TALK

ใช้พลังงานโซลาร์ ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า

15 กันยายน 2564… วันนี้โซลาร์สำหรับประชาชนจับต้องได้แล้ว อยากให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ มาช่วยกัน ได้ทั้งความคุ้มค่า และยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ Work from Home ผนวกกับภาวการณ์กึ่งล็อคดาวน์ทำให้ค่าใช้จ่ายในบ้านเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า บางบ้านเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 30-50 หลายคนจึงเริ่มมองถึงตัวเลือกที่จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า

“วันนี้การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟเพื่อผลิตไฟฟ้า ผมถือว่าถูกกว่าราคาไฟฟ้าที่เราซื้อจากสายส่ง ยกตัวอย่าง บ้านเดี่ยวขนาดกลางที่มีแอร์ 2 เครื่อง มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น ตู้เย็น ทีวี ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 3,500-4,500 บาทต่อเดือน สามารถลดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 1,400-1,900 บาท”  มงคล เฮงโรจนโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าว

อนาคตของพลังงานแสงอาทิตย์ไทย

เมื่อพิจารณาถึงอุปสรรคในเชิงข้อกฎหมาย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า ยังมีข้อจำกัด โดยยกตัวอย่างกรณีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมว่า ยังมีข้อบังคับให้ผู้ผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ในปัจจุบันมีโรงงานที่ต้องการติดโซลาร์บนหลังคาแต่ไม่มีพื้นที่ ในขณะที่อีกโรงงานมีพื้นที่ แต่ได้ติดโซลาร์บนหลังคาเต็มปริมาณที่ต้องการแล้ว หากภาครัฐอนุญาตให้มีการขายไฟจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่ได้ จะช่วยส่งเสริมให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์ได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนภาคประชาชน ถ้ามีการเพิ่มแรงจูงใจ เช่น สามารถนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์ไปลดหย่อนภาษีได้ หรือสามารถนำคาร์บอนเครดิตมารวมกันแล้วไปขายได้ รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้นจะเป็นการเร่งให้เกิดการเข้าถึงมากขึ้น“นอกจากประเด็นโควิด 19 สิ่งที่ถือเป็นเมกะเทรนด์ในขณะนี้คือ ประเด็นเรื่องของ Carbon-Neutral การไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทุกคนโหยหาที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ด้วยอาจจะมีปัญหาในการเข้าถึง ผมคิดว่าโซลาร์คือคำตอบ พลังงานทดแทนทั้งหมดคือคำตอบ รวมทั้งพลังงานลมด้วย ซึ่งอยู่ในกระแสที่ภาคธุรกิจจับตาอยู่

“ในอนาคตผมคิดว่าภาพของ “โรงไฟฟ้า” จะเป็นโรงไฟฟ้าเล็ก ๆ มากขึ้น ซึ่งตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้วในฝั่งตะวันออก ฝั่งยุโรป รวมทั้งฝั่งอเมริกา และผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เราอยู่ในระดับต้น ๆ ในเอเชีย”

มุ่งหน้าสู่ Net Zero

แม้ว่าเอสซีจีจะเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาจับธุรกิจพลังงานโซลาร์เพียงไม่กี่ปี แต่ก่อนหน้านี้ได้ศึกษาเรียนรู้และเริ่มดำเนินการจากภายในองค์กรมานาน ล่าสุดพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมที่ทนทาน ประหยัด และเป็นที่ยอมรับขององค์กรต่าง ๆ ที่นำไปใช้

สำหรับเอสซีจี มงคลเล่าว่า การที่เราตั้งเป้าการเป็นธุรกิจเชิงยั่งยืน กับประเด็นโลกร้อน หรือ Climate Change ที่วันนี้ก้าวเข้าสู่ “Climate Emergency” ในระดับโลกแล้ว เรามีการพูดกันในระดับองค์กรมาหลายปีแล้ว ล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 เอสซีจีได้ประกาศเดินหน้าองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2593 สอดคล้องกับการผลักดันความตกลงปารีสของประชาคมโลก โดยเริ่มจากการปรับ Mindset ให้พนักงานตระหนักถึงผลกระทบของวิกฤตโลกร้อน ปรับปรุงเครื่องจักร ทั้งในโรงงานต่าง ๆ ของธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือแม้แต่สำนักงานใหญ่ที่บางซื่อ และมีการใช้พลังงานทดแทน เรื่องแรกคือพลังงานโซลาร์

“เราพยายามใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หันมาใช้พลังงานโซลาร์จากภายในองค์กร จนมีความเชี่ยวชาญ รู้จุดอ่อนจุดแข็ง และพัฒนาเป็นนวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) เป็นรายแรกของประเทศไทยปัจจุบันได้ทำการส่งมอบทุ่นลอยน้ำเพื่อประกอบและติดตั้งแล้วมากกว่า 30 โครงการ รับประกันถึง 25 ปี ตัวทุ่นสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อผลิตเม็ดพลาสติก PCR ได้ ตัวทุ่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 38 เมกะวัตต์ ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 26,000 ตันต่อปี และยังมี SCG Solar Roof Solutions ที่ได้ทำการติดตั้งไปแล้วมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 13 เมกะวัตต์ ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 7,500 ตันต่อปี”

กระนั้น ยังมีคนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า โซลาร์เซลล์มีราคาแพง เข้าถึงยาก และเป็นเรื่องของเทคโนโลยี

“วันนี้ภาพธุรกิจเปลี่ยนไปมาก ราคาแผงโซลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลดลงกว่าร้อยละ 70-80 ฉะนั้นที่เข้าใจว่าแผงโซลาร์แพงและเข้าถึงยาก จริง ๆ ในวันนี้นวัตกรรมเรื่องโซลาร์ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น และราคาถูกลง ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นแล้ว โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐมีนโยบายรับซื้อคืนไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันที่สูงมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ โควิด 19 เป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ภาคครัวเรือนหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคามากขึ้น”

นอกจากนี้ภาคโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจ เกษตรกรรม หรือหน่วยงานราชการยังมีความต้องการติดตั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุน

ครบเครื่องเรื่องโซลาร์

เมื่อพิจารณาถึงความต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งที่ติดตั้งบนหลังคา บนพื้นดิน และพื้นน้ำ เอสซีจีแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 2 กลุ่มหลัก

1. กลุ่มลูกค้าธุรกิจที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มที่มองหาโซลูชันแบบครบวงจรที่จะมาช่วยลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าให้เจ้าของธุรกิจ หรืออาจจะมีพื้นที่ว่าง เช่น มีบ่อน้ำ ฯลฯ ซึ่งการนำทุ่นโซลาร์ลอยน้ำไปวางในบ่อน้ำยังช่วยลดการระเหยของน้ำในบ่อ เป็นการรักษาทรัพยากรน้ำอีกด้วย

2. กลุ่มลูกค้าภาคครัวเรือน บ้านที่อยู่อาศัย และธุรกิจขนาดเล็ก เป็นกลุ่มที่มีการใช้ไฟกลางวันต่อเนื่องเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30-50 เจ้าของบ้านจึงมองหาโซลูชันที่ช่วยลดรายจ่ายเรื่องค่าไฟโดยเฉพาะการติดโซลาร์บนหลังคา นอกจากจะช่วยให้ภาระค่าไฟลดลง ราคารับซื้อไฟคืนของภาครัฐจากเดิมรับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อกิโลวัตต์ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 บาทต่อกิโลวัตต์ จึงทำให้การติดตั้งโซลาร์รูฟเป็นที่สนใจของประชาชนมากขึ้น

“ประเด็นหลักที่เอสซีจีเล็งเห็นเกี่ยวกับการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา คือความกังวลใจว่าจะซื้ออย่างไร ติดตั้งอย่างไร เอสซีจีพยายามหาโซลูชันอย่างครบวงจร เรามีทีมวิศวกรสำรวจหน้างานว่าจะติดแผงโซลาร์ได้กี่แผ่น และได้ไฟกี่กิโลวัตต์ โดยแผงโซลาร์ที่เราใช้มีคุณภาพสูงสุด (Tier1) และเป็นเทคโนโลยีที่เราคัดสรรมาว่าไว้ใจได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถดูแลได้ตลอดอายุการใช้งาน และดูแลเรื่องการอนุญาตให้ครบทั้งกระบวนการ รวมไปถึงการดำเนินการขอขาย ที่สำคัญเรามีระบบติดตามการใช้โซลาร์ออนโมบาย พร้อมรับประกันตัวแผงและประสิทธิภาพการผลิตไฟนานถึง 25 ปี นับว่าคุ้มค่ามาก เพราะหลังจาก 7-10 ปีที่คืนทุน ส่วนที่เหลือนับเป็นกำไรที่ลูกค้าได้”

มงคลกล่าวในท้ายที่สุดว่า เอสซีจีให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและบริการ พยายามมองโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้า เช่นในส่วนของลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม เอสซีจีมีทีมวิศวกรที่จะให้คำปรึกษาด้านการจัดการพลังงาน (Experienced Energy Consultant) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานระบบโซลาร์อย่างสูงสุดอีกด้วย ทำให้การติดโซลาร์รูฟในภาคธุรกิจมีจุดคุ้มทุนภายใน 5-6 ปีเท่านั้น

 

You Might Also Like