ALTERNATIVE

WEPs Awards มอบ 7 องค์กรเอกชนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ครั้งแรกในไทย

21 ตุลาคม 2564…องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) มอบ รางวัล “WEPs Awards” ครั้งแรกในไทย เชิดชู 7 องค์กรเอกชนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ เน้นย้ำความสำคัญของหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women’s Empowerment Principles) เพิ่มบทบาทผู้หญิงในระดับผู้นำองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจ

ผู้ชนะเลิศทั้ง 7 สาขารางวัล ประกอบด้วย

1. “สาขาผู้นำองค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ” ได้แก่ จิตติรัตน์ ตันตสิรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.แอทต้า ออโต้เฮ้าส์ จำกัด
2.”สาขาสถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ” ได้แก่ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)
3. “สาขาการตลาดที่คำนึงถึงมิติทางเพศ” ได้แก่ บริษัทคอนเนคติ้ง เฟาน์เดอร์ส จำกัด
4.”สาขาการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม” ได้แก่ บริษัทลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
5. “สาขาความโปร่งใสและการรายงาน” ได้แก่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
6. “สาขาผู้นำองค์กรรุ่นใหม่ที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ” ได้แก่เน็ต สุภัทรวณิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ila (ไอล่า)
7. “สาขาองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม ที่โดดเด่นเรื่องการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศตามหลักการ WEPs ได้แก่ บริษัท ซีด ทู ซัสเทน จำกัด

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือนธันวาคม 2563 ระบุว่า จำนวนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นสตรีคิดเป็นร้อยละ 20 ของกรรมการทั้งหมด และบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนบริษัททั้งหมดในตลาดทุน

UN Women 2021 Thailand WEPs Awards เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรที่มีแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ปีนี้เป็นปีแรกที่ WEPs Awards ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกร่วมกับหน่วยงานในประเทศไทย มีผู้ชนะเลิศทั้ง 7 สาขารางวัลจากการคัดสรรใบสมัครทั้งหมด 62 ใบ โดยคณะกรรมการ 15 ท่าน ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ผู้นำองค์กรเครื่อข่ายผู้ประกอบการสตรี หน่วยงานด้านการพัฒนาสังคม องค์กรภาคธุรกิจ และ สถาบันการศึกษา โดยทั้ง 7 องค์กรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนี้ จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในระดับภูมิภาคที่จะมีการประกาศผลในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้อีกด้วย

โมฮัมหมัด นาซีรี ผู้อำนวยการสำนักงาน UN Women ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศว่าองค์กรที่ผลักดันด้านความเท่าเทียมทางเพศ ย่อมสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจถือเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างพื้นที่ทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมและความหลากหลายทางเพศ

“UN Women ขอชื่นชมที่หลายองค์กรได้ปฎิบัติตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรีเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง และหวังว่ารางวัล WEPs Awards นี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้องค์กรอื่น ๆ หันมาปรับใช้แนวปฎิบัติหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรีกันมากยิ่งขึ้น”

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้นำหลักธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างพลังสตรีมาปรับใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดประเด็นความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นการแสดงถึงการปฏิบัติและประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมมาภิบาล โดยบริษัทจดทะเบียนสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในรายงาน 56-1 หรือ One-Report ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2565 เป็นต้นไป

“มีผลการวิจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างแสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพสตรีไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังดีต่อธุรกิจอีกด้วย”

นับเป็นการร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ การมีส่วนร่วม และบทบาทความเป็นผู้นำของผู้หญิงและคนทุกเพศ เพื่อให้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ และเศรษฐกิจต่อไป

 

You Might Also Like