ALTERNATIVE

เปิดจุดเช็กอินใหม่ปราจีนบุรี TCP Legacy Museum

13 พฤษภาคม 2567…ปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เปิด TCP Legacy Museum เส้นทางความภาคภูมิใจของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ ตำนานเครื่องดื่มให้พลังงานระดับโลก และเส้นทางแห่งความภาคภูมิใจ พร้อมเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ ณ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า TCP Legacy Museum เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปิดให้บริการ และกลับมาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการอีกครั้งในโอกาสครบรอบปีที่ 68 ปี

“เราตั้งใจให้ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ หวังใจว่าจะมีโอกาสต้อนรับนักเรียน นักศึกษา ก่อนนี้นี้เราเปิดให้บริการมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2562 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจึงมีโอกาสในการปิดปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการนำสื่อการเรียนรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้สร้างความตื่นเต้น ปรับคอนเทนต์ให้มีความสมบูรณ์ เติมรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เข้าไปเพื่อให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วม มีความทันสมัยและมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น การเปิด TCP Legacy Museum สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว เราสามารถเปิดให้คณะบุคคล ภาคการศึกษา บุคคลทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ได้ รวมถึงมีการเตรียมสถานที่ไว้รองรับ Business Partner ของเราในอนาคต”

สราวุฒิ อธิบายเพิ่มเติมว่าที่เลือกปราจีนบุรีเนื่องจากมีโรงงานอยู่ที่นี่ อีกทั้งยังมีการลงทุนทั้งเรื่องของ Infrastructure และลงทุนด้านโรงงาน แม้กระทั่งเรื่องของ Smart Factory ก็เริ่มดำเนินการที่นี่เป็นแห่งแรก

“เราทำงานกับชุมชนมาตลอดที่นี่จึงเปรียบเสมือนบ้านที่ 2 ของเรา ที่ตรงนี้ยังมีความผูกพันกับคุณเฉลียว อยู่วิทยา ซึ่งเป็นคุณพ่อ ตอนเราทำอนุสรณ์สถานคุณเราก็มาสร้างตรงนี้ เมื่อเราตั้งใจทำมิวเซียมเราจึงมองถึงการมาลงทุนที่นี่เช่นกัน”

TCP Legacy Museum โฉมใหม่ มีการจัดแสดงแบบอินเทอร์แอ็กทิฟ ประกอบด้วย 7 โซน

1. The Legacy: พาผู้ชมย้อนกลับไปปี 2499 นำภาพแห่งความทรงจำที่ใครหลายคนคุ้นเคยกลับมาให้สัมผัสอีกครั้ง เริ่มต้นจากคุณเฉลียว อยู่วิทยา ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนขายยาและจำหน่ายยาภายใต้ชื่อ “ทีซี-มัยซิน” บุกเบิกและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของเครื่องดื่มให้พลังงานสัญชาติไทยให้ดังไกลระดับโลกกับแบรนด์ “กระทิงแดง (เรดบูล)” นำมาสู่การขยายธุรกิจภายใต้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” ในปัจจุบัน

2. House of Great Brands: พบกับผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่หลากหลายของกลุ่มธุรกิจ TCP ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของผู้บริโภครุ่นใหม่ เพลิดเพลินไปกับเทคนิค Augmented Reality (AR) ให้ผู้เยี่ยมชมถ่ายรูปหรืออัดคลิปวิดีโอเล่นกับผลิตภัณฑ์จากหลากหลายประเทศ
3. The Original: พาไปสำรวจดินแดนก่อเกิดพลังของเครื่องดื่มกระทิงแดง (เรดบูล) เรียนรู้เรื่องราวที่สะท้อนเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานในแต่ละขวด ผ่านเทคนิคอินเทอร์แอ็กทิฟ เต็มอิ่มทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพื่อเปิดมุมมองใหม่ต่อความเชื่อที่ว่า การดื่มเครื่องดื่มให้พลังงานส่งผลต่อสุขภาพ ผ่านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องดื่ม
ให้พลังงาน

4. Factory in Focus: เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเครื่องดื่มและระบบตรวจสอบคุณภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากล และทันสมัย
5. TCP Sustainability: ร่วมเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นผ่าน “กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP” ที่มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการจัดการน้ำยั่งยืน

 


6. World Record: ตื่นตาตื่นใจกับรถฟอร์มูล่าวัน ภาพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของทีมรถแข่ง เรดบูล ฟอร์มูล่าวัน 
ขับโชว์บนถนนราชดำเนิน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2553
7. Legacy Shop: ช็อปปิ้งสินค้าที่ระลึกแบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) และแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP

