มิถุนายน 23, 2025… เทคโนโลยีดิจิทัลควรเปิดพื้นที่ให้ LGBTQIAN+ แสดงตัวตนได้อย่างปลอดภัย มีสิทธิเท่าเทียม เช่น การออกแบบ App ระบบ AI หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่เลือกปฏิบัติ
หลังพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในประเทศไทยผ่านฉลุย หลายคนมองว่านี่คือความสำเร็จ และถือเป็นประตูที่เปิดรับความหลากหลายให้มีความเป็นรูปธรรมมาขึ้น แต่อีกหลายฝ่ายก็ยังมองว่าความเหลื่มล้ำบนโลกออกไลน์ยังคงเป็นปัญหาที่อาจจะต้องใช้เวลาในการแก้ไข BANGKOK PRIDE FORUM 2025 จึงเปิดหัวข้อที่น่าสนใจอย่าง Diversity And Inclusive Digital For LGBTQIAN+ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลควรเปิดพื้นที่ให้ LGBTQIAN+ แสดงตัวตนได้อย่างปลอดภัยและมีสิทธิเท่าเทียม เช่น การออกแบบแอปพลิเคชัน ระบบ AI หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่เลือกปฏิบัติ
สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด นันท์ชญา โต๊ะทอง Account Director ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ Jenosize Digital Group เป็นผู้ร่วมเสวนาหัวข้อนี้
พื้นฐานของ 3 วิทยากรในฐานะคนทำงานด้านดิจิทัลให้มุมมองเกี่ยวกับการนํา Inclusive Design หรือว่า Digital Equity มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือว่า การให้บริการ รวมถึงการออกแบบ Platform digital ขององค์กรตนไว้อย่างน่าสนใจ
กล้าเผยว่าเรื่อง Inclusive ใน Platform เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่างเช่น ใบสมัครงานที่มีแค่ชายหญิง เราสามารถเลือกข้ออื่นได้ไหม หรือไม่เลือกเลยได้หรือเปล่า ซึ่งต้องอาศัยการผลักดันอย่างต่อเนื่อง
“ในแพลตฟอร์มของไวซ์ไซท์เรามีการใช้ AI ตามแท็กอินฟลูเอนเซอร์แล้ว Identify ว่าเขาเป็นชายหญิงหรือเป็น LGBT เพื่อให้เราเห็นว่าสัดส่วนทั้ง audience แล้วก็ทั้งตัว info เขามีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะเราไม่สามารถไล่ถามทุกคนได้ เราพยายาม identify พวกนี้เอาไว้แล้วทําให้เป็นธรรมชาติ วิธี inclusive ที่ดีที่สุดคืออย่าไปแยกเขาก่อนตั้งแต่แรก”
ขณะที่นันท์ชญามองว่าแม้ในวงการ Creative agency จะเปิดกว้างและต้อนรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในความเป็นจริงบน System ยังไม่ได้ถูกวางแผนหรือออกแบบมาเพื่อบุคคลข้ามเพศอย่างจริงจังมากนัก
“จริงๆคนไทยเห็นใจกัน แต่ถ้าให้ไปนั่งคิดตั้งแต่โครงสร้างระบบหลายคนอาจจะมองว่ายังไม่ถึงเวลา ยังไม่จำเป็น สะท้อนได้จากหลายๆครั้งที่ลูกค้ามาบรีฟงานเรา เขาอาจจะคิดถึงแค่เพศชายเพศหญิง ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้รู้ว่า เรื่องนี้อ่อนไหวที่ต้องวางแผน เช่น ถ้าจะทํา Super App หรือสินค้าสักอย่างขึ้นมาต้องคิดเผื่อเพศที่หลากหลายด้วย ซึ่งตอนนี้ลูกค้าอาจจะยังไม่ได้คิดถึงตรงนี้ การที่เราเป็นตัวแทน หรือว่าผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยี เราจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงแรกที่จะบอกลูกค้าได้ว่าลูกค้าน่าจะต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเราทําไว้ตั้งแต่วันที่ร่างโครงสร้างจะง่ายกว่าถึงวันที่เขายอมรับกันหมดแล้วเราต้องมาลื้อระบบ ซึ่งมันยากกว่า”
ด้านสุวิตาอธิบายว่าเทลสกอร์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Content Creator ใส่เรื่อง Inclusive เข้าไปในแพลตฟอร์มตั้งแต่วันแรกที่เปิดบริษัท แม้ช่วงแรกคนอาจจะยังไม่แสดงตัวตนที่ชัดเจน แต่ถึงวันที่ต้องการแสดงออกระบบก็พร้อมสำหรับคนกลุ่มนี้
“เราเป็นแพลตฟอร์มช่วยส่งงานให้กับ Content Creator ซึ่งเราพบว่าภายในเวลาประมาณแค่ปีครึ่งของการเปิดบริษัทงานสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศมีต้นทุนบวก คนกลุ่มนี้จะได้ราคาสูงกว่า ได้ค่า Creativity ของเขาที่มักมีมากกว่าปกติ วงการ Creative ตอบรับมากกว่า ลูกค้าเองก็มองหา Creativity เพราะฉะนั้นจึงมองว่า LGBT เป็นต้นทุนบวก”
