CSR

ทีเอ็มบีธนชาต สานต่อคุณค่าพิพิธภัณฑ์ครุฑ จุดประกายแหล่งเรียนรู้ ……ต่อยอดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน

9 มิถุนายน 2565….พิพิธภัณฑ์ครุฑ (Garuda Museum) โดย ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในประเทศไทยและในอาเซียน ที่รวบรวมครุฑที่มีเอกลักษณ์เฉพาะองค์จากทุกภาคของไทย โดยอัญเชิญครุฑที่ประดิษฐาน ณ ธนาคารสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศมากกว่า 150 องค์ มาไว้ด้วยกัน โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์แต่ละองค์แตกต่างกันไปเช่น องค์ครุฑไม้ที่แ กะสลักอย่างวิจิตรงดงาม องค์ครุฑสีชมพู สะท้อนถึงความประณีตของศิลปิน พร้อมเรียนรู้เรื่องราว “พญาครุฑ” สัตว์หิมพานต์ สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความดีงาม และความซื่อสัตย์

มาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เผยว่า ภายใต้กิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนในส่วนของการ “จุดประกายความเป็นไทย” นอกจากกิจกรรม “เท่อย่างไทย” และ “กฐินพระราชทาน” แล้ว “พิพิธภัณฑ์ครุฑ” ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ธนาคารยังคงรักษาไว้เพื่อมุ่งเน้นจุดประกายต่อยอดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

“พิพิธภัณฑ์ครุฑ ได้จุดประกายความเป็นไทยของธนาคารทหารไทยธนชาต เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าชมได้รับแรงบันดาลใจ และสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งครุฑที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมเป็นตราครุฑพระราชทานที่ได้อัญเชิญไว้หน้าสาขาของธนาคาร เพื่อสะท้อนความเป็นสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือและอยู่เคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนาน  แต่ด้วยปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาทำให้มีการรวบรวม และอัญเชิญครุฑมาประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และมีการปรับปรุงนิทรรศการและเนื้อหาการจัดแสดงเพิ่มเติม ซึ่งเปิดให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

“พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต” ก่อตั้งขึ้นโดยเริ่มจากการที่ธนาคารธนชาตได้รวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ซึ่งธนาคารนครหลวงไทยนั้น เป็นธนาคารที่มีการดำเนินกิจการมากว่า 70 ปี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องหมายครุฑพ่าห์หรือตราครุฑพระราชทานมาติดตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่และสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2484 ซึ่งภายหลังการรวมกิจการกับธนาคารธนชาต ในปี 2554 ธนาคารธนชาตได้ตระหนักถึงคุณค่าและเล็งเห็นความสำคัญขององค์ครุฑพระราชทานที่มีความผูกพันและความศรัทธากับคนไทย รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ของไทยจึงได้มีการอัญเชิญองค์ครุฑจากสำนักงานและสาขาต่าง ๆ มาประดิษฐานยังศูนย์ฝึกอบรมบางปู เขตเทศบาลตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ครุฑขึ้น เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับองค์ครุฑในรูปแบบสื่อผสมผสาน (Multimedia) โดยยึดความเข้าใจพื้นฐานของคนไทยที่มีต่อองค์ครุฑ จากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจหลัก ในพิพิธภัณฑ์ได้มีการออกแบบและสร้างสรรค์สถานที่เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ทราบถึงความเป็นมาของครุฑตามตำนาน ทั้งในเชิงพุทธและพราหมณ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ครุฑกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

“มาถึงปี 2564 ทีเอ็มบี ได้รวมกิจการกับธนาคารธนชาต เป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต สานต่อคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยได้ปรับปรุงบูรณะพิพิธภัณฑ์ พร้อมเปิดให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ครุฑเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์จุดประกายแหล่งเรียนรู้ ต่อยอดการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างยั่งยืน”

พิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งนี้ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน ที่ได้รวบรวมและจัดแสดงองค์ครุฑพระราชทานกว่า 150 องค์ มาประดิษฐาน ผ่านการจัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของพญาครุฑที่ทันสมัยทั้งแอนิเมชัน และมัลติมีเดียต่าง ๆ ที่มีให้รับชมถึง 6 โซนนิทรรศการ ได้แก่

1.โถงต้อนรับ เริ่มต้นผจญภัยกับตำนานพญาครุฑ ด้วยการบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของพญาครุฑ ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ AR

ส่วนจัดแสดงที่ 1 โถงต้อนรับ“ครุฑ”ต้นแบบความกตัญญู ปลดปล่อยมารดาสู่อิสรภาพ ศึกษาจุดเริ่มต้นแห่งตำนานศึกสายเลือด ต่างมารดาระหว่างครุฑและนาคที่มีมาอย่างยาวนาน ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ AR (Augmented Reality) ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์

 

2. ครุฑพิมาน เรียนรู้กำเนิดโลกและจักรวาล ท่องไปในดินแดนหิมพานต์ และที่อยู่ของพญาครุฑ

ส่วนจัดแสดงที่ 2 ครุฑพิมาน
ท่องไปในแดนหิมพานต์ ป่าหิมพานต์เป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตน้อยใหญ่ ว่ากันว่าป่าแห่งนี้มีสระน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตที่ไม่มีวันเหือดหาย โดยหากสระน้ำนี้เหือดแห้งลงเมื่อใด กลียุคก็จะมาถึงเมื่อนั้น ซึ่งใจกลางสระบานสะพรั่งไปด้วยบัวบานหลากพรรณหลายสีสันที่เบ่งบานดึงดูดบรรดาสัตว์หิมพานต์ ฤๅษี คนธรรพ์ นักสิทธิ์วิทยาธร ที่สถิตอยู่ตามทิศต่าง ๆ ของป่าให้มาดื่มกิน มีกลิ่นหอมเย้ายวนใจของต้นมักกะลีผล หรือต้นนารีผล ต้นไม้ที่ออกดอกออกผลเป็นหญิงสาววัยแรกรุ่น หน้าตาสะสวย มีกลิ่นหอมติดกายไปตลอด 7 วัน ก่อนจะเน่าสลายไป กระตุ้นให้เหล่าคนธรรพ์ วิทยาธร และเทวดา พากันมาเด็ดดมไปเชยชมยังที่สถิตของตน หากมีมนุษย์หลงมายังดินแดนหิมพานต์นี้ คงคิดว่าได้อยู่บนสวรรค์ เพราะมีแสงนุ่มนวลทั้งกลางวันกลางคืน อุดมด้วยผลหมากรากไม้รสชาติหวานอร่อยนุ่มลิ้น ที่แย่งกันชูช่อราวกับเชิญชวนให้มาเด็ดกิน ทั้งยังส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วผืนป่า ในส่วนของสัตว์หิมพานต์นั้น แรกเริ่มมีเพียง ครุฑ นาค หงส์ สิงห์ และกินรี แต่ด้วยจินตนาการอันไม่สิ้นสุดของศิลปิน การผสมรวมกันเกิดเป็นสัตว์ชนิดใหม่จึงเกิดขึ้น โดยแบ่งได้เป็น สัตว์สองเท้า สี่เท้า และปลา ความน่าพิศวงในด้านรูปลักษณ์ พละกำลัง ล้วนแล้วแต่มีรูปแบบเฉพาะ การเลือกใช้ลวดลายไทยแบบเปลวไฟแทนสัญลักษณ์ของสรีระและกล้ามเนื้อของสัตว์หิมพานต์ประเภทสัตว์ใหญ่หรือเจ้าป่า อาทิ ช้าง สิงห์ ม้า ร่วมกับการผสมกลมกลืนฝีมือช่างซึ่งมีปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งทั้งในชาดก ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถของวัด หรือแม้กระทั่งส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมไทย ล้วนเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางงานช่างศิลป์ไทย เพื่อปรากฎแก่สายตาคนได้อย่างประณีต สื่อความหมาย และเป็นการต่อยอดด้านงานช่างศิลป์ให้อยู่คู่สังคมไทย

