CIRCULAR ECONOMY

สยามพิวรรธน์เปิดตัวน้ำดื่ม ONESIAM ตอบโจทย์การรีไซเคิลครบลูป 

18 ธันวาคม 2566…สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ตอกย้ำผู้นำการพัฒนาจุดหมายปลายทางระดับโลกสู่ความยั่งยืน ล่าสุดเพิ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลกน้ำดื่มจากกระป๋องอะลูมิเนียม ONESIAM Drinking Water ซึ่งอะลูมิเนียม รีไซเคิลได้ 100% และทำได้ต่อเนื่องอย่างไม่รู้จบ ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ได้ สอดคล้องแนวทางการบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา ภายใต้โครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste ส่งเสริมให้คนไทยจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจุดบริการรับขยะ (Recycle Collection Center ; RCC) เดินหน้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050

นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวถึงจุดเด่นของ ONESIAM Drinking Water ตั้งแต่การเกิดของแบรนด์ ซึ่งเป็นความต้องการที่จะให้ทุกคนสงสัย

“การเริ่มสงสัยจะหมายถึงการเริ่มหาองค์ความรู้เรื่องที่สงสัย เมื่อรู้แล้วการเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะตามมาเช่นเรื่องน้ำดื่ม ONESIAM บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มจากอะลูมิเนียม สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ด้วยกระบวนการรีไซเคิลครบลูปเพื่อเปลี่ยนขยะเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
ดังนั้นเป้าหมายจริง ๆ ของน้ำดื่มกระป๋อง ONESIAM ก็คือเรื่องนี้ สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศาที่สยามพิวรรธน์ทำมาอย่างต่อเนื่อง”

นราทิพย์ขยายความเพิ่มเติมน้ำดื่มกระป๋อง ONESIAM ลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตวัตถุดิบอะลูมิเนียมได้ถึง 95% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการรีไซเคิลอะลูมิเนียม 1 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 9.13 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) อีกทั้งตัวกระป๋องสามารถบีบอัดง่าย ทำให้ช่วยลดพื้นที่จัดเก็บเพื่อเตรียมนำกลับไปรีไซเคิล

 

แบรนด์น้ำดื่มกระป๋อง ONESIAM สยามพิวรรธน์ทำงานร่วมกับธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งเพจ Greenery เครือข่ายผู้บริโภครุ่นใหม่ที่สนใจการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน ผู้ผลิตน้ำดื่มกระป๋องอะลูมิเนียมรายแรกของไทยแบรนด์ Greenery ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยน้ำดื่มกระป๋อง ONESIAMจะใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 70% ในการผลิตและหมุนเวียนไม่รู้จบ โดยการคัดเลือกโรงงานที่มาของวัตถุดิบอะลูมิเนียม จะต้องเป็นโรงงานไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

สมชนะ กังวารจิตต์ Executive Creative Director ของ Prompt Design นักออกแบบผู้คว้ารางวัลออกแบบระดับโลกกว่า 200 รางวัล กล่าวถึงการออกแบบน้ำดื่มกระป๋อง ONESIAM นำแนวคิดที่สะท้อนตัวตนของ ONESIAM ที่เปรียบเสมือน Single Planet นำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งในด้านความมั่นใจ ความกระตือรือร้น และความอัศจรรย์ ผสมผสานกับลายเส้นที่หลากหลายให้ความรู้สึกสนุกสนาน เกิดพลังงานในการสร้างสรรค์ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์แบบเปิดให้เห็นสีเนื้อกระป๋อง เพิ่มลูกเล่นความโดดเด่นคล้ายการปั๊มนูน และสร้างความแตกต่างให้ผู้พบเห็นสนุกไปกับงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว

“เราใช้ซูเปอร์เทคนิค ใช้เส้นสายบนกระป๋องซึ่งสามารถเล่นกับไฟจะมีสีสัน โดยสีที่ใช้จะมี 2 สี สีเงินกับสีน้ำเงิน และการใช้วงกลม เพราะว่านี่คืออัตลักษณ์ใหม่ของสยามพิวรรธน์ที่ต้องการสื่อสารความเป็นแบรนด์”

น้ำดื่มกระป๋อง ONESIAM ในปีแรกจะผลิต 200,000 กระป๋อง รองรับกลุ่มเป้าหมายหลักคือบุคลากรของสยามพิวรรธน์ รวมถึงการจัดงานต่าง ๆ ในพื้นที่ที่สยามพิวรรธน์ดูแลอยู่ และเริ่มวางจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ร้าน Loft ชั้น 2 สยามดิสคัฟเวอรี่ และ ชั้น 3 ไอคอนสยาม, Grab & Go ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่ และผ่าน ONESIAM SuperApp รวมทั้งยังมีแผนวางขายผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) ในสยามพารากอน และ สยามเซ็นเตอร์ ในต้นปี 2567ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนผลิตปีละ 500,000 กระป๋องต่อไป

นราทิพย์ย้ำว่า ลูกค้าและประชาชนทั่วไป สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูและส่งต่อโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยนำกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วมาทิ้งที่เครื่องอัดกระป๋องที่ตั้งในศูนย์การค้าในเครือของสยามพิวรรธน์ หรือนำกระป๋องมาคัดแยกแล้วนำมาฝากที่ Recycle Collection Center หรือ RCC จุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดแบบไดร์ฟทรู (Drive-Thru) ที่บริเวณจุดจอดรถทัวร์ ชั้น G ฝั่ง North และบริเวณทางออก 4 
ชั้น G (ฝั่งธนาคารกรุงเทพ) สยามพารากอน และจะเริ่มดำเนินการที่ไอคอนสยาม ในต้นปี 2567

“การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์น้ำดื่มเป็นอะลูมิเนียมนี้ จะเพิ่มศักยภาพในการนำขยะกระป๋องไปรีไซเคิล ช่วยลดการจัดการขยะแบบฝังกลบอย่างเป็นระบบ ช่วยประหยัดพลังงานและทรัพยากรในการผลิตใหม่ โครงการน้ำดื่ม ONESIAM ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของสยามพิวรรธน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030 และเดินหน้าสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050” นราทิพย์กล่าวในท้ายที่สุด

You Might Also Like