BIODIVERSITY & REGENERATIVE CSR

ป่า – เมือง – ชีวิต เชื่อมโยงความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับวิถีชีวิตเมือง

11 พฤษภาคม 2567…CSR เชิงกลยุทธ์ ปีที่ 19 โดย บ้านปู x มหิดล เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Power Green Camp) ภายใต้แนวคิด “Urban Rewilding: ป่า – เมือง – ชีวิต” ยังเข้มข้นด้วยการส่งเสริมใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

Brand Positioning บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ยังเลือกเดินหน้าส่งเสริมเยาวชนใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบผ่านPower Green Camp ซึ่งนับเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ที่ทำต่อเนื่องอย่างยาวนาน ที่บ้านปู ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันบ้านปูได้สร้างเครือข่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมผ่านค่ายนี้เกิน 1,000 คนแล้ว นักเรียนที่มาเข้าค่ายกับเรารุ่นแรก ๆ ตอนนี้ก็เติบโตกันหมดแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของปีที่ 19 คือ

1.ระยะเวลาจัดค่ายที่ผ่านมาจะเป็นช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งพบว่าเด็ก ๆ มีข้อจํากัดหลายเรื่องเหมือนกันที่อาจจะอยากมาเข้าร่วมแต่ว่าเข้าร่วมไม่ได้ โดยเด็กสมัครเข้ามาประมาณไม่เกิน 300 คน เมื่อลองเปลี่ยนเป็นช่วงปลายเดือนเมษายนต่อต้นเดือนพฤษภาคมเด็กสมัครเกือบ 600 คนก็รับ 50คนรับเหมือนน้อง ๆ สอบเข้าชั้นม. 4 ในโรงเรียนดัง ๆ กันทีเดียว

2.กลับมาเปิดค่ายดูพื้นที่ในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง สภาพแวดล้อมที่ดีของเมือง และสุขภาพที่ดีของคนเมือง จะต้องมี “ป่าในเมือง”หลายๆ ประเทศในเอเชียก็ส่งเสริมเรื่องป่าในเมืองอย่างจริงจังเช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย

“ป่าไม้ในประเทศไทยหายไปจำนวนมากโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ บางจังหวัดเช่นปทุมธานีและนนทบุรี ไม่มีป่าไม้แล้ว อยุธยาเองก็มีป่าไม้ลดลง ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เจอปัญหาทุกอย่างเลยทั้งปัญหาแบบความร้อน ปัญหาที่ยังอยู่ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาน้ําท่วมและปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นการมีป่าในเมืองการที่ฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติจะช่วยเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี”

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อเนื่องถึงภารกิจPower Green Camp ปีที่ 19 เป็นการเรียนรู้แบบ 3Rs

การเรียนรู้การออกแบบสวนเบญจกิติ ,การเรียนรู้บทบาทรุกขกร ,การเรียนรู้เรื่องตัวเงินตัวทอง ในสวนเบญจกิติ กทม.

1.Reconnect: เชื่อมโยงชีวิตคนเมืองให้ใกล้ชิด “ป่า” โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้สำคัญ เช่น “การถอดรหัสพยากรณ์จากต้นไม้” สังเกต และเก็บข้อมูลพฤติกรรมของต้นไม้ เพื่อเข้าใจศาสตร์การพยากรณ์ฤดูกาลจากต้นไม้ในเบื้องต้น กิจกรรม “ฉันมันไม่ใช่แค่วายร้าย” ศึกษาวิถีชีวิตและพฤติกรรมของตัวเงินตัวทองในฐานะดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ และกิจกรรมการ “อาบป่า (Forest Bathing)” เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า (รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส) เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และเชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

2.Restore: เรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมือง ผ่านกิจกรรม “การกักเก็บคาร์บอนและประโยชน์ของป่าในเมือง (Urban Forest)” ศึกษาแนวทางการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในเขตเมืองสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวิธีการประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรียนรู้ “บทบาทหน้าที่ของรุกขกร (Arborist) นักศัลยกรรมต้นไม้ ดูแลรักษาต้นไม้ ที่ช่วยปกป้องความหลากหลายชีวภาพป่าในเมือง และกิจกรรม “ฟื้นคืนไม้พื้นถิ่น” แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า โดยเน้นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ดั้งเดิม หรือไม้ประจำถิ่นให้คงอยู่ในระบบนิเวศ

