CSR

AIS x กรมควบคุมโรค กับภารกิจกว่า 3 ปี สร้าง Social Inclusion ลดความเหลื่อมล้ำด้วยแอปฯ อสม.ออนไลน์ในการป้องกันไข้เลือดออกโดย อสม.

15 มิถุนายน 2565…จากความร่วมมือครั้งสำคัญทางสาธารณสุขพื้นฐานของ AIS และกรมควบคุมโรค ให้อสม.ได้ใช้เครื่องมือแอปฯอสม.ออนไลน์ ป้องกันไข้เลือดออกแบบเรียลไทม์กว่า 3 ปี พบการสำรวจลูกน้ำยุงลายมากกว่า 1 ร้อยล้านครั้งมีครัวเรือนในประเทศไทยที่ได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน ตอกย้ำการยกระดับรูปแบบการดูแลสุขภาพประชาชน ล่าสุดเพิ่ม Feature เฝ้าระวังแบบ Click & Go เช็คข้อมูลภาชนะในบ้านเพื่อเห็นภาพรวมแหล่งที่จะมีโอกาสเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งจะต้องให้คำแนะนำในการป้องกัน

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค และสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมกันฉายภาพความร่วมมือทั้ง 2 องค์กรที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านสาธารณสุขพื้นฐานอย่างเท่าเทียมให้ดีขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใช้เครื่องมือแอปฯอสม.ออนไลน์ โดยเฉพาะการป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ระบาดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 70 ปี โดยช่วงหน้าฝนจะเป็นช่วงที่ระบาดหนักมากที่สุด

โรคไข้เลือดออกไม่เพียงระบาดในประเทศไทยเท่านั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะอยู่ในภูมิภาคเขตร้อนชื้น ด้วยความสำคัญดังกล่าว 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้ลงมติร่วมกันให้ ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” ( ASEAN Dengue Day) เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง

“สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8มิถุนายน 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 3,386 ราย เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับในปี 2564 พบว่ายอดผู้ป่วยสะสมลดลง 21% โดยในช่วงที่มีการระบาดจะเริ่มต้นในช่วงฤดูฝนหรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งโรคไข้เลือดออกนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย”

ดร.พญ.ฉันทนา กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคดังกล่าวเบื้องต้น ในพื้นที่เกี่ยวโยงกับ 3 ส่วนคือ อสม. เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน

“อสม.จะต้องนำข้อมูลไปชักชวนให้ชุมชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งมักจะอยู่ตามภาชนะต่าง ๆ ในบ้าน และหากพบผู้ป่วยต้องรายงานรพ.สต.เพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น เช่นนำชุดตรวจไข้เลือดออก NS1ตรวจสอบเลือด หากขึ้น 2 ขีดหมายถึงติดเชื้อไข้เลือดออก ต้องให้แพทย์โรงพยาบาลชุมชนรักษาตามอาการ ซึ่งที่กล่าวมาแอปฯอสม.ออนไลน์ในส่วนฟีเจอร์รายงานลูกน้ำยุงลายของ AIS ที่อสม.ใช้อยู่กว่า 3 ปี สำคัญมาก ส่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแบบเรียลไทม์ ช่วยกรมควบคุมโรคได้มาก”

สายชลขยายความถึงภารกิจนำเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการทำงานให้กับอสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะรับทราบข้อมูลที่เป็นอุปสรรคในการทำงานแบบอะนาลอกของอสม. ไม่มีความสะดวกหลายขั้นตอน ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือหายไประหว่างทาง ใช้เวลาสิ้นเปลืองในการเดินทาง ฯลฯ แอปฯอสม.ออนไลน์ จึงออกมาช่วยแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว พร้อมทั้งเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่อสม.ต้องใช้ทำงาน และสื่อสารข้อมูลโรคภัยไข้เจ็บจากกระทรวงสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จาก สปสช.ไปยังประชาชนที่อสม.แต่ละคนดูแลอยู่ ซึ่งจะไม่มีความคลาดเคลื่อนใด ๆ และยังอัพเดทข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายที่อสม.ใช้งานกว่า 3 ปี

“ปัจจุบันอสม. 5 แสนคนเป็น Actives Userใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ มีข้อมูลและคำแนะนำหลายอย่างที่พี่ ๆ อสม.ส่งมาเพื่อการพัฒนาแอปฯ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานทั้งอสม.เอง รวมถึงกระทรวงด้วย ซึ่งในส่วนฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายได้เพิ่มข้อมูลใหม่เช่นจำนวนลูกน้ำ จำนวนบ้าน รวมถึงภาชนะ ซึ่งพี่ ๆ อสม.ก็ใช้งานได้ไม่ยากเพียง Click & Go เช่นในส่วนภาชนะ ในแอปฯ มีภาชนะจำนวน 12 ภาชนะ ได้แก่ 1.น้ำใช้ 2.น้ำดื่ม 3.ที่รองกันมด 4.จานรองกระถาง 5.แจกัน 6.ยางรถยนต์เก่า 7.อ่างน้ำ/ไม้น้ำ 8.น้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง 9.กาบใบไม้พืช 10.ที่รองน้ำตู้เย็น 11.ภาชนะที่ไม่ใช้งาน 12.อื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์ ทั้งหมดจะเป็นข้อมูลที่จะส่งต่อไปทีรพ.สต.เพื่อการสรุปผล และติดตามการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด”

สายชลอธิบายต่อเนื่อง ในส่วนฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายนั้น อสม.ประมาณ 280,000 คน จะใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนหลังบ้าน AIS จะสามารถนำประโยชน์จากข้อมูลในทางลึกด้านนี้มอบให้กรมควบคุมโรคเพื่อการพัฒนาเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง และหาทางป้องกันโรคไข้เลือดออกต่อไป

ดร.พญ.ฉันทนา ยอมรับว่า วันนี้กรมควบคุมโรคได้ใช้ประโยชน์ในการนําข้อมูลจากแอปฯอสม.ออนไลน์ไปวิเคราะห์ร่วมกับจํานวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาดในพื้นที่ เพื่อแบ่งพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ และนําไปใช้ในการเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยงต่ออการเกิดโรคติดต่อนําโดยยุงลายเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ และแจ้งเตือนประชาชนถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ในอนาคตทางกรมฯ ได้วางแผนที่จะใช้ข้อมูลผลสํารวจลูกน้ำยุงลายจากฯ อสม.ออนไลน์ ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ปริมาณน้ำฝน ความชื้น เป็นต้น เพื่อใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่แม่นยํามากขึ้น

แอปฯอสม.ออนไลน์ เป็นเครื่องมือติดตัวของอสม.สามารถทำงานได้ทุกเวลา ทุกพื้นที่ ด้วยข้อมูลเดียวกันในพื้นที่ ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจากทางราชการตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ช่วยสร้าง Social Inclusion เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการรับบริการทางสาธารณสุขในท้องถิ่น

“ AIS ยืนยันที่พร้อมจะทำงานกับบุคลากรทุกภาคส่วนทางสาธารณสุขที่ต้องทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ให้สามารถมีเครื่องมือดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพมาช่วยให้ภารกิจดูแลสุขภาพคนไทย ก้าวเดินต่อไปอย่างดีที่สุด” สายชล กล่าวในท้ายที่สุด

You Might Also Like