CSR

เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่น 1 กล้าคิด กล้าลุย กล้าก้าว ปลูกฝังทักษะใหม่ ฝึก “เยาวชนน่าน” พร้อมเติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่ง

30 มิถุนายน 2566…เพราะเชื่อว่า “การให้โอกาสทางการศึกษา” เป็นก้าวแรกที่จะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง “มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา” จึงได้ริเริ่มโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์รุ่นที่ 1 ภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” ปลูกฝังทักษะใหม่ ฝึกให้เด็กมัธยมปลายจาก 8 โรงเรียน ในจังหวัดน่าน ทำธุรกิจจริง ผ่านหลักสูตร 3 แคมป์ ได้แก่ กล้าเรียน กล้าลุย และกล้าก้าว โดยมุ่งหวังให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะและเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตสามารถใช้ชีวิตในบ้านเกิด สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชน และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน

อะไร? คือการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์จากการบ่มเพาะกลุ่มน้อง ๆ เยาวชน ที่มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์รุ่นที่ 1 และสิ่งที่คุณครูซึ่งเข้าร่วมในบทบาทของผู้สังเกตการณ์มองเห็น SD Perspectives นำเสียงสะท้อนจากตัวแทนของเด็ก ๆ และคุณครูมาเล่าสู่กันฟัง

รวมสินค้า 8 โรงเรียนจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา แคมป์

 

ปิยภรณ์ บัวทอง ตัวแทนจากทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร บอกว่า ตอนนี้เรียนอยู่ ม.6 เป็นช่วงของการค้นหาตัวเอง และอยากจะหาประสบการณ์ จึงเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ซึ่งสนุกมากและทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เพราะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะหัวใจของการทำงานเป็นทีม สิ่งสำคัญต้องมีความไว้วางใจกัน รับฟังความคิดเห็นของคนในทีม มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และการพูดคุยกันจะทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้แม่นยำมากขึ้น เพราะมีการสรุปถึงสาเหตุปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

 

“สิ่งที่ได้เรียนรู้มีหลายเรื่องสามารถนำไปใช้ในชีวิตและการเรียนได้ เช่น ต้องกล้าคิด กล้านำเสนอ แม้จะแตกต่างจากคนอื่น การปรับเปลี่ยนวิธีคิดเมื่อเกิดปัญหา หากการแก้แบบเดิม ผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาเหมือนเดิม แต่การเปลี่ยนมุมมองใหม่ ปรับวิธีคิดใหม่ อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม รวมถึงการรู้จักจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพราะในชีวิตจะมีสิ่งที่ต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการเรียนและการทำงาน เป็นต้น รู้สึกว่าโชคดีมากที่มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ใครั้งนี้”

 

อีกหนึ่งเสียงจากตัวแทนทีมโรงเรียนปัว ปุณญาวีร์ โนแก้ว สะท้อนให้ฟังว่า

“รู้สึกขอบคุณมากที่ได้เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ ได้แสดงความสามารถ เพาะความกล้าให้แก่พวกเรา ทั้งกล้าเรียน กล้าลุย และกล้าก้าว เพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพ แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนปกติ เพราะเป็นความรู้ที่ไม่มีในห้องเรียน และแตกต่างจากโครงการอื่นที่เคยเข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสันทนาการ แต่โครงการนี้ให้เราได้ลงมือทำกันจริง ๆ ได้คิดพัฒนาสินค้านำไปขายจริง เจอปัญหาต้องแก้ไขเมื่อไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เด็ก ๆ ต้องดำเนินการเองตั้งแต่ต้นจนจบ”

 

นอกจากเรื่องของการทำธุรกิจแล้ว “ปุณญาวีร์” บอกว่า “สิ่งที่เรียนรู้ยังสามารถนำไปต่อยอด หรือประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตัวเองได้ด้วย เช่น มองทุกอย่างเป็นธุรกิจมากขึ้น รู้จักการเข้าสังคม ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รู้จักคิดอย่างเป็นระบบและมีความรอบคอบ มองรอบด้านมากขึ้น เห็นมุมมองของผลที่เกิดจากเหตุมากขึ้น เห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เพราะคิดมากขึ้นกว่าการมองไปที่จุด ๆ เดียวเท่านั้น แต่เรายังมองเห็นตลอดข้างทางด้วย ซึ่งสำคัญกว่าเป้าหมาย และนั่นคือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้”

 