3.Redesign: ศึกษาการออกแบบเมืองสีเขียวอย่างเป็นระบบ ผ่านการบรรยาย “Benchakitti Forest Park สวนเบญจกิติ ป่าในเมืองสู่สถาปัตยกรรมระดับโลก” ความพิเศษของสวนเบญจกิติที่ได้รับการออกแบบอย่างเป็นระบบ โดยเน้นให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่สำหรับสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ และกิจกรรมคบเด็กสร้างเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์จินตนาการจากอาสาสมัครพนักงานบ้านปู ที่เยาวชนได้นำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากค่ายฯ มาช่วยกันฝึกออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รัฐพล สุคันธี และรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 19 กล่าวว่า

“หากพิจารณาผลสำรวจในเขตกรุงเทพมหานครโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (World Health Organization: WHO) พบว่า ปี 2566 อัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกทม. คือ 7.49 ตารางเมตรต่อคน แต่หากนับรวมประชากรแฝง ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 10 ล้านคน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรจะอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ดังนั้น ทางโครงการฯ จึงต้องการสร้างการตระหนักรู้ให้เยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญของการมี “ป่าในเมือง” รวมถึงการดูแลรักษา เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เยาวชนจะได้สัมผัสทั้งป่าในเมืองและป่าในธรรมชาติเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างของป่าทั้งสองแบบอีกด้วย”

การเรียนรู้ภายในค่าย เยาวชนทั้ง 50 คนจะได้นำความองค์ความรู้ทั้งหมดไปตกผลึกเพื่อนำเสนอโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชิงทุนการศึกษาพร้อมเกียรติบัตร โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

กิจกรรมการตรวจวัดคุณภาพน้ำ,กิจกรรมคบเด็กสร้างเมือง,กิจกรรมอาบป่ากลางกรุง ในสวนเบญจกิติ กทม.

ชนพล สร้อยประเสริฐ(โชกุน) ม.5 โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม อ.สามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ วัย 17 ปี ปกติทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่โรงเรียน สมัครเข้าร่วมโครงการPWGครั้งที่ 19 เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากค่ายว่า

“เรื่องใหม่สำหรับผมจากค่ายนี้ เช่นการค้นหาพวกละอองเรณูที่เป็นของพืชดึกดำบรรพ์ที่บ่งบอกว่าในพื้นที่นี้เมื่อก่อนเคยมีพืชชนิดนี้ แล้วก็พวกการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะมีพวกสมุนไพรบางชนิดยังไม่ค่อยรู้มากก็มารู้ที่นี่ อีกเรื่องหนึ่งก็คือตอนที่เราไปที่บ้านไร่ลุงคริส จะพาเราไปปลูกป่าแต่ว่าวิธีการปลูกป่าของเขาแตกต่างจากที่เราเคยทำปลูกเป็นแถวยาวต่อกันแต่ทางวิทยากรบ้านไร่ลุงคริสให้เราปลูกกระจาย ๆ เพราะว่าเวลาต้นไม้ใหญ่โตขึ้นจะเป็นป่าปกคลุม และที่นี่สอนการใช้ต้นยางนาพยากรณ์ว่า วันนี้อาจจะเกิดฝน เพราะเห็นการร่วงของผลจากต้นยางนา”

การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่าง ๆ นอกกรุงเทพฯ

โชกุนกล่าวต่อเนื่อง ความรู้จากค่ายจะนำกลับไปใช้โดยไปคุยกับครูว่าได้เรียนรู้อย่างนี้แล้ว พอจัดค่ายครั้งต่อไปนำความรู้ไปประยุกต์ให้เข้ากับค่าย เพราะว่าเปิดเทอมใหม่กรกฎาคมนี้เป็นค่ายสิ่งแวดล้อมครบรอบ 28 ปี จะรับเด็ก 50 คน ส่วนความรู้ใหม่ ๆ จะขยายวงในโรงเรียนก่อนเช่นเรื่องการปลูกป่าให้สมบูรณ์ ถูกต้อง เป็นวิชาที่ได้จากตรงนี้ 

โชกุนย้ำในตอนท้ายว่า ความรักเรื่องสิ่งแวดล้อมของเขา ผูกพันกับตัวเขามากยิ่งขึ้น

 

You Might Also Like