“เราสร้างฝายใต้ทราย ณ ห้วยแม่ต๋า ขนาดความยาว 8 เมตร สูง 1.20 เมตร สูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ผลจากที่สร้างฝายใต้ทราย เราได้เห็นความสามัคคีของคนในชุมชนและจะสามารถทำให้เราได้มีน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรได้ทั้งปี อีกทั้งยังช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายงบประมาณของหมู่บ้านได้ ทางหมู่บ้านยังสามารถเอางบส่วนนั้นไปทำประโยชน์ในหมู่บ้านได้เพิ่มขึ้น และต่อไปชุมชนบ้านไผ่งามก็จะไม่เจอกับปัญหาที่ซ้ำซาก”

ผู้ช่วยสงกรานต์ เป็นพวก  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แกนนำจัดการน้ำ บ้านสาแพะเหนือ กล่าวถึงช่วงวิกฤติ ทำให้ชุมชนได้พบกับโอกาสที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนโดยชุมชนได้เข้าร่วมโครงการ “เอส ซี จี รักษ์น้ำ” ในปี 2559 ที่ทีมพนักงานโรงปูนลำปาง เข้ามาชวนพูดคุย ชวนทำฝายชะลอน้ำ และทำงานวิจัย โดยให้ชุมชนทำวิจัยเรื่อง “การจัดการ ดิน น้ำ ป่า” ทำให้เราเก็บข้อมูลและสามารถหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงและเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างเป็นระบบ ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน เช่น ฝายใต้ทราย Stop Log และวังเก็บน้ำ ลงมือทำหรือการแก้ไขปัญหา

เครื่องมือที่นำมาใช้แก้ไขปัญหา ได้แก่

1.ฝายใต้ทรายยกน้ำใต้ดิน + Stop Log ควบคุมน้ำบนดิน จำนวน 9 จุด 
2.ขุดวังเก็บน้ำด้านหน้าฝายใต้ทราย ลึก 2-3 ม. ยาว 40 ม. จำนวน 13 วัง
3.ปรับปรุงฝายเดิม จำนวน 6 ฝาย 
4.สร้าง Stop Log จำนวน 3 จุด คือ ฝายทุ่งหลวง หน้าท่อทุ่งเหล่ายาว และเสริมสปิงเวอ่างห้วยไม้ฮ้าง เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ 
5.ลอกอ่างห้วยแก้ว เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ
6.จ่ายน้ำด้วยระบบท่อจากอ่างห้วยแก้ว แทนการจ่ายน้ำไหลตามลำห้วย เพื่อลดการสูญเสียน้ำระหว่างทาง
7.การรวมกลุ่มการใช้น้ำจากบ่อเก็บน้ำคอนกรีต ขนาด 4X4X3 ม. จำนวน 9 บ่อ เพื่อให้ใช้น้ำกันอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการ
8.การติดมิเตอร์จากบ่อเก็บน้ำคอนกรีตไปยังสวนเกษตร เพื่อควบคุมการใช้น้ำ ไม่ให้ใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือย และเกิดประโยชน์สูงสุด
9.ป้องกันตะกอนที่จะไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ เช่น เว้นระยะการไถติดลำห้วย โดยการปลูกต้นไม้ขอบลำห้วย และขอบอ่าง เป็นต้น

“ในปี พ.ศ.2563 ซึ่งฝนตกน้อยกว่าปี 2562 ถึง 40% น่าจะเกิดภัยแล้ง แต่เพราะว่าเราได้ทำโครงการห้วยแก้วโมเดล วันนี้น้ำในวังที่เรามีฝายใต้ทรายไม่แห้ง สามารถสูบน้ำใช้ทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ มีน้ำแล้ว ปลูกอะไรก็ได้กิน ได้ขาย เชื่อว่าในอนาคตลูกหลานที่ทำงานต่างถิ่นก็จะกลับมา มาช่วยพ่อช่วยแม่ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านให้ดียิ่งๆขึ้นไป”

พัสกร เขื่อนพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านปางเคาะ หมู่ 11 ต.ไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ยอมรับว่า ลำห้วยหลักที่เป็นแหล่งน้ำในการผลิตประปาภูเขาของชุมชนแห้งขอด จนไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ซึ่งระบบประปาชุมชนนี้ครอบคลุมการใช้งานทั้งคนในหมู่บ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลไทรย้อย ที่ให้บริการแก่ประชาชน หมู่ที่ 2, 3, 5, 6, 11 และ 12 โดยมีแหล่งน้ำที่ลำห้วยแม่แขมที่อยู่ใกล้หมู่บ้านเพียงพอต่อการนำมาใช้ในหมู่บ้าน แต่ไม่มีที่กักเก็บน้ำ หากต้องดึงน้ำจากลำห้วยแม่แขมเข้ามาในหมู่บ้าน

