NEXT GEN

กสิกรไทยมุ่งหน้าผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครองดัชนีความยั่งยืนระดับโลกต่อเนื่อง

13 มีนาคม 2566…ในปัจจุบันพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้บริโภคนำประเด็นความยั่งยืนมาประกอบการตัดสินใจ นักลงทุนหันมาใช้เกณฑ์ ESG ประกอบการพิจารณาลงทุนมากขึ้น รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศล้วนออกมาตรการด้าน ESG ที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกสิกรไทยเองก็ได้มีการปรับตัว ตั้งแต่โครงสร้าง – นโยบาย – กลยุทธ์ – การตั้งเป้าวัดผล – การออกผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารให้รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการได้รับการยอมรับจากดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลกจากหลายสถาบัน ติดต่อกันหลายปี

ธนาคารกสิกรไทยได้รับการรับรองดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลก ได้แก่ ดัชนี DJSI 7 ปีซ้อน และมีคะแนนสูงสุดใน 5% แรก (Top 5%, S&P Global ESG Score 2022) ของกลุ่มธนาคาร ดัชนี CDP ที่คะแนนระดับ A List ด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และดัชนี Bloomberg GEI 5 ปีซ้อน เป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยโดยธนาคารพยายาม turn นโยบายต่างๆ ให้วัดผลออกมาเป็นรูปธรรม เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม มีการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและตั้งเป้าในการลด ด้านสังคม มีการวัดผลตอบแทนทางสังคมจากการทำงาน CSR ด้วย Social Return on Investment หรือ SROI พบว่า ทุกการลงทุน 1 บาทของโครงการ จะสามารถสร้างประโยชน์ทางสังคมด้วยมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างคุ้มค่า

การได้รับการรับรองดัชนีด้านความยั่งยืนระดับโลกตามที่กล่าวข้างต้น อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นความพยายามของธนาคารกสิกรไทยในการดำเนินธุรกิจด้วย ESG สะท้อนให้เห็นได้จากผลการประเมินของดัชนีต่างๆ โดยธนาคารย้ำมาโดยตลอดว่า ESG กับธุรกิจ เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่เทรนด์ ไม่ใช่แฟชั่น หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะทําให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้ มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม

“ธนาคารให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน หรือ Bank of Sustainability เพื่อสร้างการเติบโตอย่างสมดุลทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยวางกลยุทธ์การดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เน้นการวัดผล และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส โดยความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธนาคารได้รับการยอมรับจากองค์กรชั้นนำด้านมาตรฐานความยั่งยืนทั้งในประเทศและระดับสากลสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement)”

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย อธิบายเพิ่มเติมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินงานตามแนวทาง ESG และสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร รักษาสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน สร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมการดูแลพนักงานอย่างเป็นธรรม บาลานซ์ความแตกต่างหลากหลาย พร้อมทั้งนำองค์ความรู้ทางการเงิน สร้างการรับรู้แก่ประชาชนผ่านโครงการต่าง ๆ รวมทั้งใช้ธรรมาภิบาลในการประเมินความเสี่ยง ESG กับสินเชื่อโครงการ และเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป

การทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

Scope 1และ 2 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของธนาคารเป็นศูนย์ ในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับธนาคารโดยตรง โดยในปี 2565 KBank สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงาน Scope 1และ 2 ลงได้ 16.75% (เทียบกับปีฐาน 2563) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Solar) กว่า 14 % ใช้น้ำลดลง 7 % และลดปริมาณขยะลงกว่า 10% ส่วน Scope 3 ธนาคารตั้งเป้าลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารเป็นศูนย์ (Financed emission)

ในปี 2565 ธนาคารจัดทำแผนกลยุทธการลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม Sector Decarbonization Strategy จำนวน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ โรงไฟฟ้า ถ่านหิน และนํ้ามันและก๊าซ คิดเป็น 43% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งธนาคารเตรียมแผนการพูดคุยกับลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อหาแนวทางความช่วยเหลือในการลดก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน และตั้งเป้าภายในปี 2573 จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท โดยในปี 2565 ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ และการลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวนกว่า 26,000 ล้านบาท เกินเป้าที่วางไว้ที่ 25,000 ล้านบาท

ในขณะที่เรื่องทางสังคม

“ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับทุก Stakeholders ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เข้าถึงทางการเงินยาก ดังนั้น Financial Inclusion จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเข้าถึงทางการเงินได้ง่ายขึ้น ป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ โดยในปี 2565 ธนาคารให้สินเชื่อสำหรับลูกค้าใหม่ Small Pocket จำนวนกว่า 740,000 คน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยธนาคารออกแคมเปญ Cyber Literacy เพื่อให้ความรู้ทางไซเบอร์เข้าถึงผู้ชมกว่า 10 ล้านคน”

