NEXT GEN

ผู้บริโภคเรียกร้อง “ธุรกิจ” พิสูจน์ความโปร่งใสของข้อมูลสิ่งแวดล้อม

2-3 ธันวาคม 2566…ผู้เชี่ยวชาญ Euromonitor เผยว่า ผู้บริโภคที่เป็นเหยื่อของกิจการ “ฟอกเขียว” กำลังมุ่งผลักความรับผิดชอบกลับสู่องค์กรธุรกิจให้พิสูจน์คำมั่นสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของตน

Stephen Dutton ผู้จัดการฝ่ายวิจัยข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าของ Euromonitor International กล่าวว่า ผู้บริโภคล้วนตระหนักว่า พวกเขากำลังเผชิญปัญหาภาวะโลกรวน และไม่คิดว่าจะสามารถจัดการกับวิกฤตดังกล่าวได้เพียงลำพัง พวกเขาใช้ชีวิตตามแนวทางความยั่งยืน แต่ก็ตั้งคำถามด้วยว่าบริษัทและรัฐบาลกำลังใช้ทรัพยากรทั้งหมด ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจริงหรือไม่

“ทุกคนรู้ว่า การทำเรื่อง Green สำคัญ พวกเขารู้ว่าทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจำเป็นต้องอาศัยความพยายามร่วมกัน ผู้บริโภคกำลังผลักความรับผิดชอบกลับคืนมาให้ธุรกิจ และจะไม่ยอมรับคำสัญญาเลื่อนลอย หรือเรื่องเล่าที่เป็นเท็จ ทุกองค์กรจะต้องร่วมรับผิดชอบเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และพิสูจน์ให้เห็นผลกระทบเชิงบวกจริงๆ”

ภัยพิบัติที่ดำเนินต่อเนื่องนำสู่สภาพแวดล้อมแย่ลง

Dutton กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคมองเรื่องการปกป้องโลกชัดขึ้น แต่ภัยจากสภาพอากาศก็คืบหน้ารวดเร็วเช่นกัน เหตุการณ์สุดขั้ว เช่น ไฟป่า ภัยแล้ง และน้ำท่วมร้ายแรง กำลังสร้างความหายนะให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วโลก เมื่ออุณหภูมิยังคงสูงขึ้น ความสงสัยของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“ผู้บริโภคตระหนักดีว่าการมีส่วนร่วมของแต่ละคนสามารถทำอะไรได้มากมาย แต่ก็ต้องการให้องค์กรต่าง ๆ ก้าวขึ้นมา และแสดงหลักฐานการทำตามคำมั่นสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมของตนด้วย”

ความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สุด 64% ของผู้บริโภคพยายามสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการกระทำในแต่ละวัน

“บางคนเลือกใช้ทางเลือกที่ยั่งยืนตามวิถีทางของตน ขณะที่คนอื่นๆ ที่รู้สึกท้อแท้อาจไม่ทำตามที่คิด อุปสรรคต่างๆ เช่น ข้อจำกัดของพลังการจับจ่ายใช้สอย และความไม่ไว้ใจ ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ภาระอยู่ที่บริษัทและรัฐบาลที่ต้องพยายามมากขึ้น และช่วยให้ผู้บริโภคเห็นปัญหาชัดว่าการตัดสินใจของพวกเขาส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างไร” Dutton เสริม

ธุรกิจต้องทำทุกเรื่องอย่างโปร่งใส

Dutton กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ต้องทำทุกเรื่องอย่างโปร่งใส แต่ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองออกว่า องค์กรใดกำลังทำเรื่องฟอกเขียว

“การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควรเป็นประเด็นหลัก แต่การระบุ Carbon Footprint ให้แม่นยำก็เป็นเรื่องซับซ้อน ธุรกิจจำเป็นต้องวัดการปล่อยก๊าซทั้งทางตรงและทางอ้อม ห่วงโซ่คุณค่าต้นน้ำและปลายน้ำ นั่นไม่เพียงท้าทายเรื่องการติดตามเท่านั้น แต่ต้องควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพด้วย”

“ข่าวดีก็คือการลงทุนมาตรการประหยัดพลังงานระยะยาวสามารถเป็นกลยุทธ์ลดต้นทุนได้ การเป็นพันธมิตรกับซัพพลายเออร์ที่เหมาะสมจะช่วยหลีกเลี่ยงบทลงโทษในอนาคต และการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลโดยตรงต่อผลกำไร”

“ความโปร่งใสสมบูรณ์เป็นสิ่งสำคัญ องค์กรต้องแชร์หลักฐานรูปธรรมของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและตรวจสอบความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงผลกระทบความยั่งยืนแบบเฉพาะเจาะจง หากผลิตภัณฑ์ของคุณทำจากวัสดุรีไซเคิล ก็ควรใส่ข้อมูลปริมาณของเสียที่ประหยัดในการผลิตไว้บนบรรจุภัณฑ์ ด้วยวิธีนี้ผู้ซื้อจะรู้ได้ทันทีว่าการตัดสินใจซื้อ หรือพฤติกรรมของตนสร้างความแตกต่างได้อย่างไร”

Dutton กล่าวว่า ความคุ้มค่าคุ้มราคาเป็นจุดแข็งอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ สินค้ายั่งยืนมักมีราคาสูงกว่า ผู้ผลิตจำเป็นต้องทำให้สินค้าเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ซื้อ

กลยุทธ์สีเขียวสำหรับบริษัทต่างๆ ในปี 2024

Dutton อธิบายว่า ปี 2023 45% ของผู้ซื้อรู้สึกว่า พวกเขามีส่วนโดยตรงต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกเดือด

“ธุรกิจควรพัฒนาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เน้นทำ Circular Economy จริงจัง แบ็คอัพด้วยหลักฐานที่จับต้องได้ และช่วยให้ลูกค้าเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ผมอยากแนะนำให้บริษัทต่างๆปรับอัตรารายได้หรือกำไรมาตรฐานใหม่ จากนั้นผลิตสินค้าราคาไม่แพง ขณะเดียวกันก็ยั่งยืนไปด้วย”

แนวทางที่รัฐบาลใช้ปราบปรามการฟอกเขียวขององค์กรธุรกิจ คือ ปรับกฎระเบียบให้เข้มงวดยิ่งขึ้น รูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น เกาหลีใต้นำเสนอร่างกฎหมายปรับบริษัทต่างๆ ที่โฆษณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต้อง ส่วนสหภาพยุโรปก็ออกกฎหมาย ห้ามใช้คำกล่าวอ้างต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากไม่มีการรับรองที่ถูกต้องเหมาะสม

ที่ม่ภาพเปิดเรื่อง คลิก

You Might Also Like