การลงมือทำหรือการแก้ไขปัญหา

1.ก่อสร้างถังเก็บน้ำดื่มคอนกรีต กว้าง 5 เมตร สูง 2 เมตร ยาว 5 เมตร จำนวน 1 ถัง เพื่อรองรับน้ำจากลำห้วยแม่แขมมาเก็บไว้
2.สร้างระบบกรองน้ำ เพื่อกรองน้ำที่มาจากลำห้วยแม่แขม ก่อนส่งเข้าระบบประปาชุมชน
3.วางท่อคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 12 ท่อ เชื่อมจากลำห้วยแม่แขม นำน้ำมาผ่านระบบกรองน้ำที่สร้างขึ้นใหม่
4.วางท่อ PVC และท่อเหล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว ระยะทาง 4,000 เมตร จากระบบกรองน้ำไปเข้าถังเก็บน้ำดื่มคอนกรีต และต่อจากถังเก็บน้ำดื่มคอนกรีตเข้าระบบประปาชุมชน

“ในเฟสแรก มีปริมาณน้ำใช้ในระบบประปาชุมชนเพิ่มอีก 36,000 ลูกบาศก์เมตร/รอบ แต่ใน 1 ปี สามารถนำน้ำมาใช้ได้ 2 รอบ ทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลไทรย้อย ที่ดูแลประชาชนใน 6 หมู่บ้าน มีน้ำไว้ใช้ดูแลผู้ป่วยอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ขาดแคลนน้ำสำหรับล้างมือในสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ได้รับประโยชน์ 188 ครัวเรือน จำนวน 1,300 คน”

นอกจากนี้ เกษตรกรอินทรีย์ “กลุ่มผักยิ้ม” ที่อยู่ในชุมชน สามารถขยายพื้นที่ปลูกผักเพิ่มได้อีก 1 ไร่ สามารถรองรับคนว่างงานที่กลับมาอยู่บ้านจากสถานการณ์โควิด-19 ให้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง โดยรายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งอีกเดือนละประมาณ 10,000 บาท

ในทางเทคนิคการบริหารจัดการน้ำในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” จะมีเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ Stop Log คือ บานขวางทางน้ำไหลออกจากแหล่งน้ำ เพื่อ ยกระดับน้ำล้น เพิ่มการกักเก็บน้ำให้มากยิ่งขึ้น สามารถตั้งระดับน้ำที่ระบายออกได้ โดยจำแนกการนำไปสร้างในพื้นที่ต่างกัน 4 พื้นที่ ได้แก่
-Stop Log บนฝายใต้ทราย
-Stop Log บล็อกหน้าท่อ
-Stop Log เสริมสปิงเว
-Stop Log คลองชลประทาน
ผลที่จะได้รับการแก้ไข
-สามารถเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำให้มากยิ่งขึ้น และให้น้ำอยู่ในพื้นที่นานขึ้นด้วย ส่งผลให้ปริมาณน้ำใต้ดินมากขึ้นด้วยเช่นกัน (เติมน้ำใต้ดิน)
-หากมีปริมาณน้ำที่มาก สามารถตั้งระดับน้ำที่ระบายออกได้ ตามที่ต้องการ หรือตามการใช้ประโยชน์และความเหมาะของพื้นที่
-Stop Log คลองชลประทานทำให้น้ำไหลเข้าพื้นที่เกษตรได้สะดวกขึ้น
-ปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตรได้
เทคนิคเฉพาะ หรือพิเศษข้อควรระวัง
1.การกำหนดจุดก่อสร้าง หากเป็นลำห้วย ควรคำนึงถึงความแรงและปริมาณน้ำ เพื่อออกแบบให้สามารถรับแรงของน้ำได้ดี และควรติดตั้งลูกเต๋าไว้หลัง stop log เพื่อชะลอความแรงของน้ำ และควรทำหูช้างสองข้างสูงกว่า ตัว stop log และคันดินที่อยู่ข้างๆพอที่ดินจะไม่ไหลลงมา
2.การตั้งระดับน้ำที่ระบายออก ควรพิจารณาความแรงของน้ำ และปริมาณตะกอน หากพื้นที่นั้นน้ำแรงมากควรตั้งระดับน้ำที่ระบายออกเท่ากับระดับลำห้วย เพื่อให้น้ำไหลผ่านสะดวก และควรต้องมีช่องระบายน้ำมากกว่า 1 ช่อง
3.หากจะสร้างเพื่อเสริมสปิงเวย์ เพิ่มการกักเก็บน้ำในอ่างหรือทำนบ ควรคำนึงถึงความแข็งแรงของคันอ่าง การบดอัดได้มาตรฐานหรือไม่ และไม่ควรสร้างสูงกว่าหรือเท่ากับระดับคันอ่าง เพราะจะทำให้อ่างพังเสียหาย

ตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น ได้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนต่าง ๆ ที่ต้องการ “รอดภัยแล้ง” ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ได้ร่วมแรงลงมือตามกระบวนการโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง”

 

You Might Also Like