NEXT GEN

“แสนสิริ” ชวนพันธมิตรร่วมตกผลึก Rethinking Sustainability แสวงหาความยั่งยืนมากกว่าแสวงหาผลกำไร

6-7 เมษายน 2567…เชื่อว่าไม่มีองค์กรไหนที่ไม่ต้องการเติบโต แต่การเติบโตที่มาจากการทำลายทรัพยากร ไม่คำนึงถึงคนในสังคม และคนรุ่นหลัง ย่อมไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของการเติบโต การดำเนินธุรกิจบนหลักการ ESG จึงเป็นคำตอบของโลกธุรกิจในเวลานี้

จากรายงานของ Morningstar U.S. Sustainability Leaders Index ในปี 2021 เปิดเผยว่า บริษัทที่มีคะแนนยอดเยี่ยมด้าน ESG สามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 33.3% (YoY) และสูงกว่าผลประกอบการโดยเฉลี่ยของธุรกิจในสหรัฐอเมริกาถึง 8%  สอดคล้องกับผลสำรวจของ Deutsche Bank ที่ระบุว่าผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับเรตติ้งด้าน ESG อยู่ในระดับสูง สามารถเติบโตเหนือตลาดทั้งในระยะกลาง (5 ปี) และระยะยาว (5 ถึง 10 ปี)

ตัวเลขเหล่านี้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า การทำกำไรสูงสุดไม่ใช่แนวทางการสร้างความเติบโตในระยะยาวอีกต่อไป  ดังนั้นองค์กรจะยั่งยืนได้ต้องบาลานซ์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลตามหลักการ ESG

 

อุทัย  อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

“แสนสิริ” มองเห็นเรื่องนี้ก่อนใครในแวดวงอสังหา เพราะเป็นอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โดย อุทัย  อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า แสนสิริเป็นองค์กรธุรกิจขนาดกลางที่ได้ริเริ่มสร้างกลยุทธ์ในด้านความยั่งยืนมากว่า 10 ปี หรือปัจจุบันเราเรียกว่า ESG (Environmental, Social และ Governance)

“เราพบข้อมูลที่น่าสนใจจากยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ระบุว่า ผู้นำองค์กรต่างๆมีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลายด้าน อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การแข่งขัน และภัยคุกคามด้านสาธารณสุข จากการสำรวจพบว่า ผู้นำในเอเชียมองว่าภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ไม่คาดฝันนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ อาทิ โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา เป็นวิกฤตที่กระทบรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และส่งผลกระทบไปทั่วโลก”

นอกจากนี้ ยังพบว่า 5 แนวทางพัฒนาความยั่งยืน ที่ผู้นำในเอเชียให้ความสำคัญ ประกอบไปด้วย 5 ด้าน ได้แก่

1. การเพิ่มทักษะแรงงาน
2. การเก็บข้อมูลความยั่งยืน
3. การเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจหมุนเวียน
4. การทบทวนค่านิยมองค์กร
5. การสร้างความหลากหลายให้ซัพพลายเชน

 

แสนสิริวาง Framework ที่ประกอบไปด้วยกลไกในการทำงาน ภายใต้ 3 Green Concept เป็นอสังหารายแรกที่ทำอย่างครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำ ไปยังปลายน้ำ นำมาสู่บ้านแนวคิดยั่งยืน (Green Living Designed Home) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Key Driver ที่ยกระดับการพัฒนาโครงการที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ รวมถึงการอยู่อาศัยที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในการลดผลกระทบและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มต้นจาก

 

1.Green Procurement คือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเลือกคู่ค้าที่ใส่ใจกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ที่มีการคำนึงถึงการผลิตที่ลดการใช้ทรัพยากรหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมวางเป้าหมายจัดซื้อวัสดุคาร์บอนตํ่า (Low-Carbon) ทั้งนี้ แสนสิริได้เลือกใช้วัสดุดังกล่าวไปแล้วกว่า 53% ในปี 2566

 

2.Green Construction ที่มีขั้นตอนก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์  และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การนำนวัตกรรม ผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปจากโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของแสนสิริ ซึ่งทำให้ลดระยะเวลาการก่อสร้างลง 3 เดือน ลดขยะจากการก่อสร้างได้ถึง 15% ช่วยลดฝุ่นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไซต์ก่อสร้างลงเป็นจำนวนมาก

 

3. Green Architecture & Design หรือการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย (Well-being) รวมถึงการออกแบบที่ผสานแนวคิดการพึ่งพาธรรมชาติ (Nature Based Design Solution) มาปรับใช้ เพื่อลดการใช้พลังงานของบ้านได้ถึง 18%และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย พร้อมส่งมอบบ้านที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และรองรับการอยู่อาศัยของลูกบ้านอย่างดีที่สุด

 

บ้านในโครงการเศรษฐสิริ ที่ใช้แนวคิดบ้านยั่งยืน Green Living Designed Home เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จจาก Framework ทั้ง 3 เพราะสามารถลดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึง 18% ต่อปีต่อหนึ่งครัวเรือน และได้วางเป้าขยายผลสู่คอนโดมิเนียมในปี 2567 ที่ส่วนกลางของโครงการจะมีการนำ แนวคิดบ้านยั่งยืน ไปต่อยอดในการดำเนินงาน และตั้งเป้าสู่การลดใช้พลังงานในช่วงแรกให้ได้ราว 6%