 

3.นครนาคราช ถิ่นที่อยู่ของพญานาค พร้อมชมเรื่องราวของพี่น้องต่างมารดา

ส่วนจัดแสดงที่ 3 นครนาคราช
บุกนครนาคราช ตามหาหนทางปลดปล่อยมารดาของพญาครุฑ นาคในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จัดเป็นพาหนะขณะบรรทมเหนือเกษียรสมุทรของพระนารายณ์ เทพเจ้าผู้ปกปักรักษาโลก อันได้ชื่อว่า “พญาอนันตนาคราช” โดยกำเนิดของพญานาคนั้น เป็นน้องต่างมารดาของพญาครุฑมีจำนวน 1,000 ตน โดยนางกัทรุ มารดาของเหล่านาค และนางวินตา มารดาของครุฑ ได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพซึ่งเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาว ส่วนนางกัทรุทายว่าม้าสีดำ ความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสของนางกัทรุถึงห้าร้อยปี
ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท พญาครุฑจึงใช้สติปัญญาความเฉลียวฉลาดนำน้ำอมฤตกลับไปได้ แต่กระนั้นทั้งคู่ก็ยังคงเป็นศัตรูคู่แค้นกันมาตลอด โดยปกติเหล่าพญานาคจะเวียนว่ายอยู่บริเวณใจกลางสระอโนดาต แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ต่างก็พากันว่ายทวนน้ำมาทางทิศเหนือของป่าหิมพานต์ เพื่อกลับมาวางไข่บริเวณอาณาจักรใต้บาดาลที่อยู่ลึกลงไปหลายหมื่นโยชน์ในเกษียรสมุทร พญาครุฑที่ยังโกธรเคืองพญานาคเรื่องมารดาก็จะคอยหาโอกาสโฉบลงจิกพญานาคเหนือท้องสมุทรนี้ ก่อนหอบหิ้วไปจิกท้องกินมันเหลวยังป่างิ้วแดนหิมพานต์

 

4.อมตะเจ้าเวหา เรื่องราวความเพียรพยายามของพญาครุฑผ่านแอนิเมชัน แสงสีตระการตา

ส่วนจัดแสดงที่ 4 อมตะจ้าวเวหา
“ครุฑ” ต้นแบบความดีเป็นที่ประจักษ์ พญาครุฑเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจ คุณธรรม ความกตัญญูกตเวทิตาและความเสียสละอันยิ่งใหญ่จากเหตุการณ์การฝ่าอุปสรรคนานัปการ เพื่อชิงน้ำอมฤตมาให้พญานาค เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปลดปล่อยมารดาสู่อิสรภาพ ข้อพิสูจน์นี้บ่งบอกลักษณะนิสัยของพญาครุฑได้เป็นอย่างดี แม้พระนารายณ์เสด็จขึ้นจากเกษียรสมุทรเพื่อห้ามปรามพญาครุฑ แต่พญาครุฑก็ยังยืนยันเจตนาที่จะช่วยเหลือมารดาอย่างถึงที่สุด แม้จะต้องสละชีวิตของตนก็ตาม พระนารายณ์สรรเสริญพญาครุฑบนความกตัญญูต่อมารดาและความอดทนอดกลั้นอย่างสุดกำลังที่ไม่ลิ้มรสน้ำอมฤตแม้ว่าความเป็นอมตะจะอยู่ตรงหน้า พระนารายณ์จึงประทานความเป็นอมตะแก่พญาครุฑและให้พรสำคัญ คือ การอยู่สูงกว่าพระองค์ “ขอให้ท่านเป็นพาหนะของข้า ร่วมแบกรับภารกิจยิ่งใหญ่ ขอให้ท่านสถิตอยู่ที่ยอดเสาธงของข้า เพื่อท่านจะได้อยู่สูงกว่าข้า” เหตุการณ์อันแสดงคุณธรรมที่ชัดเจนนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแอนิเมชันเพื่อเป็นตัวชูโรงในห้องจัดแสดง “อมตะจ้าวเวหา”

