ALTERNATIVE

“สถาบันการเงิน” ควรดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม

18 ธันวาคม 2563…รัฐบาลสหราชอาณาจักรและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU)จะสร้างความร่วมมือด้านบริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และ “การเติบโตสีเขียว” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

รัฐบาลสหราชอาณาจักรและธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมมือกันภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยกระดับมาตรฐานการบัญชี เสริมสร้างความโปร่งใสและการกำกับดูแลกิจการ สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech) เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงิน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทย ส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน และสนับสนุนระบบการเงินให้มีศักยภาพในการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป

ความร่วมมือนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ ASEAN Economic Reform และ ASEAN Low Carbon Energy Programmes ภายใต้กองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวโน้มการเงินใหม่ ๆ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าและบริการทางการเงิน โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาภาคการเงินเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างทั่วถึง ที่คำนึงถึงผลกระทบของนโยบายที่จะมีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ คำนึงถึงกลุ่มคนในทุกภาคส่วนของสังคม

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวโดยสรุปว่า หน่วยงานกำกับภาคการเงินควรให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมนวัตกรรม เนื่องจากเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทคช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง สะดวก และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินได้ดีขึ้น

“ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจรวมถึงคุณภาพของสินเชื่อ ดังนั้น สถาบันการเงินควรดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่สนับสนุนนวัตกรรมทางการเงิน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินนำแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรและการดำเนินธุรกิจ”

ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่าบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง

“ในขณะที่เราพยายามรับมือและฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 บริการทางการเงินต่าง ๆ สามารถช่วยกระตุ้น และสร้างงาน สนับสนุนภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้สังคมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยอาศัยการปรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสนใจกับฟินเทค ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินชีวิตของหลายคนในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายเงินจากภาครัฐให้ประชาชน ไปจนถึงการสั่งซื้อของออนไลน์ การร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกระชับความร่วมมือผ่านกองทุนพรอสเพอริตี้ดังกล่าว

โครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programme

โครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programme ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากงบประมาณความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศ (Overseas Development Assistance) ภายในกองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนประเทศในอาเซียนให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่น ๆ ตามมา

โครงการ ASEAN Economics Reform Programme

โครงการ ASEAN Economics Reform Programme ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากงบประมาณความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศ (Overseas Development Assistance) ภายในกองทุนพรอสเพอริตี้ (Prosperity Fund) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึงในประเทศสมาชิกอาเซียน โครงการนี้มุ่งเน้น 1) เสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิรูปกฎหมาย และการปรับปรุงนโยบายการแข่งขัน 2) พัฒนาความโปร่งใส และ 3) เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคการเงินผ่านการพัฒนาตลาดการเงิน ขีดความสามารถด้านฟินเทค และมาตรฐานบัญชี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2565

 

You Might Also Like