ภายใต้เรื่องทางสังคม การทำ CSR กสิกรไทยยังให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง 2 โครงการคือ โครงการ AFTERKLASS และโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งทั้ง 2 โครงการถูก “วัดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน” (Social Return on Investment; SROI) เพื่ออธิบายให้ผู้ถือหุ้นของธนาคารได้เห็นตัวเลขว่า ทุกการลงทุน 1 บาทของโครงการ จะสามารถสร้างประโยชน์ทางสังคมด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่

โครงการ AFTERKLASS เป็นโครงการสร้างองค์ความรู้ทางการเงิน การลงทุนให้เยาวชน ทุกการลงทุน 1 บาทของโครงการ จะสามารถสร้างประโยชน์ทางสังคมด้วยมูลค่า 1.31 บาท (หรืออัตราผลตอบแทน 1:1.31) โดยผลตอบแทนทางสังคมได้จากการคำนวณผลตอบแทนที่เกิดกับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้

-มูลค่าขององค์ความรู้ที่เยาวชนประเมินว่าได้รับจากโครงการ
-การลดค่าใช้จ่าย หรือการเพิ่มรายได้ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังได้รับองค์ความรู้จากโครงการ
-มูลค่าของธุรกิจและรายได้ที่ได้จากธุรกิจที่เยาวชนสามารถสร้างได้โดยการใช้องค์ความรู้จากโครงการ

AFTERKLASS มีจำนวนสมาชิกในระบบออนไลน์ จำนวน 10,543 คน เยาวชนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปทั้งในรูปแบบออนไลน์และแบบเจอตัว จำนวน 1,433 คน รวมทั้งสมาชิกที่ติดตามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เยาวชนมีความรู้เรื่องทักษะการออม การใช้จ่าย และการบริหารเงิน คิดเป็น 90.05% ของสมาชิกทั้งหมด มีความรู้เรื่องทักษะการทำธุรกิจ และการลงทุน คิดเป็น 91.5 %ของสมาชิกทั้งหมด

โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา คือโมเดลการสร้างทักษะเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์การสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 พัฒนาจัดการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning: RBL) ภายใต้สภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของผู้เรียน เป็นทักษะการเรียนรู้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการเตรียมเยาวชนไทยด้วย Mindset ใหม่ สู่การเป็น Global Citizen

“ภายในเวลา 3 ปี ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน พบว่า ทุกการลงทุน 1 บาทของโครงการ จะสามารถสร้างประโยชน์ทางสังคมด้วยมูลค่า 1.95 บาท หรืออัตราผลตอบแทน 1:1.95 โดยผลตอบแทนทางสังคมได้จากการคำนวณผลตอบแทนที่เกิดกับครูที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีมูลค่าขององค์ความรู้ที่ครูประเมินว่าได้รับจากโครงการ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ลดลงจากการต้องเดินทางเข้ามาอบรมในกรุงเทพฯ ยังพบว่ารายได้ที่ครูสร้างได้จากการบริหารเวลาชั่วโมงการสอนที่ลดลง รายได้เพิ่มจากการที่ครูใช้สมรรถนะที่ได้รับจากโครงการ และมูลค่าของเงินเดือนที่ได้รับเพิ่มจากการปรับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ หรือเงินประจำตำแหน่งของครูศึกษา”

ส่วนทางด้านธรรมาภิบาล

การประเมินผลระดับภาพรวมธนาคาร ผลดัชนีชี้วัดความภักดีของลูกค้า (Net Promoter Score: NPS) อยู่ที่ระดับ 83 ซึ่งสูงสุดของกลุ่มธุรกิจธนาคารในประเทศไทย และเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารในด้านภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง (NPS ช่องทางโมบายแบงกิ้ง) อยู่ที่ระดับ 89 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้นำที่มีคะแนน NPS สูงสุดของธุรกิจธนาคารในประเทศไทย

ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้บริการ K PLUS 20 ล้านราย เติบโต 17% จากปี 2564 โดยมี จำนวนธุรกรรมกว่า 30,000 รายการ เติบโต 53% จากปี 2564 สินเชื่อโครงการ Project Finance และสินเชื่อเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ ESG 100% คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

ขัตติยากล่าวในท้ายที่สุดถึงความมุ่งหมายของธนาคารในการเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นภารกิจที่ธนาคารจะเดินหน้าพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการประสานศักยภาพทั้งด้านเทคโนโลยี และพันธมิตรใน Ecosystem ส่งเสริมให้เกิดการลงมือทำจริงในทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม และประเทศ ให้เดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

 

You Might Also Like