CSR

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ Kick Off ในโรงเรียนสพฐ.29,000 แห่งทั่วประเทศ ปีการศึกษา 1/2566

13 มกราคม 2566…AIS เดินหน้าขยายผลโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” หลักสูตรการเรียนรู้ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่าน ศึกษานิเทศก์ ครูอาจารย์ ไปสู่ นักเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต รวม 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มต้นการเรียนการสอนภายในภาคต้น ของปีการศึกษา 1/2566 เป็นต้นไป

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ร่วมกันกล่าวถึง “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เกิดจากการทำงานร่วมกัน AIS และภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับการเรียนการสอน ปลูกฝังทักษะดิจิทัล ผ่านเนื้อหา 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป (คลิกอ่านระเอียดเพิ่มเติม)

สำหรับ AIS นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่พร้อมขยายผลผ่านไปยัง ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทั่วประเทศ ที่อยู่ในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ในการนำเข้าไปอยู่ในการเรียน การสอน หรือ กิจกรรม ที่จะบ่มเพาะให้นักเรียนค่อยๆเพิ่มพูนความรู้ และทักษะดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์นโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอย่างชัดเจน โดยเชื่อมั่นว่า ด้วยเทคนิคการสอนของครูอาจารย์ จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิชาการที่จะสนับสนุนให้เยาวชนเกิดภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ในส่วน สพฐ.นี่คือการขับเคลื่อนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังสถาบันการศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ที่จะทำให้นักเรียนและเยาวชนมีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นสูงสุด และจะเป็นการยกระดับภาคการศึกษาไทยให้ทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ในกลุ่มก่อนระดับอุดมศึกษา มีองค์ความรู้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ผ่านการเรียนการสอนที่หลากหลาย อาทิ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมแนะแนว หรือรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับโครงสร้างวิธีการทำงานของแต่ละสถาบันการศึกษา

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา จะใช้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์บูรณาการกับรายวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ จัดให้อยู่ในกิจกรรมชมรม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือกิจกรรมแนะแนว ทั้งนี้บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา คือวางแผนและปรับใช้ในสถานศึกษา บทบาทของครูผู้สอน นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้แก่นักเรียน สำหรับนักเรียน คือการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของตนเอง และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถรับมือและอยู่ร่วมกับการใช้งานออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รู้เท่าทัน ป้องกัน เพื่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน

 

You Might Also Like