นันท์ชญาเสริมเรื่องของการนำ Inclusive Design ไปประยุกต์กับลูกค้าว่า ช่วงออกแบบระบบ ไม่ใช่แค่คิดว่าจะออกระบบมาให้ใช้งานง่ายหรือทำให้ Seamless แต่ระหว่างกระบวนการคิดต้องคิดและคอยย้ำกับลูกค้าเสมอว่าลืมคิดถึงใครหรือเปล่า ไม่ใช่แค่เรื่องของเพศอย่างเดียว แต่รวมถึงทุกเรื่อง
“อย่างคอนเทนต์ที่ใส่สีมาเยอะๆ คนที่มีปัญหาทางสายตาเห็นโอเคไหม รูปที่ขึ้นมามีแค่ชายหญิงเหรอ เราต้องแคร์ทุกคนที่เป็นยูสเซอร์ของเราจริงๆ ถ้าเราทราบและทำความเข้าใจได้ว่ายูสเซอร์ของเราเป็นใคร เราจะสามารถเก็บดีเทลได้ทั้งหมด ขั้นตอนการออกแบบ Inclusive design จึงจำเป็นต้องทำให้ flexible และเหมาะสมกับแต่ละคนนี่คือสิ่งที่เราต้องการเห็นในอนาคต ในเรื่องของ Inclusive Design”
อย่างไรก็ตามการจะทำเรื่อง Inclusive Design ให้สำเร็จจำเป็นต้องหาโอกาสและแนวทางในการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐฯ เอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมในการส่งเสริมความเท่าเทียม ลดอคติของระบบ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIAN+
“ถ้าเรามีตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไร มีอิมแพคอย่างไร แล้วรณรงค์ให้คนกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดการวัดผลได้ และสร้างให้เกิด Potentail ไม่ว่าจะเป็นเชิงเศรษฐกิจ การออกแบบดีไซน์สินค้าและบริการให้คนกลุ่มนี้ ซึ่งประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งเรามองว่าถ้าเราทำได้อยู่ประเทศเดียวทำไมเราไม่ทำให้มันเป็นจุดเด่นในอาเซียน” กล้าให้ทรรศนะซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของสุวิตาที่มองว่าในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับ DATA อยากชวนภาครัฐทำวิจัยเชิงนโยบายหรือเชิงปฏิบัติ ในแง่ของการสร้างประเทศไทยเป็นแลนด์มาร์กของการผลิต Inclusive Generation การสร้างคนรุ่นใหม่ที่เปิดกว้าง เพื่อส่งออกต่างประเทศ
ประเทศไทยเปิดกว้างมากๆเรื่องนี้ ถ้าเราทํา Branding ว่าโอเค คนจีนสอนลูกหลานอย่างไร ลูกทําไมถึงได้เก่งจัง ก็เขาขยันใช่ไหมคะ คนญี่ปุ่นสอนลูกหลานอย่างไร ลูกทําไมถึงได้มีระเบียบเรียบร้อย คนไทยสอนลูกหลานอย่างไร ลูกทําไมถึงได้ Inclusive เราได้รับการสืบทอดดีเอ็นเอกันมาโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ คุณค่าทางวัฒนธรรมตัวนี้ เราอยากยกให้เป็น Hard Power
ก้าวต่อไปในการที่จะพัฒนาโลกดิจิทัลให้เป็นพื้นที่โอบรับเคารพแล้วก็สะท้อนความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง วิทยากรทั้งสามเห็นตรงกันว่า เรื่องสมรสเท่าเทียมอาจจะเป็นก้าวแรกของการเป็นกระบอกเสียง แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรได้
สิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นคือ การผลักดันให้กลุ่ม LGBTQIAN+ ได้เข้าไปนั่งอยู่ในการวางโครงสร้างและระบบต่างๆของสังคม เพื่อเป็นส่วนร่วมในการวางรากฐานให้ชุมชน LGBTQIAN+ ในอนาคต
“พอมีสมรสเท่าเทียมสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ ราชการเกิดการยอมรับ เพราะบนวงการดิจิทัลเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว เรายอมรับและผลักดันเรื่องนี้มานานแล้วเพราะนั่นเป็นพื้นที่ที่เราทำได้ เหลือแค่ภาครัฐที่ต้องรอพ.ร.บ.ผ่านเขาถึงทำได้ ต้องยินดีด้วยที่วันนี้กลุ่ม LGBTQIAN+ ไม่ได้มีตัวตนแค่ในออนไลน์ แต่มีตัวตนจริงๆโดยเอกสารทางราชการได้แล้ว”
กล้ากล่าวต่อเนื่องในท้ายที่สุดว่า ดิจิทัลเป็นแค่เครื่องมือของเราในการใช้ชีวิตให้สะดวก เพิ่มประสิทิภาพในการสื่อสาร เพราะฉะนั้นอย่างมองเกินกว่าการเป็นเครื่องมือ อย่าพึ่งพามากเกินไป อย่ามองเป็นทางออก หรือตัวปัญหา ซึ่งเครื่องมือนี้เปลี่ยนเร็วและมีของใหม่มาแทนเรื่อย ๆ เราต้องพึ่งตัวเองให้มากแล้วใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเสริมเพื่อให้เราทำสิ่งนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นเราจะตกเป็นทาสของดิจิทัล