CSR

โครงการ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า” พลังความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

18 เมษายน 2567….โครงการ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า” ถือเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อสร้างความยั่งยืนส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในคุ้งบางกะเจ้า ด้วยการสร้างพื้นที่ความร่วมมือภาคเอกชนและชุมชนในการส่งเสริมการบริหารการจัดการขยะในระดับครัวเรือน โดยเปิดโครงการด้วย “สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า ต่อเนื่องเป็นปีที่4” บนพื้นที่ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จ. สมุทรปราการ

พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร) เจ้าอาวาส วัดจากแดง กล่าวถึง “โครงการ Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า” ซึ่งเดินทางมาจนถึงปีที่ 4 ว่า โครงการนี้ถือเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะของคนในชุมชนคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งก่อนหน้านี้คนในชุมชนมีการคัดแยกขยะอยู่บ้างประมาณ 20-30% แต่เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นส่งผลให้คนในชุมชนคัดแยกขยะเพิ่มขึ้นถึง 80-90%

“ตอนแรกก็มีคำถามจากชาวบ้านเหมือนกันว่าแยกแล้วได้อะไร ซึ่งเราก็ตอบเขาได้แต่ว่าได้บุญ แต่ชาวบ้านยังต้องกินต้องใช้ ดังนั้นบุญอย่างเดียวไม่ดึงดูดใจพอ การเข้ามาร่วมสนับสนุนของภาคเอกชนผ่านตัวกลางอย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็น สหพัฒนพิบูล โอสถสภา หรือ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนสนใจแยกขยะเพื่อนำมาแลกเป็นสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านจึงได้ทั้งบุญได้ทั้งของใช้ประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ได้พลังความสามัคคี”

 

ขยะทุกประเภท ที่แต่ละบ้านในชุมชนคัดแยกอย่างเรียบร้อย ถูกส่งเข้าวัดจากแดง

พระราชวัชรบัณฑิตกล่าวเพิ่มเติมว่าก่อนการเข้ามาของโครงการชุมชนแยกขยะเปียกได้ 200-300 กิโลกรัม ปัจจุบันได้วันละประมาณ 1 ตันกว่า หรือคิดเป็นปีละกว่า 360 ตัน ช่วยลดค่าจัดการขยะเปียกที่ปะปนกับขยะแห้งกว่า 2 แสนบาท ทำให้ค่าจัดการขยะเปียกของชุมชนลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง โดยขยะเปียกที่แยกมานำไปทำปุ๋ย ส่วนขยะแห้งเมื่อมีการแยกและนำมาแลกของ ก็ทำให้จำนวนขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัดด้วยเช่นเดียวกัน

“เมื่อขยะลด พื้นที่ในชุมชนซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะสะอาดมากขึ้นทำให้มีคนอยากเข้ามาท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเพิ่ม สร้างการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน โดยตอนนี้มีการเก็บแยกขยะอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย ขยะเปียกที่นำไปทำปุ๋ย เกษตรกรนำไปใช้กับผลผลิตของแปลงเกษตรในคุ้งบางกะเจ้า ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ผลที่ได้ก็นำไปขายบางส่วนนำมามาทำบุญที่วัด”

“พลังความสามัคคี” ซึ่ง พระราชวัชรบัณฑิต กล่าวถึงถือเป็นหนึ่ง Key Success Factor ซึ่งกีรติ โกสีย์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม และหัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งเป้าให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังความสามัคคีของชุมชน หรือ จากภาคเอกชนที่เข้ามาให้ความสนับสนุนโครงการ

 

พระราชวัชรบัณฑิต และ กีรติ

“เป้าหมายของโครงการนี้เราหวังให้ชุมชนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญถ้ามีขยะก็จะส่งผลกระทบ ดูไม่สบายตา แต่ถ้ามีการบริหารการจัดการขยะที่ดีไม่เพียงแต่ทำให้ชุมชนน่าอยู่ นักท่องเที่ยวอยากมาท่องเที่ยว แต่ยังสร้างให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชน สร้างรายได้จากขยะ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราเก็บขยะได้กว่า 3.78 แสนกิโลกรัม ปีนี้เราตั้งเป้าเก็บขยะเพิ่มได้ 5 แสนกิโลกรัม บทเรียนของการทำโครงการ Care the Whale คือ การสร้างให้ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกันจัดการขยะ โดยเราเข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมให้เอกชนเข้ามาสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือของคนในชุมชนในการแยกขยะเพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เพราะเขาเป็นคนที่อยู่ในชุมชนถ้าเขาไม่ให้ความร่วมมือ จะไม่เกิดพลังแห่งความสามัคคีและโครงการไม่สามารถเดินหน้ามาจนถึงปีที่ 4”

กีรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า” ส่งเสริมเรื่องของการบริหารจัดการขยะ และสนับสนุนในเรื่อง Circular Economy โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ก่อนหน้านี้เป็นปัญหาสำคัญที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง การจับมือกับทางวัดจากแดง ในชุมชนคุ้งบางกะเจ้าสามารถช่วยให้เกิดการรับรู้ และปฏิบัติ โดยการคัดแยกขยะแล้วนำมาแลกเป็นสิ่งของจากภาคเอกชนซึ่งเป็นพันธมิตร ทำให้ลดปริมาณขยะที่จะต้องถูกนำไปฝั่งกลบลดลง ชุมชนมีรายได้ ได้รับสินค้าที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับประเภทของขยะจากปีแรกที่เน้นขยะพลาสติก ในปีต่อๆมาขยายผลสู่ขยะประเภทอื่น เช่น ขวดแก้ว ขยะอาหาร รวมทั้งหมด 6 ประเภท ในปีนี้ขยายไปสู่ประเภทที่ 7 คือ ถุงวิบวับ เช่น ถุงขนม ถุงน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นขยะที่จัดการได้ยาก เพราะทำจากวัตถุดิบประเภท Multi-Layer Plastic หรือ ถุงวิบวับ

ถุงวิบวับที่ถูกตัดเป็นชิ้นถูกเทลงในเครื่องหลอมเพื่อแยกส่วนที่เป็นอะลูมิเนียมออกจากชั้นพลาสติก

“ปัจจุบันทางวัดจากแดงมีเครื่องมือที่สามารถรีไซเคิลขยะถุงวิบวับได้แล้วและนำวัตถุดิบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป ผลตอบรับจากโครงการในปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีมาก เราหวังว่าจะทำให้สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น”

ต้องยอมรับว่าปัญหาขยะถุงวิบวับ หรือแผงยา ก่อนหน้านี้ต้องนำไปฝังกลบเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาขยะปลิวออกจากถังเก็บ ขายไม่ได้ราคา ทำให้พื้นที่สกปรก บางส่วนลงแม่น้ำลำคลอง แต่ตอนนี้ทางวัดจากแดงมีเครื่องกำจัดซึ่งสามารถนำถุงวิบวับมาบดและหลอมออกมาเป็นฟอยล์ อะลูมิเนียมซึ่งสามารถนำไปหลอมเป็นแท่ง นำไปทำหลังคาอะลูมิเนียม ส่วนของพลาสติกจะถูกหลอมออกมาเป็นน้ำมันสำหรับนำไปใช้กับเครื่องตัดหญ้า เมรุเผาศพ ทำให้มีทางออกสำหรับขยะที่เป็นถุงวิบวับหรือแผงยา ถือเป็นการนำขยะมาเข้าลูป ของ Circular Economy ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อะลูมิเนียมรีไซเคิลที่ถูกหลอมออกมาจะถูกบดเป็นก้อนเล็กๆเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่นทำเป็นหลังคาอะลูมิเนียม(แบบหลังคากล่องนม) ส่วนของชั้นพลาสติกในถุงวิบวับจะถูกหลอมออกมาเป็นน้ำมัน นำไปใช้กับเตาเผาศพ

ตลอด 4 ปีของ โครงการ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า” จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้หากขาดความร่วมมือร่วมใจจากพันธมิตรภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็น ชัยลดา ตันติเวชกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล (SPC) สุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บมจ.โอสถสภา (OSP) หรือ อติยา อาวัชนาการ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืน บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC)

 

พระราชวัชรบัณฑิต พร้อมผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สหพัฒนพิบูล โอสถสภา และ พริ้นซิเพิล แคปิตอล

ชัยลดา กล่าวว่าบทบาทของสหพัฒน์ที่ผ่านมา คือ การนำสินค้าของสหพัฒน์เข้ามาสนับสนุนให้คนในชุมชนนำขยะมาแลกกลับไปใช้ ซึ่งปีนี้ต่อยอดด้วยการรับขยะเพิ่มเติมในส่วนของถุงวิบวับเพื่อให้คนในชุมชนสามารถนำสินค้ากลับไปใช้ได้เพิ่มมากขึ้น “การแยกขยะแล้วนำมาบริจาคที่วัดจะทำให้ขยะไม่ถูกทิ้งกลับไปสู่ระบบนิเวศน์ การหาทางไปให้ขยะโดยนำมาบริจาคที่วัดจากแดง จะทำให้ขยะเหล่านั้นถูกนำไปอัพไซคลิงต่อเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มอื่นได้ ถือเป็นการสร้างประโยชน์จากขยะได้”

