TALK

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย “กรุงศรี เป็นธนาคารแรกที่มีสายงาน ESG ต้องบริหารความเสี่ยง & มี Commitment”

23 กรกฎาคม 2562…ธปท.,ตลท.,ก.ล.ต. ยังไม่มีข้อบังคับ เรื่อง ESG สำหรับภาคธุรกิจในกำกับ มีแค่ “สนับสนุน” ให้มี แต่กรุงศรีรุกก่อน เพราะคือ Requirement ของการเงินการลงทุนทั่วโลก ซึ่งคนในองค์กรทุกระดับต้องเข้าใจ ต้องลงมือทำ รวมถึง(ว่าที่) คนแบงก์รุ่นใหม่

ก่อนจะนำเสนอข้อมูลเรื่อง ESG (Environmental,Social,Governance) กับบอร์ดธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในห้องประชุมบอร์ด

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) แลกเปลี่ยนข้อมูล ESG ระดับโลกถึงความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ

ข้อมูลนี้มีมาระยะหนึ่งแล้ว และเชื่อว่าคนทำงานภาคธุรกิจส่วนใหญ่ และที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน ตลาดทุน ย่อมต้องรู้ว่า มีบทความเผยแพร่งานวิจัยเรื่อง ESG โดยบริษัทที่มี Commitment เรื่อง ESG จะทำให้ราคาหุ้นดีกว่าบริษัทที่ไม่ลงมือทำเรื่อง ESG และขณะนี้มีบริษัทหลายๆ ประเทศมาประเมินให้คะแนนบริษัทมี ESG ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เหมือน S&P, Trist Rating ประเมิน เช่น บริษัทนี้มี E มี S มี G เท่าไหร่ เพราะนักลงทุนสนใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ล่าสุด Moody’s ซื้อ Vigeo Eiris บริษัทเรตติ้ง ESG ฝรั่งเศส

“Direction เรื่องนี้ไปแน่นอน โดยเฉพาะในยุโรปแล้วอเมริกาคงตามกับประเทศอื่นๆ อีกอย่างยุโรปเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ อย่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน เงินเขาเยอะมาก และจะลงทุนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งคือธุรกิจ และต้องลงมือทำจริง มิฉะนั้นธนาคารมีความเสี่ยง ยิ่งประกาศตัวว่าเป็น ESG ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะสอดส่องอย่างเข้มแข็ง เมื่อมี Commitment แล้ว ต้องทำจริง”

ยุคกรุงศรี ESG

เมื่อเอ่ยถึง 3 คำนี้สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล คิดว่าคำไหนมีผลเกี่ยวเนื่องต่อความเสี่ยงของธนาคารมากที่สุด ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็มีจะผู้บริหารธนาคารเองที่บอกว่า ธนาคารเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะไม่ใช่อุตสาหกรรม ที่จะสร้างผลกระทบได้ ทว่าหากฟังผู้บริหารธนาคารยุคนี้ที่เข้าใจ และเชื่อเรื่อง ESG อย่างพูนสิทธิ์ จะพบว่า ทั้ง 3 คำข้างต้นมีผลเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงของธนาคารเท่าๆ กัน

พูนสิทธิ์ อธิบายต่อเนื่องว่า กรุงศรี ESG จะถูกแบ่งออกเป็น 2 มิติคือ ทางตรงและทางอ้อม ดังเช่นบางตัวอย่าง

 

“อดีต จะสร้างถนน ธนาคารคิดแค่ต้นทุนในการสร้างถนน ไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับเวลาที่ดูแลลูกค้าอดีตเมื่อให้สินเชื่อไปแล้ว ลูกค้าส่งเงินภายในกำหนด ก็ถือว่าเรียบร้อยแล้ว แต่นับจากนี้ไปธนาคารจะทำแบบในอดีตเช่นนั้นไม่ได้ เราต้องคำนวนความเสี่ยงเหล่านี้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มจะสร้างถนน หรือลูกค้าที่ส่งเงินคืนตรงเวลา RM ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเยี่ยมลูกค้า ดูว่ามีผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งเป็นการทำ Enhanced Due Diligence มากกว่า Due Diligence”

พูนสิทธิ์ ยกตัวอย่างต่อเนื่อง Enhanced Due Diligence บางธุรกิจจะทำแบบระมัดระวังอย่างยิ่ง เช่นเหมืองแร่ โดยรวมอาจจะไม่ดีทั้งหมด แต่หากมีกระบวนการระมัดระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งที่ธนาคารพิจารณา

หรือธุรกิจประมง ธนาคารปล่อยสินเชื่อ แต่ต้องมี Tracking รวมถึงต้องดูอวนจับปลาด้วยว่า ต้องมีความกว้างขนาดไหน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยถ้ามาตรฐานดีเยี่ยม จะต้องให้ลูกค้าเซ็นชื่อรับรองเลยว่า จะต้องไม่ใช้อวนที่มีความกว้างเกินมาตรฐานสากล และต่อไปเป็นหน้าที่ธนาคารที่จะ Proof ว่า ลูกค้าทำประมงตามาตรฐาน ไม่ทำสิ่งที่พึงกระทำนอกเหนือจากมาตรฐานสากล

“คนธนาคารก็ต้องเปลี่ยน เข้าไปหาลูกค้าด้วยการทำงานแบบเดิมไม่ได้ ต้องมี ESG Mindset ตรงนี้ธนาคารเองก็ต้องเรียนรู้พร้อมกัน เพราะเป็นเรื่องใหม่”

