CSR

UOB My Digital Space ” เติมทักษะการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ” ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

5 มีนาคม 2567…ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ถือเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมานาน และยิ่งขยายช่องว่างกว้างขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้ปกครองจำนวนมากมีรายได้ลดลง โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าในปีการศึกษา 1/2564 มีเด็กยากจนและยากจนพิเศษรวมประมาณ 1.9 ล้านคน รายได้ของครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เหลือเฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,094 บาทเท่านั้น ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูกหลานเพิ่มมากขึ้น เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียนผ่านออนไลน์ ค่าอินเตอร์เน็ต ทำให้มีเด็กจำนวนมากไม่สามารถไปต่อในระบบการศึกษาของไทย

อย่างไรก็ดีเราเห็นความพยายามของทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการศึกษา โดยยึดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อที่ 4 คือ การศึกษาที่มีคุณภาพ และข้อที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ดำเนินงานผ่านโครงการ UOB My Digital Space (MDS) โครงการหลักของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ซึ่งมุ่งสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการมอบเครื่องมือการเรียนรู้ และสื่อดิจิทัล เพื่อเชื่อมโยงนักเรียนสู่การเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล ภายใต้ “ยูโอบี ฮาร์ทบีท” (UOB Heartbeat) โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มธนาคารยูโอบี ที่เน้นใน 3 ด้าน คือ ศิลปะ เยาวชน และการศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมของคน

 

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ยกระดับโครงการ UOB My Digital Space (MDS) มอบการศึกษาที่มีคุณภาพแก่นักเรียนขาดโอกาสกว่า 4,000 คน

 

โครงการนี้มีแผนงานระยะยาวร่วมกับโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับเส้นทางการเรียนรู้ดิจิทัล ด้วยการสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ หลักสูตรดิจิทัลวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งในปี 2565 มีการส่งมอบห้องเรียนดิจิทัลไปแล้วจำนวน 3 จังหวัด คือ โรงเรียนอนุบาลเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี โรงเรียนถ้ำปินวิทยาคม จังหวัดพะเยา และโรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จังหวัดลำปาง

ที่ห้อง UOB My Digital Space (MDS)

ซึ่งงบประมาณในการดำเนินงานแต่ละปีมาจากเงินระดมทุนร่วมกันของพนักงานยูโอบีตั้งแต่เริ่มดำเนินการ โครงการ UOB My Digital Space ล่าสุดธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จัดกิจกรรมระดมทุนและสร้างความร่วมมือผ่านกิจกรรม “2023 UOB Global Heartbeat Run/Walk” งานเดิน/วิ่งเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร พนักงาน และครอบครัว รวมถึงลูกค้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมให้เด็กไทยในโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยสามารถระดมทุนได้ 4,000,000 บาท เงินทั้งหมดถูกนำไปสร้างห้องเรียน UOB My Digital Space พร้อมสนับสนุนหลักสูตรดิจิทัล ให้ 3 โรงเรียนใหม่สำหรับปี 2567 ได้แก่ โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนปากแพรกวิทยาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนบ้านทุ่งมน จังหวัดขอนแก่น รวมถึงมีการขยายความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่าง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สนับสนุนครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพในการสร้างแรงบันดาลใจเข้าไปสอนในโรงเรียนที่ขาดโอกาส และเพิ่มส่วนของแพลตฟอร์มแนะแนวอาชีพ a-chieve ที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ และการตั้งเป้าหมายในอนาคตของนักเรียนได้ด้วย

ธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย อธิบายถึงจุดเริ่มของโครงการ UOB My Digital Space ว่าเดิมทีธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เข้ามาให้ความรู้เรื่องวิชาการเงินตามความเชี่ยวชาญของธนาคารให้กับทางโรงเรียน และมองเห็นว่าเด็กจำนวนมากยังขาดโอกาสในการเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะการเข้าถึงทักษะดิจิทัลและการเรียนรู้ในวิชาหลักอย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จึงจับมือกับพันธมิตรโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ คัดหาโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่มากที่ขาดแคลนอุปกรณ์ แต่มีความพร้อมในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อเข้ามาช่วยเหลือทั้งส่วนของฮาร์ดแวร์ที่เป็นห้องเรียนดิจิทัล และซอฟท์แวร์ อย่างหลักสูตรดิจิทัล

