ALTERNATIVE

โรงงานน้ำตาล เน้นรับอ้อยสด สะอาดเข้าหีบ หวัง “เราชนะ” ด้วยกัน ในการช่วยลดอ้อยไฟไหม้ แก้ปัญหา PM 2.5

9 กุมภาพันธ์ 2564… SD Perspectives พบข้อมูลที่ยังคงใช้ได้ในปัจจุบันจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย “ทำไมต้องเผาอ้อย?” ซึ่งไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) อธิบายถึง ทั้งชาวไร่และโรงงานพยายามจะลดอ้อยไฟไหม้ให้ได้ตามนโยบายภาครัฐ

จากเอกสารของธนาคารแห่งประเทศ กล่าวถึงสาเหตุที่เผาอ้อย เพราะอ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่า ทำให้ตัดได้ปริมาณมากกว่าอ้อยสด แรงงานที่ตัดอ้อยไฟไหม้จึงมีรายได้ต่อวันสูงกว่าประมาณ 100 บาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแรงงานสูงวัยมีเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานมีอำนาจต่อรองที่จะตัดอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้น

รถตัดอ้อยมีน้อยและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ต้นทุนค่าเช่ารถตัดอ้อยมีราคาสูง และมีจำนวนน้อย ระยะการปลูกอ้อยในไร่ห่างกันเพียง 1.2-1.3 เมตร แต่หน้ารถมีหน้ากว้างถึง 1.6-1.7 เมตร จึงไม่เหมาะกับการใช้รถตัดอ้อย โดยโรงงานน้ำตาลให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด หากไม่รับซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด

แนวทางที่อยู่ในระหว่างการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มค่าปรับอ้อยไฟไหม้ และเพิ่มเงินจูงใจให้อ้อยสดมากขึ้น โดยให้โรงงานเป็นผู้จ่ายส่วนเพิ่ม ควรสำรวจความเป็นไปได้และความต้องการใช้รถตัดในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการวางแผนจำนวนรถตัดที่ต้องการใช้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรถตัดให้มีประสิทธิภาพ

สิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง หลังเปิดรับผลิตมาแล้ว 57 วัน ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

ภาพ…ธนาคารแห่งประเทศไทย (คลิกภาพอ่านข้อมูล “ทำไมต้องเผาอ้อย)

จากปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 43.86 ล้านตันอ้อย พบว่า มีอ้อยสดเข้าหีบรวม 33.10 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 75.46% และสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 24.54% คิดเป็น 10.76 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยสดเพียง 50.47% และอ้อยไฟไหม้ 49.53% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 49.99 ล้านตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานของอ้อย (ซี.ซี.เอส.) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ 12.58 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มีค่าความหวาน 12.33 ซี.ซี.เอส. เป็นผลให้ผลผลิตน้ำตาลได้ 47.27 ล้านกระสอบ

“โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์และสนับสนุนให้ชาวไร่จัดเก็บผลผลิตอ้อยสด สะอาด และไม่มีสิ่งปนเปื้อน ส่งเข้าหีบ โดยเข้าไปให้องค์ความรู้และเทคนิคการจัดเก็บ ตลอดจนจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยให้ชาวไร่ที่มีรายได้จากการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น”  

ล่าสุด สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้หารือในเบื้องต้นกับผู้ประกอบการโรงน้ำตาล เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจในโครงการ (เอ็มโอยู) การใช้ประโยชน์ใบอ้อยและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

ภายใต้กรอบเอ็มโอยูโครงการความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำใบอ้อยที่เป็นเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ โดยคาดว่าจะมีการรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ได้ประมาณปีละกว่า 1 ล้านตัน เพื่อนำไปใช้แปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการระหว่างปี 2564-2566

สิ่งที่ชาวไร่จะได้รับรายได้จากการขายใบอ้อยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากรายได้ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาอยู่ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์  จึงเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งเข้าหีบเพิ่มขึ้น จะเป็นรูปธรรม “เราชนะ”  ร่วมกันอย่างชัดเจน

ข้อมูลเพิ่มเติม

You Might Also Like