BIODIVERSITY & REGENERATIVE

มาแล้ว CSR ปี 62 Value x Impact พลังแห่งความยั่งยืน

27 กุมภาพันธ์ 2562… องค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการทํา CSR จะต้องยกระดับ จากกิจกรรม (Event) มาเป็นกระบวนการ (Process) คือจําต้องปรับเป้าหมายทํา CSR ให้มุ่งไปที่การได้มาซึ่งคุณค่าและผลกระทบ มากขึ้นจากเดิม

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศแนวโน้ม CSR ปี 62 ชูประเด็น “คุณค่า” และ “ผลกระทบ” เป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างพลังแห่งความยั่งยืน

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ แสดงมุมมองต่อทิศทาง CSR ปี 2562ว่า

“เรื่อง Value x Impact ถือเป็นแนวทางหลักของการทำ CSR สำหรับองค์กรที่ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าทั้งต่อสังคมและต่อกิจการ สามารถดำรงสถานะการเติบโตกิจการ และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของกิจการ ในการสร้างผลกระทบเชิงบวก และบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว”

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้ธีม Value x Impact ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและความคาดหวังของสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ Value x Impact : The Power of Sustainability ว่าไปแล้ว เสมือนการอัปเดต 2 เครื่องมือ และวิธีการสำคัญ ในการเพิ่มคุณค่าและผลกระทบจากการทำ CSR ในบริบทที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ได้แก่ Value Driver Model (VDM) และ Impact Management (IM)

วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มีมุมมองว่า องค์กรธุรกิจ สามารถหยิบเครื่องมือ Value Driver Model มาใช้โดยเริ่มจากการสำรวจสิ่งที่องค์กรดำเนินการซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน นำมาจัดหมวดหมู่ตามที่เครื่องมือ VDM แนะนำ ได้แก่

-การเติบโตของรายได้จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา (Sustainability-Growth หรือ S/G)
-การประหยัดต้นทุนจากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพ ที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน (Sustainability-Productivity หรือ S/P)
-การลดความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ (Sustainability-Risk Management หรือ S/R) เพื่อระบุถึงช่องว่าง (Gap) ที่องค์กรยังมิได้ดำเนินการ หรือที่สามารถดำเนินการได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้แก่กิจการในระยะยาว

ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ วิทยากรสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมถึงการใช้เครื่องมือ Impact Management ว่า กิจการสามารถใช้เครื่องมือ IM ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของหลายฝ่ายภายใต้กลุ่ม Impact Management Project ในการระบุว่าผลที่สร้างขึ้นอันไหนที่มีความสำคัญ และข้อมูลอะไรที่กิจการสามารถรวบรวมสำหรับประเมินสมรรถนะของผลที่มีความสำคัญเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการผลนั้นๆ ด้วยการประเมินผลกระทบใน 5 มิติ ประกอบด้วย

1.มิติ What มีผลลัพธ์อะไรที่สัมพันธ์กับผลที่สร้างขึ้นจากกิจการ และมีความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและโลก
2.มิติ Who ใครบ้างที่เป็นผู้ได้รับผล และเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการผลลัพธ์นี้มากน้อยเพียงใด
3.มิติ How Much ผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด
4.มิติ Contribution กิจการมีส่วนในผลที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
5.มิติ Risk มีความเสี่ยงอะไรและอย่างไร (ต่อผู้คนและโลก) หากผลไม่เป็นไปดังหวัง

เรื่อง Value x Impact ถือเป็นแนวทางหลักของการทํา CSR สําหรับองค์กรที่ ต้องการได้ประโยชน์เต็มจากการทาํา CSR ทั้งในบริบทที่ช่วยตอบโจทย์ความยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างผลประกอบการในระยะยาวให้แก่กิจการ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

You Might Also Like