การผสานเทคโนโลยีเข้ากับการศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้เด็กพร้อมสำหรับอนาคต อาทิ การคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา

“โลกยุคนี้เป็นยุคที่เด็กสามารถรับข้อมูลแบบไร้พรมแดน การเรียนแบบ E-learning ทำให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงข้อมูลจากมุมต่างๆ มีคอนเท้นต์ที่หลากหลาย สามารถเชื่อมโยงเพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้เด็กต่อยอดไปสู่การเรียนหรือประกอบวิชาชีพในอนาคต ห้องเรียนรู้ดิจิทัลจึงเหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ เราอยากให้เด็กที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่าน E-learning เหมือนกับเด็กที่อยู่ในเมือง เพื่อลดช่องว่างและขยายโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระของครู ทำให้ครูสามารถพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น”

 

สำหรับโรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนขนาดกลางมีนักเรียนตั้งแต่ ม.1 – ม.6 จำนวนกว่า 1,000 คน เดิมทีทางโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์อยู่บางส่วน แต่ไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานของเด็ก

ประวิทย์ สิงห์เรือง

ประวิทย์ สิงห์เรือง ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในส่วนห้องเรียนดิจิทัล คอมพิวเตอร์ใหม่ 40 เครื่อง รวมถึงหลักสูตรดิจิทัล วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านโปรแกรมจากทุกที่ เรียนไม่ทันก็กลับมาเรียนซ้ำได้ ช่วยครูในเรื่องของการเตรียมการสอน โปรแกรมดิจิทัลทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี เช่น วิชาภาษาอังกฤษเด็กให้ความสนใจมาก เพราะเด็กมีความสุข สนุกกับการเรียนแบบใหม่ๆ ทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น”

 

ภาคีพันธมิตรเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญสำหรับการดำเนินการในโครงการ UOB My Digital Space เพราะยูโอบีเชื่อว่าการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จที่ครบวงจร ในปี 2566 ยูโอบีจึงให้การสนับสนุนมูลนิธิ Teach For Thailand ผ่านการสนับสนุนโครงการร้อยพลังการศึกษา ทำให้โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษกได้รับครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำนวน 2 ท่านในวิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งครูจาก Teach For Thailand มีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนให้กับเด็ก เนื่องจากอายุไม่ห่างจากนักเรียนมากนัก เด็กสามารถพูดคุยด้วยง่าย รู้สึกเหมือนครูเป็นเพื่อนและยอมเปิดใจด้วย ทำให้เด็กบางคนที่เคยเป็นเด็กหลังห้อง กลายมาเป็นเด็กหน้าห้องที่สนใจการเรียนมากขึ้น


การผสานเทคโนโลยีเข้ากับการศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้เด็กพร้อมสำหรับอนาคต อาทิ การคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา

ธนิต แคล้วโยธา ผู้จัดการส่วนภูมิภาค (ภาคกลาง) มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ตัวแทนจาก Teach For Thailand เสริมว่า พันธกิจของ Teach For Thailand คือการทำงานร่วมกับภาคีอื่น ๆโดยมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้นักเรียนมีการพัฒนา ในขณะที่ภาคีอื่นเข้ามาช่วยเรื่องเทคโนโลยีการสอนอันจะทำให้นักเรียนมีพัฒนาการที่เร็วขึ้น

“Teach For Thailand จริงจังมากที่จะสอนให้นักเรียนมีทัศนคติและทักษะในการเรียนรู้และการอยู่ในสังคมเพราะถ้านักเรียนขาดสิ่งเหล่านี้เขาก็จะไม่ได้หันมาใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้แม้ว่าเราจะมีเครื่องมือที่ดีอยู่ตรงหน้าก็ตาม Teach For Thailand มีความหวังอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถเข้าถึงนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้มากขึ้น ภายใต้การขยายความร่วมมือกับผู้บริจาคในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย”

ด้านณัฐรา อยู่สนิท ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด ตัวแทน Winner English อธิบายว่า โปรแกรมดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษที่นำมาใช้จะช่วยสนับสนุนการเรียนของนักเรียนและพัฒนาภาษาอังกฤษของพวกเขาให้ดีขึ้น