TCP Legacy Museum ตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานของบริษัท ที. ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ต.บางแตน 
อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (กดแผนที่เพื่อศึกษาเส้นทาง) เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่ 10:00 – 14:00 น. ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ผู้สนใจสามารถสำรองวันที่เข้าชมล่วงหน้าได้ที่ https://tcp.com/about/tcp-legacy-museum/ รายละเอียดติดต่อ โทร. 037-239239 กด 0

“TCP Legacy Museum พิพิธภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่รวมประวัติศาสตร์และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มให้พลังงาน การสร้างแบรนด์กระทิงแดงและเรดบูล อันมีเอกลักษณ์โดดเด่นครองใจคนทั่วโลก การพัฒนาสินค้าให้เปี่ยมคุณภาพตามมาตรฐานสากลสู่ความเป็น House of Great Brands และการวางรากฐานองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ให้กำเนิดแบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) และก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ TCP อีกทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า TCP Legacy Museum จะสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดแก่นักเรียนนักศึกษา นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไป และเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดปราจีนบุรีมากขึ้น”

สำหรับส่วนของความยั่งยืน สราวุฒิ กล่าวเสริมว่า ทุกปีจะมีโปรเจกต์ต่างๆและมีความคืบหน้าในด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำ แพคเกจจิ้ง กระบวนการผลิต

“เรามีเป้าหมายอยู่แล้วเราก็ดำเนินการตามโรดแมพของเรา สำหรับเป้าหมายปีนี้เรื่อง Circular Economy เราน่าจะเสร็จตามเป้าหมาย คือ ภายในปีนี้เราต้องทำให้แพคเกจจิ้งทุกตัวของเรา รวมถึงฉลากสามารถรีไซเคิลได้ 100% ซึ่งเราทำได้ทุกตัวแล้ว เหลือแค่ส่วนของบรรจุภัณฑ์ซันสแน็คไม่มากนัก”

เรื่องของการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) ยังอยู่ในช่วงของการทดลองทำ ซึ่งสราวุฒิ มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เป็นอุปสรรค คือ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ขยะหาได้ยากขึ้น เนื่องจากคนเริ่มเห็นค่าของขยะ รู้ว่าเก็บไปขายได้ราคา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง Capability ของโรงงานรีไซเคิลในเมืองไทยที่ยังน้อย บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลมีแล้ว แต่โรงงานรีไซเคิลไม่เพียงพอ เรื่อง EPR จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อแต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน

ด้านทรัพยากรน้ำ กลุ่มธุรกิจ TCP มีการส่งเสริมการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยมุ่งจัดการน้ำภายในกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าการใช้น้ำในกระบวนการผลิต หรือ ภายในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยสามารถคืนน้ำกลับคืนสู่สังคมมากกว่าที่ใช้แล้ว กำลังเดินหน้าสู่การทำในโรงงานอื่นๆที่อยู่ต่างประเทศ

เรื่องที่ท้าทายที่สุดคือการไปสู่เป้าหมายของการเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ซึ่ง สราวุฒิ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP จะสามารถลดคาร์บอนได้ในทุกปี แต่ต่อปีก็ต้องพยายามทำให้เห็นว่าตัวเลขลดลงได้มากกว่าเดิมอีกได้อย่างไร

“อย่างเรื่องของโซล่าร์เซลล์ส่วนที่ติดได้เราติดไปหมดแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายคือเรื่องของการใช้รถขนส่งที่เป็น EV ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทที่ทำก็ยังอยู่ในช่วงของการทดลอง เพราะยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า EV เป็นโซลูชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาจริงหรือไม่ ต้องมีการพูดคุยกันว่าควรจะหาวิธีการอย่างไรให้ยั่งยืนจริงๆ”

สำหรับโรงงานปัจุบันโรงงานของกลุ่มธุรกิจ TCP ในประเทศไทย มีจำนวน 8 โรง ในจังหวัดปราจีนบุรี มีกำลังการผลิต 100% อยู่ที่ 1,720 ล้านลิตร ต่อปี แต่ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเพียง 60% หรือประมาณ 1,550 ล้านลิตร โดยมี Smart Manufacturing จำนวน 1 โรงงาน ซึ่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต ลดแรงงาน ลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยภายในปีนี้จะมีการเพิ่ม Smart Manufacturing อีกในอนาคต

 

You Might Also Like