ACTIVITIES

SCGP รวมพลัง “คนรุ่นใหม่” คิดแพคเกจจิ้งเพื่อ “คนรุ่นใหญ่” ผ่านเวทีประกวด PACKAGING SPEAK OUT 2023

30 สิงหาคม 2566…สินค้าที่ดีไม่ได้หมายถึงตัวสินค้าข้างในเท่านั้น แต่บรรจุภัณฑ์ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มสินค้ายังมีบทบาทส่งเสริมให้สินค้านั้นน่าซื้อ ใช้ง่าย และสร้างความประทับใจให้ผู้บริโภคอีกด้วย ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ บทบาทของบรรจุภัณฑ์ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ทั้งยังต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนไปตามวัยของผู้สูงอายุเช่นกัน

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ในฐานะผู้นำบรรจุภัณฑ์ครบวงจรที่เชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ จึงลุกขึ้นมาเปิดเวทีให้พวกเขาเหล่านี้ปล่อยไอเดียการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยในโครงการประกวด SCGP PACKAGING SPEAK OUT 2023 ซึ่งนอกจากผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาเฉพาะแล้ว ระหว่างทางของการออกแบบยังสร้างกระบวนการทำความเข้าใจ และเข้าอกเข้าใจของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นใหญ่ แม้จะต่างวัยก็อยู่ร่วมกันได้แบบไม่ต่างใจกันในสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

สุเมธ บุญยธนพันธ์ Manager – Inspired Studio and Packaging Solutions, SCGP

สุเมธ บุญยธนพันธ์ Manager – Inspired Studio and Packaging Solutions, SCGP กล่าวว่า SCGP ได้ก้าวจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นผู้มอบโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน เพื่อเป็นการตอบรับเทรนด์การเข้าสู่ “สังคมสูงวัย”ของประเทศไทย SCGP จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มนี้ เพราะในด้านของการออกแบบบรรจุภัณฑ์จะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์สำหรับคนทั่วไป ซึ่งนักออกแบบรุ่นใหม่ต้องใส่ใจและเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานให้มากกว่าแค่ความสวยงาม ถ้าบรรจุภัณฑ์นั้นยิ่งสามารถใช้งานได้สะดวกกับทุกวัย ใช้ได้ง่ายทั้งครอบครัว ก็น่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้งาน

ดังนั้น การเจาะอินไซต์ให้ลึกถึงใจว่าแพคเกจจิ้งแบบไหนที่ผู้สูงวัยต้องการจึงเป็นเรื่องสำคัญ โครงการประกวด SCGP PACKAGING SPEAK OUT 2023 จึงเปิดตัวพร้อมกับงานเสวนาเชิญวิทยากรมาให้ความรู้กับนิสิตนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

โดยนำอินไซต์ในฝั่งของผู้ใช้งานอย่าง อรสา ดุลยางกูล เจ้าของงานฝีมือแบรนด์ Craft in on ตัวแทนคนรุ่นใหญ่หัวใจวัยรุ่นมาเล่าถึงความรู้สึกของผู้สูงอายุว่าล้วนอยากพึ่งพาตัวเอง ไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน ฉะนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสิ่งของเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน จึงควรคิดถึงการออกแบบที่ใช้งานง่าย ใช้ได้จริง และปลอดภัย เช่น การใช้ตัวหนังสือที่ใหญ่ ใช้รูปภาพหรือสีของแพคเกจจิ้งที่แยกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน จดจำได้ง่าย รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนี้ผู้สูงวัยก็ยังชื่นชอบแพคเกจจิ้งที่ออกแบบสวยงาม แข็งแรงทนทานและสามารถนำมาใช้ซ้ำ เพื่อใส่อุปกรณ์ข้าวของส่วนตัวในบ้านต่อได้เช่นกัน

เวทีเสวนาอินไซต์ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

ในขณะที่ รพิดา อัชชะกิจ เจ้าของเพจเข็นแม่เที่ยว ผู้มีประสบการณ์ดูแลคุณแม่ผู้ป่วยเป็นโรคทางสมองมากว่า 7 ปี ยังเสริมข้อมูลที่น่าสนใจว่าสำหรับผู้สูงอายุ การเลือกแพคเกจจิ้งที่ใช้งานได้จริงนั้นสำคัญกว่ายี่ห้อของผลิตภัณฑ์เสียอีก เพราะการแค่เปิดใช้งานสิ่งของเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ของผู้สูงอายุในทุกวัน และยังแบ่งปันไปถึงความสุขของคนที่ดูแลด้วย

เพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้มุมมองการออกแบบสำหรับผู้สูงวัยอย่างครบมิติ ผศ.พญ.ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์ จากสาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช อธิบายให้เห็นถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายที่เปลี่ยนไปตามวัยซึ่งแต่ละคนอาจจะเจอปัญหาแตกต่างกัน อาการเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงอาจเจอได้ทั้งสายตาฝ้าฟาง โรคต้อกระจก ปัญหาเรื่องข้อต่อ กระดูก กล้ามเนื้อมือและแขนที่ส่งผลต่อการหยิบจับสิ่งของไม่สะดวก ไปจนถึงประสาทสัมผัสที่เสื่อมถอยลง ทั้งหมดส่งผลให้นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการหยิบใช้งานของผู้สูงวัยเป็นอันดับต้น ๆ

เวทีของนักการตลาดและดีไซน์เนอร์

ด้าน ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมอง Design for Aging ที่ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ โดยถือโอกาสแบ่งปันข้อมูลเจาะลึกของการทำการตลาดให้กับคนสูงวัย หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม Silver Gen ทั้งข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของคนสูงวัย ความสนใจเรื่องการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ที่ส่วนใหญ่ผู้สูงวัยมักจะเป็นคนตัดสินใจซื้อด้วยตัวเอง มีกำลังซื้อ และมักซื้อของทีละน้อย ๆ หรือซื้อทีละชิ้นเมื่อจำเป็นต้องใช้มากกว่า ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหัวใจสำคัญของนักออกแบบที่จะคิดถึงการออกแบบแพคเกจจิ้งให้ตรงใจ รวมไปถึงคิดกลยุทธ์การขายที่ตรงเป้าหมายของผู้สูงวัย

พร้อมกันนี้ สุริยา พิมพ์โคตร และอรปวีณ์ บวรพัฒนไพศาล Food and Beverage Packaging Designer จาก SCGP ได้เล่าถึงกรณีศึกษาจริงของการออกแบบแพคเกจจิ้งเชิงรุก (Proactive Design) ที่นักออกแบบต้องลงไปพูดคุย สำรวจเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าจนได้ออกมาเป็นงานออกแบบที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า รวมไปถึงการออกแบบแพคเกจจิ้งบนหลักการ Universal Design ที่เข้าใจง่าย ใช้งานสะดวก ผ่านการใช้สี รูปภาพหรือกราฟิกที่จะวัยไหนก็เข้าใจได้เหมือนกัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานให้ง่ายดาย และยังช่วยเติมเต็มความรู้สึกหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ครบตามหลักของการตลาดที่ต้องคิดให้ครอบคลุมทั้งประโยชน์การใช้งานและความรู้สึกดี ๆ ที่ได้จากการใช้งานนั้น

ไอเดีย และข้อมูลใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นของเหล่านิสิตนักศึกษาที่ต้องการปล่อยแสงให้ผู้ใหญ่

นิสิตนักศึกษาผู้สนใจปล่อยไอเดียการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยในการประกวด SCGP PACKAGING SPEAK OUT 2023 สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 7 กันยายน 2566 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thechallenge.scgpackaging.com/en/speakout

 

You Might Also Like