 

5.สุบรรณแห่งองค์ราชัน ตามรอย “ตราพระครุฑพ่าห์” ซึ่งเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ที่ยังคงปรากฎเคียงข้างพระองค์เสมอ

ส่วนจัดแสดงที่ 5 ล้นเกล้าจอมราชัน
ครุฑกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามความเชื่อนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์เปรียบเป็นอวตารของพระนารายณ์ ครุฑซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์กษัตริย์จึงนำมาใช้เป็นตราแผ่นดินหรือเรียกว่า “ตราครุฑพ่าห์” เริ่มใช้นับตั้งแต่ สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ และในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ครุฑเป็นเครื่องหมายประดับบนธงเรียกว่า “ธงมหาราช” ซึ่งจะถูกชักขึ้น ณ สถานที่ที่ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ตราอาร์มแทนตราแผ่นดินในระยะหนึ่ง แต่ต่อมาทรงดำริว่าตราอาร์มมีความเป็นตะวันตกมากไป จึงทรงพระกรุณาเปลี่ยนมาใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์อีกครั้งหนึ่ง และมีพระประสงค์ให้ใช้พระครุฑพ่าห์นี้เป็นตราแผ่นดินสืบมาจวบจนปัจจุบัน

 

6.ห้องจัดแสดงครุฑ ห้องที่รวบรวมองค์พญาครุฑจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย ผ่านตราตั้งห้างพระราชทาน และสัมผัสมนต์เสน่ห์คุณค่าเหนือกาลเวลา

ส่วนจัดแสดงที่ 6 ห้องจัดแสดงครุฑ
“ครุฑ” ต้นแบบความซื่อสัตย์ ตราตั้งห้างพระราชทาน เพื่อให้ประกอบกิจการอยู่ในศีลธรรมอันดี เสน่ห์ของตราครุฑพระราชทานไม่ได้อยู่ที่ความสวยงาม หรือท่วงท่าอันสง่างามที่แสดงพลังอำนาจอันน่าเกรงขามเพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่คุณค่าและประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ครุฑไม้แต่ละองค์ที่เปี่ยมด้วยความตั้งใจ ทุ่มเท และความเคารพอย่างสูงสุดของศิลปินที่มีต่อพญาครุฑ การบรรจงสลักเสลาลายอันมีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละองค์นั้น ศิลปินแต่ละคนต่างมีแนวคิดและค่านิยมในการปั้นครุฑแตกต่างกัน จึงทำได้เห็นได้พญาครุฑแต่ละองค์จะมีรูปร่าง หน้าตา สีของผ้านุ่งและเครื่องทรงที่หลากหลายกันออกไป

“นับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารได้เปิดให้เยาวชน และบุคคลทั่วไปได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งนี้ เพื่อชื่นชมคุณค่า และความน่าสนใจของผลงานศิลปะในการสร้างสรรค์องค์ครุฑ โดยมีรายละเอียดและรูปพรรณขององค์ครุฑแต่ละองค์ที่มาจากแต่ละพื้นที่ ที่จะมีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่น่าสนใจ ซึ่งธนาคารหวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของคนไทย อีกแห่งในย่านบางปู ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และสืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย พร้อมส่งต่อสำนึกรักความเป็นไทยสู่สังคมอย่างยั่งยืน” มาริสากล่าวในท้ายที่สุด

พิพิธภัณฑ์ครุฑพร้อมเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2565 นี้เป็นต้นไป โดยจะเปิดให้เข้าชมทุกวันศุกร์และวันเสาร์ วันละ 3 รอบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ได้จัดรถตู้บริการรับ-ส่งจากสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส สถานีเคหะสมุทรปราการ ถึง พิพิธภัณฑ์ครุฑ ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านระบบการจองล่วงหน้าผ่าน QR Code และสามารถติดตามเรื่องราวประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยทีทีบี ผ่าน E-BOOK ได้ที่ www.ttbfoundation.org/th/garudamuseum/ebook

 

You Might Also Like