ALTERNATIVE

ดีลอยท์ เผยประเทศไทย ทำ 5 ประเด็นด้านความยั่งยืนได้ดี

2 ตุลาคม 2565….รายงานฉบับใหม่ นำเสนอความมุ่งมั่นด้านการจัดการด้านความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเด็น พลังงาน สภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ+ขยะ และความเท่าเทียมทางเพศ

กษิติ เกตุสุริยงค์ Sustainability & Climate Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวถึงโมเดล Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของรัฐบาลประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เริ่มเห็นการริเริ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนวาระ BCG ไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่จำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้นและระบบนิเวศที่เข้มแข็งขึ้นสำหรับการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการตามแนวทางการลดคาร์บอนเป็นไปตามเป้าหมาย

“เพื่อให้สอดคล้องกับโมเดล BCG และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล สำรวจทางเลือกการประเมินค่าเศษอาหารให้มีมูลค่าสูงขึ้น และขยายเครือข่ายน้ำเสียผ่านโครงการสาธารณูปโภคและขีดความสามารถทางเทคนิคของอาคาร ดังนั้นจึงมีโอกาสอีกมากมายที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย”

รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Deloitte Center for the Edge และสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) มุ่งให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงลึกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนห้าด้านสำคัญ ที่คัดเลือกโดยสมาชิกสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ได้แก่ พลังงานและสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ ของเสียและความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลแบบครบวงจรสำหรับบริษัทต่างชาติและนักลงทุนในการระบุประเด็นด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบมากที่สุด

รายละเอียดคลิกที่ภาพ

รายงานดังกล่าวแสดงภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดจาก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ความคืบหน้าในการจัดการความยั่งยืนในปัจจุบันของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการวิเคราะห์ในรายงานตามระเบียบวิธีวิจัย มีการให้คะแนนตามผลงานของแต่ละประเทศ เป็นไปตามดัชนีที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป้าหมายและพันธสัญญาของประเทศต่างๆ จะถูกนำมาประเมินกับเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการจัดการความยั่งยืนของประเทศต่างๆ

การดำเนินการตามเป้าหมายเหล่านี้ให้ประสบผลสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการดำเนินการ 5 ประการที่ระบุไว้ในรายงาน ดังต่อไปนี้

-มีกลไกการติดตามและบังคับใช้หรือไม่
-ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเปราะบาง (ผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย ผู้มีรายได้น้อย) หรือไม่
-การพัฒนาเป็นการวางแผนโดยยึดหลักฐานเป็นหลักหรือไม่
-มีการลงทุนหรือจัดสรรงบประมาณตามเป้าหมายหรือไม่
-มีความพยายามสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่

ในด้านพลังงานและสภาพอากาศ ภูมิภาคนี้ดำเนินการได้ดีเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับประชากร 660 ล้านคน โดยประเทศต่างๆ ได้ 4 หรือ 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน อย่างไรก็ตาม การรักษาสิ่งนี้ไว้ในขณะที่ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษข้างหน้า และในขณะเดียวกันก็ดำเนินการตามเป้าหมายการลดคาร์บอนอีกด้วย ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ

การจัดการทรัพยากรน้ำและของเสียยังคงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับบางประเทศ อย่างไรก็ตาม เศษอาหารเป็นปัญหาใหม่ซึ่งรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเพิ่งจะเริ่มสามารถจัดการได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้น

ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีความคืบหน้าอย่างมากในการยุติการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการกระทำที่เป็นอันตรายทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการในด้านการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันและการส่งเสริมด้านการศึกษา สุขภาพ และเศรษฐกิจมากขึ้น แม้ว่าบทบาทในการเป็นตัวแทนทางการเมืองจะยังมีความคืบหน้าในระดับต่ำ

 

You Might Also Like