 

จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้พัฒนาโครงการของแสนสิริ ในส่วนของต้นน้ำนั้นไม่ได้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างเอง จึงแสวงหาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ทั้งจากคู่ค้าที่มีองค์ความรู้ทางด้านผลิตภัณฑ์อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นำเสนอวัสดุที่เหมาะสม ส่วนกลางน้ำต้องอาศัยผู้รับเหมาที่มีความรับผิดชอบเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนขององค์กร

 

ในฟอรัม Rethinking Sustainability ตัวแทนหน่วยงานกลาง ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมาเป็น Benchmark ในการทำงาน เช่น

 

ดร.เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO)

“ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด สุทธิเป็นศูนย์” (Net Zero GHG Emission) ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับประเทศ เมือง ประชาชน รวมถึงองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TGO ได้ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือทั้งองค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ให้มีการประเมิน Carbon Footprint หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม และงานอีเว้นท์ และภาคเมือง จังหวัด รวมไปถึงระดับบุคคล ดังนั้น ณ วันนี้ Carbon Footprint เป็นเรื่องที่ “Must have” ไม่ใช่ “Nice to have” อีกต่อไป”

เวทีพันธมิตรร่วมตกผลึก  Rethinking Sustainability

ปรมา ทิพย์ธนทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคอนเซปต์แห่งอนาคต บารามีซี่ แล็บ

“สัญญาณการตอบรับ Requirement ด้านความยั่งยืนจากฟากฝั่งผู้บริโภคมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้การตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน  องค์กรอาจรู้สึกเหมือนเป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกโดนบีบบังคับและรู้สึกสวนทางกับเป้าหมายด้านผลกำไร แต่สัญญาณจากผู้บริโภคที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่บอกว่าอีกไม่นานเป้าหมายด้านความยั่งยืนกับเป้าหมายด้านการสร้างผลกำไรอาจจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน”

วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business  บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี)

“การจะมีที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน วัสดุมีความสำคัญอย่างมาก  วัสดุที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนต้องตอบโจทย์ในหลายมิติ  มีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าหรือช่วยให้ที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน รวมไปถึงตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของคนที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น มีคุณภาพอากาศที่ดี เป็นต้น เอสซีจีตระหนักถึงความสำคัญของมิติต่างๆ เหล่านี้ จึงพัฒนาสินค้า บริการ และนวัตกรรมต่างๆ ที่ยั่งยืน และออกฉลาก SCG Green Choice เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความยั่งยืนให้กับโลกและสังคม”

พีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด

“การสร้างความยั่งยืนทางพลังงานอย่างหยัดยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน การใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอุตสาหกรรมของคู่ค้าผู้ประกอบการ ไปจนถึงกลุ่มบุคคลผู้อยู่อาศัย ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใช้พลังงานในการดำเนินการกิจการหรือกิจวัตรประจำวัน เพราะฉะนั้นทุกคนจึงเป็นผู้เล่นสำคัญในการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน และจะได้รับผลประโยชน์ในการลดภาระค่าไฟฟ้าอีกด้วย”

สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

“แสนสิริยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าในพันธกิจสีเขียว โดยมีการปลูกฝังเรื่องของ Sustainability ให้ทุกคนในองค์กรได้เข้าใจ มีการวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว และดำเนินงานตามแผนงานอย่างเคร่งครัด ประเมินและวิเคราะห์ผลที่ได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ธุรกิจหลักของแสนสิริคือการนำส่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมี Value Chain และ Supply Chain ที่ค่อนข้างยาว ดังนั้นเราก็ต้องจัดลำดับความสำคัญจุดที่จะบริหารจัดการ อาทิ มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและลดการใช้วัสดุ มีการออกแบบที่ช่วยให้ใช้คอนกรีตลดลง และเปลี่ยนมาใช้ Green Cement ลดการปล่อย CO2ในกระบวนการผลิต นอกเหนือไปจากการสร้างมาตรการและการวัดผลแล้ว การสร้างความมีส่วนร่วมที่เกิดประโยชน์กับ Stakeholder เหล่านี้ก็ต้องหาแนวทางและวิธีการในการทำ ซึ่งนำมาสู่แนวคิดบ้าน Green Living Designed Home ที่เกิดจากทั้งนวัตกรรมในโรงงานเราเอง การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ติดตั้งแผงโซล่าร์ และมาจากกระบวนการสร้างที่คำนึงถึงการจัดการขยะที่ดี ให้ผู้บริโภคได้มั่นใจว่า ได้บ้านที่ดี แข็งแรง รวมถึงผลกระทบต่อโลก ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความหยัดยืนให้กับแสนสิริที่ปรับตัวเข้ากับบริบทใหม่ของโลก”

อุทัย กล่าวในท้ายที่สุดว่า การจัดพาร์ทเนอร์ ฟอรัม Rethinking Sustainability ทำอย่างไร? เมื่อผลกำไรไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียวในครั้งนี้  มุ่งหวังที่จะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน พันธมิตรที่มีประสบการณ์แตกต่างกันจะสามารถแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่ Best Practice ในอุตสาหกรรมได้ อาทิ บางองค์กรโฟกัสเรื่องสิ่งแวดล้อม การปล่อยน้ำเสีย การชดเชยคาร์บอน หรือแม้กระทั่งเรื่องสิทธิพื้นฐานของแรงงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

You Might Also Like