แม้จะเข้าร่วมโครงการในบทบาทของผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่ผู้สอน แต่คุณครูได้ประโยชน์เช่นกัน โดยคุณครูณัฐพร ธรรมวงศ์ และคุณครูกันตพงษ์ หมั่นดี โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม ให้ความเห็นว่า การที่เด็กได้เรียนรู้และลงมือทำจริง เป็นประสบการณ์ชั้นเลิศที่หาได้ยากในห้องเรียน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งครูเองก็เหมือนได้ลุยไปกับเด็ก ๆ สิ่งหนึ่งที่เห็นว่ามีความสำคัญมากคือ การวางแผน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือการทำงาน หากมีแผนจะทำให้มีความชัดเจนขึ้น แต่บางครั้งทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามแผน ดังนั้น การรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มองโจทย์ให้ออก เพื่อหาวิธีการแก้ไขก็มีความสำคัญเช่นกัน

“ไม่ใช่แค่เด็ก ๆ แต่ครูก็ได้รับประโยชน์ ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจไปกับเด็ก สามารถนำการเรียนการสอนที่น่าสนใจไปปรับใช้ในห้องเรียน กระตุ้นให้เด็กคิด กล้าลงมือทำ หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมก็ไม่ใช่แค่ทำเรื่องสนุกสนาน แต่ล้วนแฝงไปด้วยข้อคิด ความรู้ต่าง ๆ ตลอดโครงการเราได้เห็นพัฒนาการของเด็กเยอะมาก มีความกล้ามากขึ้น มีความมั่นใจในตัวเอง นำสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับการทำงานให้เป็นระบบ มีวินัยสูงขึ้น รู้จักบริหารจัดการและการทำงานเป็นทีมประสบการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น”

สอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากคุณครูสุนิตา ไชยชนะ และคุณครูสงกรานต์ มหามิตร โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 บอกว่า

“สิ่งที่มองเห็นคือ เวลา 66 วัน เหมือนได้เปลี่ยนชีวิตเด็กไปจากเดิม เมื่อได้สัมผัสเรียนรู้และลงมือทำจริง ที่สำคัญเด็กมีความสุขกับสิ่งที่ได้ลงมือทำทุกขั้นตอน  และครูเองก็มีความสุขที่ได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของเด็ก ๆ แม้ช่วงแรกจะร้องไห้กันบ้าง แต่ตอนนี้ทุกคนแข็งแกร่งและเติบโตขึ้น โดยความแตกต่างที่เห็นชัดของโครงการนี้คือ เด็กได้ลงมือทำเองตั้งแต่กระบวนการคิด ลงมือ และแก้ปัญหา ซึ่งจะกลายเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนของพวกเขา เพราะผ่านกระบวนการจากประสบการณ์ที่เด็กได้คิดเองและทำเอง โดยประโยชน์ที่ครูได้รับอย่างแรกเป็นการเปิดโลกความรู้ในการทำธุรกิจ และสามารถนำรูปแบบหรือเทคนิคการเรียนการสอน กระบวนการต่าง ๆ ที่โครงการนำมาใช้สอนทักษะให้กับเด็ก ๆ ไปปรับใช้ได้”

 

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย  กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า เสียงที่สะท้อนจากเด็ก ๆ และคุณครู ทำให้รู้ว่าเราน่าจะมาถูกทาง ทำในสิ่งที่เด็กได้รับประโยชน์จริง ๆ และสร้างความรู้สึกที่ค่อนข้างเป็นทางบวก สร้างแรงบันดาลให้เด็กเอาไปต่อยอด นี่คือวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ

“ถ้าเด็กสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ รู้วิธีแก้ปัญหา ก็จะรู้ว่าหลังจากนี้ไปต้องใช้ชีวิตอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นความหมายของคำว่า เพาะพันธุ์ปัญญา เราพรวนดิน เอาเมล็ดใส่ไปในดิน รดน้ำ ให้แสงอาทิตย์เพื่อให้เติบโต วันนี้ต้นกล้าโตขึ้นมาอีกนิด สุดท้ายถ้าออกดอกออกผลนั่นคือ สิ่งที่เรามีความหวังว่าอนาคตของชาติ  ลูกหลานของเราจะใช้ชีวิตได้อย่างดี จนในวันหนึ่งสามารถเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นในลักษณะเดียวกันได้ก็ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ใหญ่ที่อยากลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งทุกคนพูดเรื่องนี้ แต่ก็ไม่มีคำตอบ เราก็ไม่มี สิ่งที่เราทำอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้สุดท้ายไปช่วยบรรเทา ไม่ใช่เป็นศูนย์ แค่ปิดช่องว่างใหญ่ ๆ ให้แคบลงมาสักนิดหนึ่งจากการให้โอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ได้เรียนรู้ชีวิต มีมุมมองที่นำไปต่อยอดได้ผ่านการทำธุรกิจ สร้างความยั่งยืนให้กับบ้านเกิดและสังคมต่อไปในอนาคต”

You Might Also Like