มิถุนายน 22 , 2025…เปิดแผนดูแลป่าโกงกางพื้นที่กว่า 62.5 ไร่ ต่อเนื่อง 10 ปี ปักหมุด Carbon Neutrality ตามเป้าในปี 2050
บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เดินหน้าโครงการ Jorakay Green Earth ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พร้อมยกระดับเข้าสู่ การวัดผลและจัดการก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO
การเข้าสู่ระบบ T-VER ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของจระเข้ในการวางรากฐานสู่การสร้าง คาร์บอนเครดิตอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ พร้อมมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065
จากปลูกป่า สู่คาร์บอนเครดิตจริง: ทำได้ และต้องทำเป็นระบบ
หลังจากประสบความสำเร็จในปี 2567 กับการปลูกป่าชายเลน 62.5 ไร่ ในจังหวัดตรัง ปีนี้จระเข้ได้เดินหน้าตรวจสอบความสมบูรณ์ของป่า จัดทำข้อเสนอโครงการ และเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนการขึ้นทะเบียน T-VER อย่างเป็นทางการ
หากโครงการได้รับการรับรอง ป่าชายเลน 62.5 ไร่ของจระเข้จะสามารถสร้างคาร์บอนเครดิตได้มากกว่า 1,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้โดยตรง
“การเข้าสู่ระบบ T-VER คือหมุดหมายสำคัญที่แสดงความมุ่งมั่นของจระเข้ในการเปลี่ยนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นรูปธรรม เราใช้ธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน เป็นกลไกลดคาร์บอน และพัฒนาให้เป็นโมเดลที่จับต้องได้และวัดผลได้จริง” ศุภพงษ์ เพชรสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าว
ผสานพลังรัฐ-เอกชน-ชุมชน สร้างโมเดลเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำจากฐานราก
จระเข้ยังคงเดินหน้าร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เครือข่าย Thailand Mangrove Alliance และชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมดูแลผืนป่าชายเลน 62.5 ไร่ไปอีก 10 ปี โดยสนับสนุนงบประมาณระยะยาว และยึดหลัก “ปลูกและดูแลร่วมกับชุมชน”
ในปีแรกของโครงการ กว่า 77% ของงบประมาณโครงการ ถูกจัดสรรเพื่อจ้างแรงงานในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการเตรียมพื้นที่ เพาะกล้า ปลูก ดูแล และกำจัดวัชพืช นี่คือการสร้างระบบที่เชื่อมโยง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และชุมชน ให้เดินหน้าไปด้วยกัน
ศุภพงษ์ ขยายความต่อเนื่อง “เราปลูกป่าชายเลนเพราะที่นี่ดูดซับคาร์บอนได้สูงกว่าป่าบนบกถึง 4 เท่า พื้นที่เพียง 1 ไร่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 9.4 ตันต่อปี นี่คือกลไกธรรมชาติที่ทรงพลัง และเป็นอนาคตของเศรษฐกิจสีเขียว”
นอกจากลดคาร์บอน ป่าชายเลนยังช่วยป้องกันชายฝั่ง อนุบาลสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งทำกินของชุมชน นี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คือการสร้างความมั่นคงของระบบชีวิต
จากบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก สู่การฟื้นฟูระบบนิเวศ
ศุภพงษ์ เล่าถึงงบประมาณของ Jorakay Green Earth ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในกลุ่ม Green Pack ถูกกันไว้อย่างชัดเจนเพื่อนำไปใช้สนับสนุนการปลูกและดูแลป่าชายเลน Green Pack ของจระเข้ คือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กระดาษรีไซเคิล หมึกถั่วเหลือง ลดการใช้พลาสติก และออกแบบให้รีไซเคิลได้ง่าย โดยเปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์หลากสี 33 สี มาเหลือเพียงสีเดียวเพื่อสิ่งแวดล้อม
แม้จะดูเรียบง่าย แต่ Green Pack กลับสื่อสารเรื่อง “ความยั่งยืนที่แท้จริง” สู่ผู้บริโภค โดยสามารถเก็บสินค้าได้นานถึง 8 เดือน และขยายตลาดจากโครงการขนาดใหญ่สู่ร้านค้าทั่วไป
เปลี่ยนโรงงานให้เขียวขึ้น เปลี่ยนองค์กรให้ยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน จระเข้ยังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในองค์กรอย่างจริงจังเช่น การติดตั้ง Solar Roof ที่โรงงานและสำนักงานใหญ่ ใช้พลังงานสะอาดมากกว่า 30% เปลี่ยนรถ Forklift จากน้ำมันเป็นไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้ ปูน Low Carbon และเคมีภัณฑ์ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาเทคโนโลยีซ่อมพื้นถนนแบบลดวัสดุ ลดพลังงาน จัดอบรมช่างท้องถิ่นเพื่อลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพ
สินค้าสีเขียว = รายได้ 63% ของทั้งบริษัท
จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี วันนี้จระเข้มีสินค้าในกลุ่ม Green Product มากถึง 63% ของพอร์ตสินค้า และ 63% ของยอดขายรวม บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวน Environmental Product Declaration (EPD) จาก 30 รายการในปัจจุบันให้เป็น 60 รายการภายในปีนี้ เพื่อยกระดับความโปร่งใสด้านสิ่งแวดล้อม
ปลูกป่า ปลูกระบบ ปลูกความหวัง
โครงการ Jorakay Green Earth คือการพิสูจน์ว่า “การปลูกป่า” ไม่ได้เป็นแค่กิจกรรม CSR แบบปลูกแล้วจบ แต่คือการออกแบบระบบที่จะอยู่กับธรรมชาติไปอีก 10 ปี และส่งต่อคาร์บอนเครดิตที่ตรวจสอบได้จริง
“วันนี้คำว่า ‘ความยั่งยืน’ ไม่ใช่ทางเลือก แต่มันคือทางรอด จระเข้เลือกเดินเส้นทางนี้ด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเราดูแลธรรมชาติให้ดี ธรรมชาติก็จะดูแลเราเช่นกัน”
จระเข้ คือองค์กรภาคเอกชนไทยรายแรกในกลุ่มพันธมิตร 33 องค์กรที่ “ลงมือปลูกเอง-ดูแลเอง” และพร้อมจะเป็นต้นแบบของ “การทำจริง” บนเส้นทาง ESG และ Net Zero ในโลกที่กำลังต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง