TALK

ศิรเดช โทณวณิก “อาศัย คือ แพลตฟอร์ม Hospitality สร้างบรรยากาศสะท้อนความยั่งยืนไปสู่ลูกค้า”

4 ธันวาคม 2563…ในเครือดุสิตธานี เกิดแบรนด์ “อาศัย” แห่งแรกในย่านเยาวราชให้บริการอย่างเป็นทางการเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่กลุ่มดุสิตธานีขยายการให้บริการไปสู่ลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียมที่มีสไตล์เฉพาะตัวแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวที่ติดตามไปในทุกแบรนด์ของกลุ่มดุสิตธานี

เพราะที่โรงแรมอาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ แห่งนี้นำแนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เข้าไปบริหารจัดการภายในรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบอาหาร การจัดการของเสีย การลดมลพิษ การดูแลชุมชนโดยรอบ โดยหวังที่จะให้บรรยากาศความยั่งยืนเหล่านี้กลับไปเป็นประสบการณ์การเข้าพักที่ลูกค้ามีความสุข และประทับใจ

ศิรเดช โทณวณิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้บริหารโรงแรมแบรนด์ “อาศัย” กล่าวว่าแบรนด์อาศัยจะเป็นโรงแรมที่มากกว่าโรงแรม เพราะเป็นแพลตฟอร์ม Hospitality ที่ใส่ใจด้านความยั่งยืนในทุกมิติ

เริ่มจากการดูแลชุมชนโดยรอบซึ่งเสมือน Stakeholder ของเรา เนื่องจากทำเลเยาวราชถือเป็นย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ มีอัญมณีที่ซุกซ่อนไว้หลายอย่าง และโดดเด่นในด้านวัฒนธรรมตั้งแต่ร้านอาหารแนวสตรีทฟู้ดส์ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ศาลเจ้า วัดไทย วัดจีน วัดญวณ หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ รวมถึงคาเฟ่ร่วมสมัยที่แทรกตัวอยู่ในตึกเก่าของเยาวราช ทางโรงแรมจึงได้รวบรวมสถานที่ และร้านอาหารที่น่าสนใจไว้บนเว็บไซต์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่มาเข้าพักมีไอเดียการท่องเที่ยวรอบๆ โรงแรม ถือเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับชุมชนละแวกนี้

ทีมงาน “อาศัย” สัมผัสชุมชนที่เป็น Stakehoder ร่วมครีเอทผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืน

“เราเชื่อว่าการเดินทางสามารถเปิดโลกให้กับทุกคน ขอให้คนๆ นั้นมา เขามีความรู้สึกในการสำรวจ หรือมีการออกแบบเพื่อการค้นพบ ผมคิดว่าแค่นี้ก็เป็นการเดินทางแล้ว แม้ว่าเราจะอยู่เมืองไทย หรือเป็นคนกรุงเทพฯ ก็ตาม หากมีโอกาสได้เดินทางไปที่ใหม่ ๆ หรือกินอะไรใหม่ ๆ ก็เป็นการค้นพบอะไรใหม่ ๆ ได้เหมือนกัน เป็นการเดินทางอย่างหนึ่งที่อาจจะไม่ต้องเดินทางไปขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ได้ แต่คือการเดินทางสร้างประสบการณ์ของเราเอง โดยแขกที่มาพักที่นี่ มาทานอาหาร มาดื่มเครื่องดื่มที่นี่ก็ถือเป็นการได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในโรงแรมอาศัยเช่นกัน”

ด้วยความต้องการที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวก ผู้บริหารโรงแรมอาศัยยังออกแบบสินค้า และระบบต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยในด้านวัตถุดิบอาหารจะมีแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นผักบุ้ง สะระแหน่ กระเพรา โหระพา และผักสลัด โดยเชฟจะเป็นผู้ปลูก และดูแลด้วยตัวเองทั้งหมด เพราะต้องการให้เชฟมีส่วนร่วมในระบบ Food Production ตลอดทั้งซัพพลายเชน หรือแม้กระทั่งเมล็ดกาแฟที่นำมาให้บริการกับลูกค้า ทางโรงแรมก็ได้เข้าไปทำงานร่วมกับลี –อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งกาแฟอาข่า อาม่า  เพื่อสร้าง Signature กาแฟอาข่า อาม่า-อาศัย  เป็นต้น