 “เรามีการติดตามพัฒนาการของเด็กทั้งระหว่างเรียนว่ามีการใช้งานโปรแกรมต่อเนื่องหรือไม่ ดูคลิปวิดีโอ ทำแบบฝึกหัดหรือไม่และหลังเรียนมาผลการเรียนดีขึ้นไหม ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจนักเรียนมีคะแนนสอบที่ดีขึ้น”

อีกหนึ่งบทเรียนในโครงการ UOB My Digital Space (MDS)

ณัฐพงษ์ จิณะเสน เจ้าหน้าที่การศึกษาสัมพันธ์ บริษัท เลิร์น เอ็นดูเคชั่น จำกัด ตัวแทนจาก Learn Education ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Learn Education มีความตั้งใจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มคุณภาพการศึกษาของเด็กต่างจังหวัด การเข้ามาสนับสนุนโปรแกรมดิจิทัลด้านวิทยาศาสตร์ผ่านห้องเรียน UOB My Digital Space ของทางยูโอบี ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แบบผสมผสานให้เด็กเรียนแบบ Web Learning โดยมีคุณครูทำหน้าที่เป็นผู้นำในการนำเข้าสู่บทเรียนและเป็นโค้ชเดินในห้องเรียนเพื่อแนะนำเด็ก

“การเรียนแบบนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของบทเรียน มีสมาธิในการเรียน สามารถเรียนวนซ้ำในบทเรียนที่เขาไม่เข้าใจ เรามองว่าพวกร่วมมือกันของภาคีต่างๆ ทำให้เด็กที่อยู่ห่างไกลไม่จำเป็นต้องเข้าไปเรียนในเมืองก็ได้ เพราะเด็กได้เรียนเนื้อหาเดียวกันกับเด็กในเมือง”

นอกจากด้านวิชาการ  ยูโอบียังเติมในส่วนของแพลตฟอร์มแนะแนวอาชีพ a-chieve ที่เข้ามาช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองมากขึ้น ว่าต้องการมีอนาคตแบบไหน ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย ผู้ก่อตั้ง บริษัท อาชีฟ โซเชียลเอนเทอไพรส์ จำกัด อธิบายว่า

 “a-chieve เข้ามาทำงานร่วมกับครูแนะแนวในโรงเรียน โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน ทัศนคติ วิธีการเข้าหาเด็ก เช่น เรื่องของการฟัง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมในห้องเรียน เช่น การรู้จักตัวเองอย่างรอบด้าน การแนะนำอาชีพ การวางแผนชีวิตเพื่อให้ครบทั้งด้านวิชาการและการแนะแนวเพื่อให้เด็กมีแนวทางในการใช้ชีวิต”

กนกวรรณ โชว์ศรี

ความร่วมมือทั้งหมดสำคัญมากในการช่วยผลักดันการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของเด็กในพื้นที่ห่างไกล กนกวรรณ โชว์ศรี ผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ มองว่า ในอนาคตจะมีการเติมเต็มความช่วยเหลือที่จำเป็นเข้าไปเรื่อยๆ เพราะต้องยอมรับว่าแม้จะมีความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ได้ลดลง

“การทำงานกับภาคีของเรา จะมีการพูดคุยกันทุก 6 เดือนเพื่อดูว่ามีอะไรจะต้องปรับหรือเติมตรงไหนเข้าไปอีก เราต้องการให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องและยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเด็กอีกจำนวนมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือ”

ธรรัตน จากทางยูโอบีหวังว่าจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนห่างไกลอย่างน้อย 3 โรงเรียนทุกปี รวมถึงการให้พนักงานเข้าร่วมโครงการต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนชั่วโมงอาสาของพนักงานอย่างน้อย 10% ต่อปี

“ยิ่งพนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมมากเท่าใด ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาทำงานอย่างมีความหมาย สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยูโอบีที่ต้องการมีส่วนร่วมในการยกระดับสังคม นอกเหนือจากการให้บริการทางการเงิน ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำว่า แม้เพียงพลังเล็กๆ แต่หากเริ่มต้นก็จะเป็นการเติมเต็มช่องว่างสู่อนาคตที่สดใสได้” ธรรัตน กล่าวในท้ายที่สุด

You Might Also Like