NEXT GEN

SET ส่งหลักสูตรรับมือเกษียณ “Happy Money, Happy Young Old” ให้คนไทยมีเงินใช้ยามเกษียณแบบยั่งยืน

2 พฤษภาคม 2566…ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์หรือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดซึ่งข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ประชากรไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 19.2 ประกอบกับผลสำรวจชี้ว่าคนไทยวัยเกษียณจะมีปัญหาทางการเงิน โดยพบว่าแม้จะมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ54 ที่มีเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ แต่มูลค่าการออมส่วนใหญ่ต่ำกว่า 50,000 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ นอกจากนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังพึ่งพารายได้หลักจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน หรือเบี้ยยังชีพ รวมถึงยังมีบางส่วนที่ยังทำงานอยู่ กลุ่มผู้สูงอายุร้อยละ 55 จึงยังอ่อนด้านความรู้ทางการเงิน

คลิกภาพขยาย

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียรรองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แผนกลยุทธ์หนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ความรู้ทักษะทางการเงินหรือที่เรียกว่า Financial Literacy โดยปีนี้จะเน้นในกลุ่มใกล้เกษียณ หรือ Young Old เพื่อให้คนในกลุ่มนี้ทราบถึงวิธีการบริหารจัดการเรื่องของการเงินในช่วงหลังเกษียณ เพื่อลดปัญหาอายุมากแล้วแต่ไม่มีเงินพอใช้สำหรับดูแลตัวเองยามบั้นปลายของชีวิต

คลิกภาพขยาย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเปิดตัวแคมเปญบริหารเงินรับมือเกษียณ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” เตรียมคนไทยให้พร้อมสำหรับการบริหารเงินรับมือเกษียณ ก่อนประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ด้วยการเดินหน้าพัฒนาเนื้อหาและเผยแพร่ความรู้ด้านการวางแผนการเงินตอบโจทย์การบริหารเงินสำหรับกลุ่มวัยใกล้เกษียณ

คลิกภาพขยาย

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโครงสร้างประชากรไทย และช่องว่างด้านทักษะและความรู้ทางการเงินที่ต้องส่งเสริมและปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างเร่งด่วน ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดตัวแคมเปญ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยโดยเฉพาะวัยแรงงานที่ใกล้เกษียณ อายุ 45-65 ปี มีความรู้พื้นฐานด้านการบริหารเงินสำหรับเกษียณซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการพัฒนาเนื้อหาและเครื่องมือที่เน้นการจัดสรรเงินออมก้อนสุดท้ายให้เหมาะสมและเพียงพอใช้สำหรับเลี้ยงดูตนเองไปตลอดชีวิต นำไปสู่การมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข โดยมุ่งหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความมั่นคงทางการเงินและพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์”

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร และพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงาน พัฒนาความรู้ตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสริมว่า คนส่วนใหญ่เมื่อเกษียณไปแล้วไม่ทราบว่า ความรู้ทางด้านบริหารการเงินอะไรที่ตัวเองยังไม่มี เพราะก่อนเกษียณเราได้แต่เก็บสะสมไว้ แต่ไม่รู้ว่าหลังเกษียณไปแล้วจะทำอย่างไรให้สามารถประคับประคองเงินที่เก็บสะสมไว้ให้พอสำหรับชีวิตหลังจากนี้ เนื่องจากรายได้ที่เคยมีไม่ได้มีเหมือนเดิมแล้ว

แคมเปญ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” จะเป็นโครงการที่เผยแพร่ความรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเกษียณประกอบด้วย SET e-Learning ใหม่ล่าสุด 2 หลักสูตร รวม 2 ชั่วโมง ได้แก่ หลักสูตร “วัย 50+: เตรียมชีวิตมั่งคั่ง รับวันเกษียณ” และหลักสูตร “วัย 60+: บริหารเงินหลังเกษียณสไตล์วัยเก๋า” พร้อมต่อยอดการเรียนรู้ด้วยการฝึกวางแผนการเงินจริงผ่านการ Workshop หลักสูตรบริหารเงินหลังเกษียณ 6 ชั่วโมง และ Group Mentor แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน

คลิกภาพขยาย

“ตัวอย่างเนื้อหาที่สำคัญ เรื่องหนึ่งของหลักสูตร เช่น กลยุทธ์ The 3 Buckets Strategy กลยุทธ์บริหารเงินสำหรับวัยเกษียณที่เข้าใจง่าย ซึ่งปกติคนเก็บเงินจะเก็บเงินไว้ในถังเดียวคือเงินเก็บ แต่ต่อไปจะต้องมีการกระจายเงินเก็บให้ดี โดยที่มองตัวเงินของเราเป็น ถังที่ 1 เงินสำรอง หรือ Cash Buckets ที่จะมีการหยิบมาใช้หลังเกษียณ ถังที่ 2 จะเป็นถังเติมเงิน หรือ Conservative Buckets ถังที่ต้องเติมเงินให้เพิ่มพูนเพื่อนำไปใส่ในถัง Cash Buckets ถังที่ 3 คือถังที่ใช้รักษาคุณภาพชีวิต หรือ Aggressive Buckets คือเงินที่จะต้องนำไปลงทุนในระยะยาว มีทั้งโอกาสในการได้ผลตอบแทนสูงแต่ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่มากขึ้นตามมา ซึ่งเงินส่วนนี้ก็จะเข้ามาเติมในส่วนถังที่ 2 สุดท้ายก็จะนำกลับมาเติมในถังที่ 1 ซึ่งเป็นถังที่เราจะต้องวนนำมาใช้ในช่วงเกษียณ” พรรณวดีอธิบาย

คลิกภาพขยาย

สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่า เรื่องการบริหารจัดการการเงินควรเริ่มที่อายุเท่าไร ดร.ศรพล ให้ทรรศนะว่า “เรื่องของการออมเพื่อวัยเกษียณ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตั้งเป้าหมายก่อนว่าเกษียณแล้วต้องการมีเงินสำหรับเลี้ยงชีพเท่าไหร่ ที่มีอยู่นั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ ซึ่งความรู้ตรงนี้สามารถมาเรียนรู้ได้ในหลักสูตรของเรา เพราะการจะไปถึงเป้าที่ตั้งไว้ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีการออมและมีเงื่อนเวลาที่จะทำให้สิ่งที่ออมงอกเงยไปได้ถึงเป้าหรือไม่ เพราะฉะนั้นเรื่องของเวลาสำคัญที่สุด เพราะการมีผลตอบแทนที่ทบต้นสำคัญมาก เมื่อเราเข้าใจในประเด็นนี้ ก็ทำให้เห็นว่าถ้าเรายิ่งเรียนรู้เร็วเท่าไร ก็จะทำให้เราไม่ต้องไปวิ่งสร้างเงินออมในช่วงท้าย ดังนั้นการออมเพื่อวัยเกษียณอยากให้เริ่มคิดเร็วที่สุด พร้อมเมื่อไหร่ก็ทำเมื่อนั้น”

ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เทรนด์หนึ่งที่พบคือการที่คนหันมาทำอาชีพแบบอิสระมากขึ้น ซึ่งพรรณวดี มองว่าคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตกึ่งเกษียณทั้งที่ยังไม่เกษียณ การบริหารจัดการเงินจึงสำคัญ ต้องบริหารจัดการเงินของตัวเองให้ดี ซึ่งหากได้เรียนรู้เรื่องกลยุทธ์ The 3 Buckets Strategy ก็จะเป็นเหมือนการสร้างภูมิคุ้มกัน และเตรียมความพร้อมเพื่อวัยเกษียณ

คลิกภาพขยาย

แคมเปญ “Happy Money, Happy Young Old ปูนนี้ (ก็) มีใช้” ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนหยัดในการให้ความรู้ทางด้านการเงินกับประชาชน ปัจจุบันมีตัวหลักสูตรออกมาเรียบร้อยแล้ว การเพิ่มคอนเทนต์สำหรับกลุ่ม Young Old นับเป็นการเจาะกลุ่มใหม่ที่อาจจะยังไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งปัจุบันจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญมากเช่นกัน

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า SET e-Learning ใหม่ล่าสุด 2 หลักสูตร น่าจะมีคนเข้ามาเรียนในปีนี้อย่างน้อย 3,000 คน ตอนนี้มีมาเรียนแล้ว 400 คนแล้ว แม้ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งเราหวังว่า 3,000 คนนี้ จะมีความรู้และมีทัศนคติในการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับปีนี้ที่เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์”  พรรณวดีกล่าวในท้ายที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจวางแผนการเงินและผู้ใกล้เกษียณ สามารถเข้าเรียน SET e-Learning ฟรี โดยจบหลักสูตรจะมีวุฒิบัตรมอบให้ สมัครได้ที่ www.set.or.th/elearning และแอปพลิเคชัน “SET App”

ที่มา ภาพเปิดเรื่อง freepikคลิก

You Might Also Like