สวีเดน โมเดล

พูนสิทธ์ แลกเปลี่ยนมุมมองจากการร่วมประชุมกับธนาคารสวีเดนที่มี Commitment เรื่อง ESG จะมีการจัดพอร์ตโฟลิโอ ธนาคารต้องมีความพร้อมในการบริหารความเสี่ยง  ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยกตัวอย่าง เมื่ออุณหูมิเปลี่ยงแปลงเพิ่มขึ้น 1 องศา พอร์ตสินเชื่อธนาคารจะเป็นอย่างไร

“เรื่องนี้เป็นเรื่องเป็นไปได้ เช่นประเทศไทยเมื่ออุณหูมิขึ้น 1 องศา อาจจะเกิดภัยแล้งขึ้นสมมุติ 10% ของพื้นที่ จะไปเกี่ยวพันเรื่องอาชีพต่างๆของเกษตรกร พ่อค้า และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ตอนปี 2554 น้ำท่วม ก็เป็นเรื่องหนึ่งในการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร เรื่องเหล่านี้กลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว”

ความเสี่ยงของโซเชียล ถูกพูดถึงในวงประชุมเดียวกัน หลังธนาคารปล่อยกู้ไปแล้ว ลูกค้าธนาคารอาจจะไปทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน หรือไปลงทุนในแบบที่คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ นี่คือความเสี่ยงของสังคม ในอนาคตธนาคารของสวีเดนนำสิ่งเหล่านี้มาคำนวนเป็นต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อ

ในตลาดทุนสวีเดนจะพบว่า 12 %พันธบัตรที่ออกในสวีเดน เป็นพันธบัตร Green Bond หรือ ESG Bond จะระดมทุนเพื่อไปปล่อยกู้ในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือปล่อยกู้ให้ลูกค้าสร้างศูนย์การค้าที่เป็น Green Building หรือ Green Comercial Area

ปัจจุบันกองทุนใหญ่ๆ จะกำหนดว่า จะต้องลงทุนกี่เปอร์เซนต์ในหุ้นหรือพันธบัตรที่เรียกว่า ESG Stock หรือ ESG Bond

ส่วนประเทศไทยมีพันธบัตรสีเขียว 2-3 ตัว ก.ล.ต.สนับสนุนเต็มที่ และใครออก Green Bond จะไม่เสียค่า Listing Fee ถูกเวปให้ 1 ปี

พูนสิทธิ์ กล่าวต่อเนื่อง การออกสินค้าแบบนี้ก็ต้องมี Requirement จะต้องเลือก Asset ที่จะไปลงทุน จะต้องมี Green Bond Principle เช่น

1.ต้องไปลงทุนกับสินทรัพย์ประเภทใดได้บ้าง
2.ต้องรายงาน หลังจากไประดมทุนมาแล้ว จะต้องติดตามและประเมินว่าไปลงทุนตัวนั้นจริงๆ
3.ต้องได้รับการรับรอง จากหน่วยงานภายนอกเป็น 3rd Party ให้นักลงทุนมั่นใจ

ความท้าทายกรุงศรี ยุคESG

ดังได้กล่าวตั้งแต่ต้น ปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบบังคับว่า ภาคธุรกิจต้องทำ ESG แต่ภาคสังคม ภาครัฐ รวมถึงสื่อมวลชน ได้เดินหน้าเรื่องนี้ไปแล้ว เช่นเดียวกับกรุงศรี ธนาคารแรกในประเทศไทยเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

“สำหรับกรุงศรี เราต้องออกนโยบาย บริหารจัดการความเสี่ยง ESG ในอนาคต ธนาคารต้องมีเป้าหมาย เช่น สินเชื่อพลังงานหมุนเวียนเป็น 10%ของพอร์ต หรือสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สัก 10%ของพอร์ต ส่วนอุตสาหกรรมที่เราลิสต์มาแล้วว่า ไม่ควรปล่อยสินเชื่อ เราก็อาจจะค่อยๆ ลด Exposure ของธนาคารออกไป แล้วปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ามาทำอย่างอื่นมากขึ้น ในสิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบงก์ทำได้มีศักยภาพ และเมื่อทำแล้วธนาคารสามารถสร้างอิมแพคในระบบเศรษฐกิจไทย”

ยกตัวอย่างในเรื่องนี้  ที่มีกฎหมายเลิกใช้โฟมและถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยในปี 2565 จะต้องไม่มีบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ในประเทศไทย

-คำถามคือ แล้วลูกค้าธนาคารที่ทำธุรกิจเหล่านี้จะทำอย่างไร ?
-คำตอบคือ กรุงศรีต้องช่วยลูกค้า เปลี่ยนสู่ Low Carbon Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว หรือธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นหน้าที่ของธนาคารช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งเมื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจได้ ธนาคารก็สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า 3-5 ปี

พูนสิทธิ์ กล่าวในท้ายที่สุด เมื่อธนาคารมีระบบ มีเป้าหมายเรื่อง ESG ต้องประกาศสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ว่า กรุงศรีมีความตั้งใจในการดำเนินการ และให้สาธารณชนมอนิเตอร์ธนาคารได้ด้วย

นับเป็นความท้าทายของผู้นำ ธนาคารกรุงศรี ที่มีหน่วยงาน ESG เป็นแบรนด์แรกของประเทศไทย

 

 

You Might Also Like