เช่นเดียวกับ สุธิดา เล่าว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีในการเข้าร่วมโครงการ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า” โอสถสภา เข้ามาต่อยอดประเภทขยะที่เป็นขวดแก้ว เนื่องจากเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มซึ่งต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดแก้ว จึงมีมุมมองว่าขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ตลอดอายุการใช้งาน

“ถ้าเราสามารถแยกขยะแล้วนำกลับมารีไซเคิลได้จะช่วยสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะเดียวกันก็ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทราย ลดพลังงานในการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตแก้ว ขณะเดียวกันขยะขวดแก้วก็มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เราเข้ามาผลักดันให้เกิดการเก็บขยะขวดแก้วในชุมชน โดยเราสนับสนุนเงิน 50 สตางค์ในทุก 1 กิโลกรัมที่ชุมชนเก็บได้ โดยที่ผ่านมาชุมชนสามารถเก็บขยะได้ 20,000 กว่ากิโลกรัม เปลี่ยนเป็นเงินได้ประมาณ 10,000 บาท โอสถสภาสมทบกลับไปประมาณ 20,000 บาท และเราก็แปลงตรงนั้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโอสถสภาและคืนกลับไปให้ชุมชนได้ทำประโยชน์ต่อไป”

สุธิดา เชื่อว่าการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จต้อง “ร่วมแรงร่วมใจ” กันในทุกภาคส่วน แนวคิดริเริ่มของพระราชวัชรบัณฑิต ช่วยทำให้ชุมชนรู้จักการแยกขยะ ตลาดหลักทรัพย์ฯทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้อง

“อยากเชิญชวนให้ทุกคนคัดแยกขยะและนำกลับมาใช้ ใครไม่ทราบว่าจะนำไปทิ้งที่ไหนประสานงานมาที่วัดจากแดงเพราะที่นี่จะทำให้คุณรู้ว่าขยะที่คุณคิดว่าไร้ประโยชน์สามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้มากมาย เราในฐานะผู้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโดยเฉพาะเครื่องดื่มให้พลังงานที่ใช้ขวดแก้วค่อนข้างมาก เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราเป็นองค์กรที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ของเราเพื่อนำมาผลิตซ้ำตลอดอายุการใช้งาน นี่เป็นสิ่งที่เรามองว่าสามารถช่วยกันทำร่วมกันได้”

อติยา เชื่อว่าการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำได้แค่คนเดียว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นวัดจากแดง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และภาคเอกชนอื่น โดยนำจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาผสานเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

“ช่วงแรกที่เราเข้าร่วมกับโครงการนี้จะเป็นการนำสิ่งของซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 มาให้คนในชุมชนนำขยะมาแลก หลังสถานการณ์คลี่คลาย เราปรับเป็นการนำอุปกรณ์ที่เขาสามารถคัดกรองด้วยตัวเองได้ เช่น เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ดิจิตอล และเครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับให้คนในชุมชนได้ทราบเบื้องต้นว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อให้เขาสามารถไปพบแพทย์ได้ทันเวลาก่อนที่จะเจ็บป่วยมากกว่านี้ นอกจากนั้นเรายังออกหน่วยตรวจสุขภาพให้ที่วัดจากแดงซึ่งเป็นศูนย์กลางของโครงการ พร้อมบุคลากรที่จะเข้ามาตรวจคัดกรองให้กับพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงการตรวจสุขภาพให้คนในชุมชน ควบคู่ไปกลับการให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ เพื่อให้คนในชุมชนแยกขยะแล้วนำมาแลกการตรวจคัดกรองที่หน่วยตรวจของเรา ตามแนวคิดที่ว่า เมื่อคุณดูแลโลกใบนี้ เราก็มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของคุณด้วยเช่นกัน”

ปีที่แล้วทาง PRINC ตรวจสุขภาพคนในชุมชนไปทั้งหมด 365 คน ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าตรวจสุขภาพอย่างต่ำ 500 คนแก่คนในชุมชน ถือเป็นการส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่กับดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า” ช่วยสร้างจิตสำนึกและปรับพฤติกรรมให้กับชุมชนคุ้งบางกะเจ้าทั้ง 6 ตำบล มีส่วนร่วมในการช่วยบริหารจัดการขยะ โดยมีวัดจากแดงเป็นศูนย์กลาง เพื่อรับและส่งต่อขยะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก ขวดแก้ว ขยะอาหาร เพื่อนำไป Recycle ,Upcycling อีกทั้งยังส่งเสริมเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยแนวคิดในการดำเนินการ ขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืนด้วยแนวทางขยะล่องหน (Module-Monitoring-Multiply) โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจ และการสื่อสาร (Environmental Impact) ซึ่งในตอนท้ายจะส่งเสริมการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่บนฐานสิ่งแวดล้อม (Social Impact) ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น

 

You Might Also Like