ALTERNATIVE

โครงการวิจัยดีเด่นแก้จน-เสริมภูมิสู้วิกฤตเศรษฐกิจฐานราก

29 สิงหาคม 2565…บพท.ประกาศ 10 งานวิจัยดีเด่น เป็นข้อยืนยันสรรพคุณวิชาความรู้จากงานวิจัยแก้ปัญหายากจนได้กว่า 9 หมื่นคน และพลิกฟื้นผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก จากพิษโควิด-19 ได้กว่า 583 ราย รวมสร้างนวัตกรรม ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรได้ถึง 25 รายการ

กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท. ได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อทำการวิจัยแนวทางแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับชุมชน เอกชนและราชการส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัด จนสามารถช่วยเหลือผู้ยากจนที่ตกสำรวจแล้วกว่าแปดแสนคน

“ขอบเขตการดำเนินงานของ บพท. ครอบคลุมการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และวิจัยเพื่อพัฒนาชุดความรู้ใหม่ ช่วยเหลือทั้งระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ซึ่งแปลงเป็นโครงการและกิจกรรม เช่น การส่งต่อผู้ยากจนเข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ การวิจัยเพื่อยกระดับการประกอบอาชีพ การวิจัยเพื่อส่งเสริมทักษะทางการเงิน และการวิจัยเพื่อยกระดับความสุขและความรู้ของชุมชน”

ทุกงานวิจัยที่ บพท. เข้าไปมีบทบาทให้การสนับสนุน ล้วนบรรลุเป้าหมายทั้งในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเสริมสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดยที่มีงานวิจัยซึ่งได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ได้รับการยกย่องเป็นงานวิจัยดีเด่น จำนวน 10 โครงการ ซึ่งสร้างผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ และผลกระทบที่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างยั่งยืน โดยช่วยให้คนจนกว่า 90,000 คน มีที่ยืนในห่วงโซ่คุณค่า ทำให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการระดับเศรษฐกิจฐานราก ที่ต้องเผชิญวิกฤตอันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายด้านไปแล้วกว่า 583 ราย อีกทั้งยังก่อเกิดนวัตกรรม ที่สามารถขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรถึง 25 รายการ

ทั้งนี้โครงการวิจัยดีเด่นทั้ง 10 โครงการ ครอบคลุมงานวิจัยรวม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาเชิงระบบหรือนโยบายระดับชาติ จังหวัดหรือท้องถิ่น และด้านการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ รวมทั้งด้านการอนุรักษ์ พัฒนาและจัดการภูมิปัญญา ทรัพยากรและทุนของชุมชน

โครงการวิจัยดีเด่นด้านการพัฒนาเชิงระบบหรือนโยบายระดับชาติ จังหวัด หรือท้องถิ่น ประกอบไปด้วย

1.โครงการสร้างเมืองปูทะเล กลางวิกฤตที่ปัตตานี ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม
2.โครงการธุรกิจปันกัน เสริมสภาพคล่องด้วยวัคซีนทางการเงิน ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์
3.โครงการระบบบริหารครัวเรือนยากจน แบบร่วมมือระดับพื้นที่ ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธ์ุ นำโดย รศ.ดร.จิระพันธ์ ห้วยแสน

โครงการวิจัยดีเด่น ด้านการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ ประกอบด้วย

1.โครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผลิตผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์ด้วยนวัตกรรมสำหรับชุมชน ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำโดย ดร.ภรณี หลาวทอง
2.โครงการปฏิบัติการกระจูดแก้จนจากข้อมูลสู่การสร้างโมเดลแก้จนแบบมีส่วนร่วมและกระบวนการเสริมพลัง จังหวัดพัทลุง ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดย รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง
3.โครงการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากพื้นถิ่นมะม่วงเบา ยางพาราและพริก ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี นำโดย ผศ.ดร.อนุวัติ วอลี
4.โครงการการพัฒนาโคเนื้อจังหวัดน่าน ด้วยกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ ของคณะวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล

โครงการวิจัยดีเด่นด้านการอนุรักษ์ พัฒนาและจัดการภูมิปัญญา ทรัพยากรและทุนของชุมชน ประกอบด้วย

1.โครงการจัดการทรัพยากรป่าประ นบพิตำ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการอนุรักษ์ยั่งยืนของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นำโดย ผศ.ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ
2.โครงการ Learning City Lampang Model ของคณะวิจัย ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำโดย ดร.ขวัญนภา สุขคร
3.โครงการ Phayao Learning City; City of Local Wisdom ของคณะวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดย รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์

 

You Might Also Like