CIRCULAR ECONOMY

ลอรีอัล ชู R & I ด้วยหลัก “วิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อความงามแห่งอนาคต

19 มีนาคม 2564…ภายในปี 2573 ส่วนผสม 95% ของผลิตภัณฑ์ลอรีอัลจะมาจากพืชที่สามารถปลูกทดแทนได้ แหล่งแร่ธาตุที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น หรือกระบวนการผลิตแบบหมุนเวียน ขณะที่การพัฒนาสูตรต่างๆ ทั้ง 100% จะพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำเป็นสำคัญ

นิโคลา ฮิโรนิมุส รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของลอรีอัล กล่าวว่า  ลอรีอัลกำลังก้าวเข้าสู่การพลิกโฉมฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของบริษัทด้วยวิทยาการวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Sciences)  ซึ่งฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของบริษัทนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เราตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2573 เราจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ความงามที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและปลอดภัย สำหรับผู้บริโภคทั้งหญิงและชายทั่วโลก พร้อมทั้งปกป้องสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดย ลอรีอัล มีระบบบริหารจัดการคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในแต่ละขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกมากกว่า 100 ขั้นตอน ครอบคลุมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นคอนเซปต์ของผลิตภัณฑ์ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีทั้งต่อสุขภาพและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น และการปกป้องโลกเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งในขณะนี้ การปรับเปลี่ยนการทำงานของฝ่าย R&I ของลอรีอัลนั้นมีเป้าหมายที่ท้าทายมาก โดยลอรีอัลจะใช้ธรรมชาติเป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อสร้างสรรค์ส่วนประกอบทางเลือก ซึ่งมาจากวัตถุดิบที่สามารถปลูกทดแทนหรือหมุนเวียนได้ เพื่อทดแทนส่วนผสมที่ผลิตหรือมีส่วนประกอบจากปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป

ลอรีอัลจะใช้วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมล่าสุด เพื่อให้การผลิตส่วนผสมต่างๆ เป็นไปอย่างยั่งยืน และสกัดสิ่งที่ดีที่สุดจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในปี 2563 ที่ผ่านมา วัตถุดิบ 80% ของลอรีอัล กรุ๊ป สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ขณะที่วัตถุดิบ 59% เป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนหรือหมุนเวียนได้ และ 34% เป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ หรือมีต้นกำเนิดจากธรรมชาติ โดยส่วนผสม 29% ที่ใช้ในสูตรต่างๆ ของลอรีอัลนั้น ได้รับการพัฒนาขึ้นตามหลักการของเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Chemistry*)

บาร์บารา ลาเวอร์นอส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี กล่าวเสริมในท้ายที่สุดว่า วิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถตั้งเป้าหมายด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคที่ท้าทายได้ หลักการที่อิงตามเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้เราสามารถคิดค้นและยกระดับประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ในมาตรฐานใหม่ และค้นพบประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ความงามอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยใส่ใจต่อโลกและไม่ทำให้คุณภาพหรือความปลอดภัยลดลง

หมายเหตุ

*(Green Chemistry) หรือเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นในสหรัฐเมื่อปี 2541 โดยนักเคมี 2 คนคือ พอล อนาสตาส และจอห์น วอร์เนอร์ แนวคิดนี้ใช้หลักการ 12 ข้อที่มีพื้นฐานซึ่งตั้งอยู่บนความยั่งยืน ตั้งแต่วัตถุดิบในการผลิตจนถึงการจัดการหลังใช้งาน เพื่อรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมยังเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมในแง่ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงชีวมวลไปสู่ส่วนผสมต่างๆ อย่างยั่งยืน)

You Might Also Like