CSR

“ภารกิจคิดเผื่อ” ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ของ AIS Academy มุ่งนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สร้างสังคมไทยแข็งแรงอย่างยั่งยืน

24 เมษายน 2567….AIS Academy ไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะพัฒนาคนในองค์กรเอไอเอสเท่านั้น แต่ยังคงเดินหน้าส่งต่อองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่สังคมไทยภายใต้โครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ” ที่ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต แก้วิกฤติประชากร ลดทอนความเหลื่อมล้ำ อย่างยั่งยืน ให้กับเด็กและเยาวชน การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ และคนพิการ

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวถึงความร่วมมือในการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง

เพราะการยกระดับคุณภาพชีวิคคน ในสังคม ต้องเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน การเกิด “ภารกิจคิดเผื่อ” เมื่อช่วงโควิด 2564 เอไอเอสพร้อมเป็นไม้ขีดไฟเล็กๆ 
จุดประกายความคิดให้เกิดเป็นกองไฟแห่งการทำงานจากทุกภาคส่วนเพื่อประชาชนร่วมกัน สร้างนวัตกรรม ทักษะความรู้ และโอกาสใหม่ ๆ ในเวลานั้น 
เอไอเอสก็ทำงานร่วมกับกระทรวง พม.ที่ให้องค์ความรู้ทักษะอาชีพต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ และก็เกิดอีโคซิสเต็มภาคเอกชนอีกหลายแห่งเข้ามาร่วมทำงาน

“เราเชื่อว่าความร่วมมือกับเอไอเอส ภายใต้โครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ” เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ 
ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ในการหนุนเสริมการทำงานระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมสร้างความเท่าเทียม อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ในอนาคตแม้ว่าจะผ่านยุคผมไปแล้ว แต่เรากับเอไอเอสได้สร้างความร่วมมือไว้ชัดเจนยั่งยืน ก็เชื่อว่าเป็นต้นแบบของการทํางานระหว่างภาครัฐภาคเอกชนต่อไป”

อนุกูล อธิบายต่อเนื่องนับจากนี้เป็นต้นไป ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตประชากรของไทย ทั้งอัตราเด็กเกิดน้อยลง จำนวนวัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น คาดการณ์ว่า ปี 2579 ประเทศไทย จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 30% ท้าทายการทำงานของ พม.เป็นอย่างมาก พม. จึงให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ ครอบคลุมเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อเป็นกำลังแรงงานให้กับประเทศ รวมถึงการเสริมพลังวัยทำงาน โดยจะต้องตั้งตัวได้ เพื่อสามารถสร้างครอบครัว และดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ ตลอดจนคำนึงถึงการพัฒนาระบบที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว เอื้อให้ประชาชนมีหลักประกันในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ อันเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย

กานติมาย้ำว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอไอเอส ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเติบโตแบบร่วมกันของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้กับคนไทยทุกกลุ่ม เพราะเอไอเอสเชื่อว่า การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรงไม่ได้สร้างการเติบโตให้กับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ศักยภาพของดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาส และลดช่องว่างในการแสดงศักยภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน หรือ Digital Inclusion อีกด้วย

“ความร่วมมือกับกระทรวงพม.ครั้งนี้ เราเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งเขามี Commitment กับสังคม เขาต้องการมีพื้นที่ที่เขาได้ทําอะไรเพื่อ Contribute ให้กับสังคม นับเป็นจุดแข็งของคนรุ่นใหม่ โดยเราจะมีเวที Hackathon สำหรับนวัตกรรมให้ผู้พิการ และผู้สูงวัย เรากําลังให้คนอีก Gen หนึ่งออกแบบเพื่อคนอีก Gen หนึ่ง จะเห็นสภาพสังคมที่แท้จริงจากการคิดของคนรุ่นหนึ่งตอบโจทย์ความความท้าทายของคนที่อยู่ในสังคมสูงวัย เรากําลังทํางานเพื่อคนทุกช่วงวัย”

กานติมากล่าวถึงความคาดหวังจาก “ภารกิจคิดเผื่อ” ในปีนี้ที่มี Hackathon ครั้งแรก เพียงนักศึกษาแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมก็เป็นเสียงสะท้อนที่ทําให้คนทํางาน ถือว่าประสบความสําเร็จแล้วในการที่เชื่อว่าเรื่องต่าง ๆ ในสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเท่านั้นแต่คนไทยทุกคนคนที่อยู่ในสังคมลุกขึ้นมาช่วยรับผิดชอบสังคมด้วยกัน

“จากจุดเริ่มต้น เมื่อเราได้ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ได้จริง ทางกระทรวงพม. สามารถนํานวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ และทําให้ลดความเหลื่อมล้ำได้ ทําให้คนในสังคมมีศักยภาพในที่เขาอยู่ ไม่ถูกริดรอนไปด้วยความเหลื่อมล้ำแบบที่ผ่านมา เอไอเอสก็เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนําแนวคิดนี้ขยายวงกว้างออกไป โดยมี Backup คณาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ คอยให้คำแนะนำ”

การดำเนินงานภายใต้ “ภารกิจคิดเผื่อ” โดย AIS Academy สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 10 คือ การลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (Reduce Inequalities) รวมถึง เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางสังคม ซึ่งพนักงาน AIS พร้อมจะมีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ขจัดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

การร่วมทำงาน กับ กระทรวง พม. จึงเป็นการนำศักยภาพ จุดแข็งของพนักงานและองค์กร ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาส่งต่อ แบ่งปัน ในฐานะ Solutions ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ 
สร้างความเท่าเทียม ยกระดับขีดความสามารถประชาชนและสังคม ให้ผ่านพ้นวิกฤติประชากรได้อย่าง
มีประสิทธิภาพ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานร่วมกัน ทำให้เข้าใจถึงปัญหาของแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้สามารถนำองค์ความรู้มาสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด 
อันประกอบไปด้วยแนวทางการทำงานในแกนต่าง ๆ ดังนี้

1.สร้างนวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนพิการและผู้สูงอายุ ผ่านโครงการ Jump Thailand Hackathon 2024 ดังที่กล่าวข้างต้น
2.สร้างทักษะยกระดับการพัฒนาอาชีพผ่านโครงการ Train The Trainer จากโค้ชอุ่นใจอาสา ให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เพื่อส่งต่อไปยังประชาชนในการพัฒนาอาชีพต่อไป
3.สร้างความรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจาก Digital Content ในรูปแบบของบทเรียน โดยพนักงานอุ่นใจอาสา
4.สร้างโอกาสเข้าถึงความรู้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการห้องสมุดดิจิทัล ปันความรู้ ด้วยแพลตฟอร์ม AIS ReadDi พร้อมมอบแท็บเล็ตเพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านโลก Digital อีกด้วย

“เราเป็นไม้ขีดไฟเล็ก ๆ จุดประกายความคิดให้เกิดเป็นกองไฟแห่งการทำงานจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากศักยภาพของพนักงาน , เทคโนโลยีดิจิทัลทันสมัยและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล, การมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง พร้อมด้วยช่องทางการเข้าถึงประชาชนมากกว่า 45 ล้านรายทั่วประเทศที่จะเป็นเสมือนโอกาสในการ ลดช่องว่าง ขจัดความเหลื่อมล้ำ อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้เค้าได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นการส่งต่อพลังใจไปสู่กลุ่มประชาชนที่ยังคงอยู่ในภาวะพึ่งพิง ให้ก้าวพ้นจากปัญหาวิกฤติประชากรได้” กานติมากล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like