Akha Ama x ASAI
-กาแฟดำที่มีน้ำสับปะรดผสม เครื่องดื่มแก้วนี้มีชื่อว่า Akha Ama Sunset ซึ่งมีส่วนผสมของ อาข่าอาม่า espresso, น้ำสับปะรด ตบด้วยสับปะรดแห้งก่อนเสิร์ฟ (ซ้าย)
-กาแฟที่ผสมอัญชัน ที่เวลาดื่มใช้หลอดไบโอจากชานอ้อย เครื่องดื่มแก้วนี้มีชื่อว่า Blue Jeans Latte ซึ่งมีส่วนผสมของ อาข่าอาม่า espresso, นมสด, ไซรัปเพียงเล็กน้อย และที่ขาดไม่ได้คือชาอัญช้น (ขวา)

“การดูแลซัพพลายเชนสำหรับเราสำคัญมากที่สุด ดังนั้นเชฟที่ดีที่เก่งต้องเป็นเชฟที่ดูแลซัพพลายเชนในส่วนของเรื่องพืชผักได้ อีกอย่างมันคือการสร้างวัฒนธรรม และประสบการณ์ให้กับองค์กร และเพื่อนร่วมงานของเขาเองด้วย”

ส่วนเรื่อง Food Waste นั้น ในต้นทางการได้มีการออกแบบโอเปอร์เรชั่นให้เกิดขยะอาหารน้อยที่สุด โดยจะสังเกตว่าที่นี่จะไม่มีบุฟเฟ่ต์แต่จะเป็นอาหารตามสั่งแบบ a la carte อย่างอาหารเช้าจะวางซีเรียล และผลไม้จำพวกส้ม และกล้วย หากกินไม่หมดก็สามารถเก็บไว้ได้ แต่ถ้าใครต้องทานของหนักๆ อย่างข้าว แฮม ไข่ดาว ก็จะมีเซ็ต a la carte ไว้ให้บริการ เพื่ออาหารจะไม่เหลือเป็นขยะ นอกจากนี้พนักงานฝ่ายขายจะต้องทำงานใกล้ชิดกับเชฟ โดยแจ้งจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละวัน เพื่อเตรียมวัตดุดิบให้เหมาะสม

ในขณะที่การจัดการ Food Waste ในปลายทาง โรงแรมอาศัยมีแผนที่จะบริหารจัดการวัตถุดิบร่วมกับโรงแรมในเครืออาศัย ซึ่งแห่งต่อไปจะเปิดโรงแรมอาศัย สาทร ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า รวมถึงนำขยะอาหารมาผ่ากนระบวนการแปลงสภาพเป็นปุ๋ยต่อไป โดยตั้งเป้าที่จะลดการฝังกลบให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี ภายใต้ประเด็นโลกร้อน การก่อสร้างโรงแรมอาศัยยังได้รับการออกแบบทางด้านวิศวกรรมโดยทีมงานเชี่ยวชาญเพื่อลดการใช้ทรัพยากร พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

“เมื่อนึกถึงแบรนด์อาศัย เราอยากให้ทุกคนนึกถึงแพลตฟอร์มโรงแรมที่ครีเอทผลกระทบเชิงบวกให้กับทุก Stakholder เพราะเรามีความเชื่อเรื่องนี้ ดังนั้นลูกค้าจะได้เห็นโรงแรมซึ่งอยู่สบาย นอนสบาย กินอาหารอร่อยปลอดภัย มีความสุขไปกับมัน สิ่งสำคัญได้เรียนรู้ชุมชนรอบโรงแรมจากพนักงานของเราโดยตรง ไม่ว่าลูกค้าสนใจว่าแถบนี้กินอาหารแบบนี้ได้ที่ไหน ร้านกาแฟไหนอร่อย ประวัติศาสตร์ตรงนี้เป็นอย่างไร พนักงานเรามีความสามารถแนะนำได้ เป็นการพักผ่อนแบบ Staycation ที่เปลี่ยนโลก เปลี่ยนมุมมองให้กับลูกค้าได้สัมผัสในเรื่องความยั่งยืนกลับไป” ศิรเดช กล่าวในท้ายที่สุด

ก่อนขึ้นลิฟต์โรงแรมอาศัย สิงโตรียูสจากสิ่งของเหลือใช้ และหากเลิกใช้ก็สามารถแกะวัสดุเหล่านี้ออก เพื่อนำไปสร้างงานศิลปะใหม่ได้อีกครั้ง

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like